เปิดเคล็ดลับ “O&B” ขายออนไลน์อย่างไรให้ปัง ทะลุ 400 ล.

สัมภาษณ์

การเป็นเจ้าของธุรกิจ คือความใฝ่ฝันของหลายคน และหลายคนเริ่มต้นตามฝันด้วยการค้าขายออนไลน์ แต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่ง่าย โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่นที่คู่แข่งมหาศาล อีกทั้งมีสินค้าจากจีนบุกมาให้ผู้บริโภคชาวไทยเลือกซื้อได้ง่าย ๆ แค่คลิก !

“ประชาชาติธุรกิจ” พาพูดคุยถึงเคล็ดลับที่ใช้รับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงในโลกอีคอมเมิร์ซ กับ “รรินทร์ ทองมา” เจ้าของแบรนด์ O&B แบรนด์รองเท้าและกระเป๋าที่แม้แต่เซเลบริตี้ระดับโลก Lindsay Lohan-Nicky Hilton หรือ “อั้ม พัชราภา” “ชมพู่ อารยา” เลือกใช้ น่าสนใจกว่าคือ เมื่อย้อนไป 6 ปีก่อน “รรินทร์” เริ่มต้นธุรกิจด้วยเงินเพียง 90,000 บาท ทีมงานแค่ 2 คน ปัจจุบันมีทีมงานกว่า 50 คน มียอดขายปีที่แล้ว 200 ล้านบาท โดยรวมแล้วตั้งแต่ตั้งบริษัทมายอดขายทะลุ 400 ล้านบาทไปไกล สินค้ายอดฮิต คือ รองเท้าทรงบัลเลต์ 50 เฉดสี ซึ่งยอดขายมาจากออนไลน์ล้วน ๆ และเพิ่งเปิดหน้าร้านที่ซอยอารีย์ไม่นานมานี้ และเตรียมขยายไปที่เอ็มโพเรียม ก.พ. 2562

Q : รับมืออีคอมเมิร์ซยุคนี้อย่างไรดี

อีคอมเมิร์ซเปิดโอกาสให้ผู้ค้ารายเล็ก เริ่มทำธุรกิจได้ง่าย ๆ แต่อุปสรรคสำคัญที่มักเจอ คือ เมื่อต้องการขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น เพราะถ้าลูกค้าแค่ 10 คน การนั่งถ่ายรูปอัพขึ้นเฟซบุ๊ก รับออร์เดอร์ แพ็กของส่ง แค่นั้นทำง่าย ๆ แต่ถ้าขายดีขึ้น แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น อย่าง O&B มีลูกค้าแต่ละเดือนเป็นหมื่นราย

สิ่งที่ผู้ค้าออนไลน์ต้องคำนึงถึงคือต้องวางระบบบริหารจัดการร้านค้า บริหารสต๊อก โลจิสติกส์ และบริหารความพึงพอใจของลูกค้าให้ได้ ให้สินค้าถึงมือลูกค้าใน 1 วันได้พร้อม ๆ กับการจัดการอีกร้อยอีกพันออร์เดอร์ที่เข้ามาตลอด SMEs ไทยหลายคนยังไม่ได้มองถึงตรงนี้ ทั้งที่ระบบการจัดการสำคัญมาก

Q : โซเชียลหรือมาร์เก็ตเพลซดีกว่า

แล้วแต่สินค้าและการวางตำแหน่งแบรนด์อย่างการขายอาหารจะเลือกมีหน้าร้าน หรือเลือกไปฝากขายเพื่อไม่ต้องบริหารจัดการร้านเองก็ได้ หรือจะให้ลูกค้าโทร.สั่งดีลิเวอรี่ อยู่ที่ความสะดวก ความถนัดของเจ้าของธุรกิจ การมีหน้าร้านจะตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่ยังอยากจับต้อง อยากลองซึ่งมักเป็นรุ่นผู้ใหญ่ ถ้ากลุ่มนี้คือเป้าหมายก็ควรต้องมี

Q : การรับมือกับรีวิวด้านลบ

ต้องเข้าใจก่อนว่า ไม่มีแบรนด์ไหนในโลกไม่โดนด่า เหมือนกับคนที่ไม่สามารถทำให้ถูกใจคนทั้งโลกได้ ต่อให้ทำดีให้ตายแค่ไหน และเข้าใจด้วยว่าธรรมชาติของคนที่ซื้อของออนไลน์ ถ้าเขาชอบสินค้าจะไม่ค่อยเขียนรีวิวหรอก แต่ถ้าไม่พอใจจะระบายความรู้สึกทันที

