“เฟซบุ๊ก” ดึงเอสเอ็มอีโกดิจิทัล ย้ำไทยผู้นำโซเชียลคอมเมิร์ซโลก

REUTERS/Dado Ruvic

“เฟซบุ๊ก” (Facebook) ไม่ได้เป็นพื้นที่แบ่งปันเรื่องราวในหมู่เพื่อนฝูงพี่น้องเท่านั้น หากกลายเป็นช่องทางที่ผู้ประกอบการ “เอสเอ็มอี” เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้แบบครบวงจร ทั้งนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ รวมถึงปิดการขายได้เลย

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในไทยไม่ต่ำกว่า 3 ล้านราย แต่ขึ้นมาอยู่บน “เฟซบุ๊ก” เท่าไร ไม่ได้เปิดเผย แต่ “เฟซบุ๊ก” ให้ข้อมูลว่า 4 ใน 5 ของเอสเอ็มอีที่อยู่ในเฟซบุ๊ก เริ่มต้นธุรกิจจาก “เฟซบุ๊ก”

87% สร้างธุรกิจให้เติบโตได้ 73% ระบุว่า ธุรกิจแข็งแกร่งขึ้น 93% เห็นว่า แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กช่วยดึงดูดลูกค้าใหม่ 89% มองว่า ช่วยในการติดต่อกับลูกค้า ขณะที่ 83% เห็นว่า ช่วยสร้างโอกาสเชิงเศรษฐกิจที่สำคัญต่อชุมชนท้องถิ่นมีผู้ใช้ “เฟซบุ๊ก”กว่า 52 ล้านคนต่อเดือน กว่า 36 ล้านคนต่อวัน

ข้อมูลข้างต้นมาจาก Facebook IQ ศูนย์วิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในของเฟซบุ๊กเอง ที่ได้สำรวจผู้บริโภค 1,500 คน อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ระหว่างวันที่ 16 ต.ค.-31 ธ.ค. 2561 เกี่ยวกับพฤติกรรมการช็อปปิ้งช่วงเทศกาล รวมถึงทัศนคติต่อเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม ทั้งยังพบว่า 98% ของผู้ใช้เฟซบุ๊ก ใช้ผ่าน “มือถือ”

“ชวดี วงศ์พยัต” หัวหน้าฝ่ายธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เฟซบุ๊ก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เฟซบุ๊กต้องการเป็นแรงขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น และส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ในไทย ให้อยู่รอด และเติบโตได้ต่อเนื่องในยุคดิจิทัล

การสำรวจพบอีกว่า 97% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยใช้สมาร์ทโฟน 84% เห็นว่า มือถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมาก

ผู้บริโภคชาวไทยใช้มือถือเฉลี่ย 4.53 ชั่วโมงต่อวัน ใช้โซเชียลมีเดีย 3.06 ชั่วโมงต่อวัน

39% เป็น mobile first shopper หรือคนที่ช็อปปิ้งผ่านมือถือเป็นหลัก ขณะที่ 30% ยังคงซื้อของผ่านหน้าร้าน

“ปี 2018 ปรากฏการณ์ที่เห็นทั่วโลกคือ เป็นปีที่การช็อปปิ้งผ่านมือถือเติบโตมาก เฉลี่ยแล้วมากกว่า 20% ต่อปี”

การเติบโตมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 67% บอกว่า การซื้อของผ่านมือถือง่ายกว่าในอดีตมาก 55% ระบุว่า สะดวกกว่าไปซื้อที่ร้าน และมีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ที่หันมาซื้อผ่านมือถือมากขึ้น (44%)

นักช็อปชาวไทยในช่วงเทศกาลระบุว่า การค้นหาสินค้าเกิดขึ้นบนมือถือ เพราะรับข้อมูล และเลือกซื้อได้สะดวกสบาย

คนไทย 2 ใน 5 คน เป็นนักช็อปผ่านมือถือ 60% เป็นกลุ่มมิลเลนเนียล (อายุ 18-37 ปี) 42% มองว่า ถ้าไม่ใช้มือถือ คงไม่สามารถช็อปปิ้งตามที่ตั้งใจได้ ทั้ง 2 ใน 3 คนมองว่า การช็อปปิ้งช่วงเทศกาลทำได้ง่ายขึ้น55% เห็นว่า สะดวกกว่าไปซื้อหน้าร้าน โดยเฉพาะช่วงเทศกาล ทั้งระบุว่า “เฟซบุ๊ก” และ “อินสตาแกรม” มีผลต่อการช็อปปิ้ง 91% และ 70%

“มือถือ” ได้กลายเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญกับการใช้ชีวิตปัจจุบันมาก หลายคนมีมากกว่า 1 เครื่อง และอยู่ในทุกกระบวนการตัดสินใจซื้อสินค้า

ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยกำลังเติบโตอยู่บนเฟซบุ๊ก หลายธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และสร้างประโยชน์จากการใช้เครื่องมือที่เฟซบุ๊กมี ตั้งแต่การค้นหาสินค้า การสร้างการมีส่วนร่วมของลูกค้า ไปจนถึงการชำระเงิน

ผู้บริหาร “เฟซบุ๊ก” ย้ำว่า ไทยเป็นตลาดที่สำคัญมากจึงเพิ่มทีมงานเพื่อให้สามารถดูแลลูกค้าเอสเอ็มอีได้อย่างทั่วถึง นอกเหนือไปจากการมีระบบออนไลน์ต่าง ๆ ที่คอยให้การสนับสนุนการบริการลูกค้า

จุดเด่นของแพลตฟอร์มสำหรับลูกค้าธุรกิจอยู่ที่ใช้งานที่ง่าย กดไม่กี่คลิกก็ปิดการขายได้ ทั้งฟีเจอร์ต่าง ๆ

เช่น ไดนามิกแอด ที่สร้างโฆษณาอัตโนมัติไปถึงลูกค้า ตามความสนใจของแต่ละคน ทำให้ยอดขายเพิ่มได้ เช่น กรณีพุงกลม ร้านค้าออนไลน์ที่ขายผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยมสำหรับเด็ก ใช้วิธีเพิ่มยอดขายด้วยโฆษณาบนเมสเซนเจอร์พบว่า ผลตอบแทนเพิ่ม 4 เท่า ทั้งสอบถามข้อมูลสินค้าผ่านเมสเซนเจอร์เพิ่ม 50% เปลี่ยนสู่ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 10%

ไม่เฉพาะการโฆษณา ผู้บริหารเฟซบุ๊กแนะนำว่า ออร์แกนิกคอนเทนต์ก็มีความสำคัญมากทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเพจหรือไอจีนั้นไม่แห้งแล้ง มีตัวตนจริง การสร้างคอนเทนต์เพื่อสื่อสารกับลูกค้าสม่ำเสมอยังทำให้ร้านค้ามีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม “เฟซบุ๊ก” ได้เรียนรู้จากเอสเอ็มอีไทยหลายสิ่งทั้งสิ่งที่ออกมายังไม่ได้ใช้แค่ในไทย แต่นำไปใช้กับประเทศอื่นด้วย โดยไทยถือเป็นต้นแบบ “โซเชียลคอมเมิร์ซโลก”

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!