กูรูอีคอมเมิร์ซชี้ “สนช.”ไฟเขียวเก็บภาษี”อีเพย์เมนต์”สกัด4.0ดันคนใช้เงินสดเหมือนเดิม

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจาก การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2561 ได้มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่….) พ.ศ….พื่อแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นว่าด้วยการชำระเงินภาษีผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และการแจ้งรายละเอียดของบุคคล และนิติบุคคล ที่มีความเคลื่อนไหวทางบัญชีรับโอน และฝากเงินเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือการฝากหรือรับโอนเงิน 200 ครั้ง รวมมูลค่า 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี ซึ่งจะทำให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ (ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สนช.ไฟเขียว กม.อีเพย์เมนต์ ฝาก – รับโอนเกิน 3 พันครั้ง/ปี ยอดรวม 2 ล้าน ต้องรายงานสรรพากร)

ผู้เชี่ยวชาญวงการอีคอมเมิร์ซอย่าง “ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” Chief Government Affairs Officer สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Thai E-Commerce Association) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า  โดยส่วนตัวเห็นด้วยที่จะต้องมีการเก็บภาษีการทำธุรกรรมออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ แต่ ณ เวลานี้ ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เพราะประเทศไทยเพิ่งเริ่มปรับตัวเข้าสู่การใช้อีเพย์เมนต์ ควรจะรอให้มีการใช้อีเพย์เมนต์อย่างเต็มที่แล้วในอีก 2 ปีข้างหน้ามากว่า เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลทำได้อย่างสมบูรณ์

“กฎหมายนี้จะกลายเป็นตัวกระตุ้นให้คนกลับไปใช้เงินสดอีกครั้ง เครื่องปั้นดินเผาอย่างไหอาจจะขายดีขึ้น เพราะคนอยากจะเก็บเงินสดในไหแทน กลายเป็นการบีบบังคับให้คนไม่อยากใช้ดิจิทัลเพย์เม้นท์  แม้ว่าผู้ใช้จะบริสุทธิ์ใจ แต่กฎหมายได้สร้างความกังวล”

ดังนั้นการผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาใช้การชำระเงินออนไลน์ที่ภาครัฐพยายามกระตุ้น อย่างพร้อมเพย์ หรือดิจิทัลเพย์เมนต์อื่นๆ จะสะดุด คนจะเลือกใช้น้อยลง เพราะยิ่งใช้ยิ่งโดนตรวจสอบ

“ออกกฎหมายมาตอนนี้เหมือนตีปลาหน้าไซ ทำให้การปรับตัวในการเข้าสู่ดิจิทัลมันช้า แทนที่ภาครัฐจะมุ่งไปจัดเก็บกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ทำได้ง่ายกว่าอยู่แล้ว แต่กลับมาใช้หว่านแหโดยใช้ตาข่ายเล็กๆ จับปลาซิวปลาสร้อยจับดะไปหมด”