สิ่งที่ต้องบริหารจัดการอันดับแรกในฐานะแบรนด์ต้องย้อนมาดูว่า สิ่งที่เราทำคือการดูแลลูกค้าได้ดีที่สุดแล้วหรือยัง เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องดูเป็นรายกรณีอย่าง O&B จะพยายามทำในสิ่งที่ลูกค้าต้องการให้ได้เสมอแต่ไม่ได้มีบรรทัดฐานว่าต้องแบบนั้นแบบนี้ เพราะมนุษย์มีความละเอียดอ่อน ในทุกแอ็กชั่นของแบรนด์ต้องทำให้ลูกค้าสะดวกสบาย มีความสุขที่ซื้อของกับเรา

Q : ขายสินค้าทุกวันนี้สู้จีนยาก

ถ้าคุณเชื่อว่าเป็นแบบนั้น ก็จะเป็นแบบนั้น อยู่ที่ความเชื่อ ถ้าเป็นแบบนั้นจริง 100% ของสิ่งของรอบตัวเราต้องมาจากจีน ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่ ฉะนั้น ต้องเริ่มจากความคิดที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะไม่กล้าทำอะไรเพราะสินค้าจีนดีกว่าถูกกว่า ไม่กล้าทำเพราะมีคนทำเหมือนที่ตนเองทำไปแล้ว เพราะจริง ๆ มีช่องทางอีกเยอะมากที่จะเข้าไปในตลาด

ที่สำคัญคือ อย่ามองว่าตลาดเล็ก มีคนทำเยอะอยู่แล้ว ถ้านั่งมองจริง ๆ ผู้หญิงซื้อรองเท้าเดือนละกี่คู่ เสื้อผ้าอีกเท่าไร เครื่องสำอางอีก ยิ่งช็อปปิ้งออนไลน์ทำให้ซื้อของได้ง่ายขึ้น ผลลัพธ์เดียวที่ชี้วัดได้คือ สินค้าขายได้ไหม ถ้าไม่เริ่มก็แทบไม่รู้ เพราะผู้บริโภคมีความละเอียดอ่อนมาก บางโปรดักต์ที่คิดว่าจะขายดีแน่ ๆ มันเจ๋งมาก ก็กลับขายไม่ได้

Q : สินค้าแฟชั่นต้องชูดีไซน์

แต่ละธุรกิจมีสิ่งที่ต้องเน้นไม่เหมือนกัน ฉะนั้น อย่าหลุดโฟกัสออกจากหัวใจของธุรกิจหลัก ถ้าทำร้านอาหาร หัวใจสำคัญคือ รสชาติต้องอร่อย เพราะต่อให้ร้านสวยแค่ไหนก็ไปไม่ได้ ธุรกิจแฟชั่นยืนอยู่บนความสวยงาม ฉะนั้น ถ้าขายรองเท้าต้องมีแบบรองเท้าที่ดี เป็นจุดเด่น ซึ่งเรามีทีมดีไซน์เอง และมีการดึงเซเลบริตี้ทั่วโลกมาร่วมออกแบบสร้างผลงานด้วย อย่างที่ O&B ทำรองเท้าให้โชว์ที่มิลานแฟชั่น วีก ของ Anna Dello Russo (Editor-at-Large ของ Vogue ในญี่ปุ่น) และมีคอลเล็กชั่นพิเศษออกมา

Q : มีลูกค้าต่างชาติเข้ามาเมื่อไร

หลัง 2 ปีที่เริ่มทำธุรกิจ เริ่มจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทย และการโปรโมตผ่านช่องทางต่าง ๆ ทำให้เซเลบริตี้คนในวงการแฟชั่นหันมามองเป็น word of mouth ช่องทางออนไลน์ที่เป็นเว็บไซต์ของแบรนด์เป็นประตูสำคัญ

Q : อุปสรรคที่ทำให้โกอินเตอร์ยาก

โดยส่วนตัวมีความรู้ด้านธุรกิจน้อย แต่สิ่งที่มีคือความกล้าคิด ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วเมื่อเราคิดและอยากทำ สมองจะสั่งให้พยายามหาหนทางที่จะทำให้สำเร็จให้ได้ จึงย้ำเสมอว่าไม่ใช่คนที่เก่งกว่าคนอื่น เพียงแค่กล้าคิดกล้าฝันจะให้บริษัทเป็นโกลบอลคอมปะนีให้ได้ จุดที่ยังอ่อนก็ดึงทีมงานที่เก่งธุรกิจเข้ามาช่วยเสริม

Q : อินฟลูเอนเซอร์ยุคนี้สำคัญ

สำคัญไม่ใช่แค่ยุคนี้ ดั้งเดิมคือดาราที่ใส่เสื้อผ้าชุดไหนถ่ายละครถ่ายแบบ คนก็อยากซื้อมาใช้ ยุคนี้เพียงขยายกลุ่ม และหลากหลายช่องทางมากขึ้น