‘นพ.ประวิทย์’ มองรายได้จากการประมูลคลื่น 700 คงช่วยทีวีดิจิทัลได้แค่บางส่วน

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดเผยว่า การสลับการใช้งานจากคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่ปัจจุบันใช้ในกิจการทีวีดิจิทัล มาเป็นคลื่นความถี่ย่าน 470 เมกะเฮิรตซ์ ที่ปัจจุบันอยู่ในการครอบครองของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ต้องอาศัยเวลาในการเจรจาซักระยะหนึ่ง

ขณะที่ ในทางเทคนิค แต่ละช่องทีวีดิจิทัลที่ออกอากาศอยู่ จะต้องมีการปรับจูนคลื่นความถี่ลงมา ฉะนั้น จึงต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งก็ต้องอาศัยระยะเวลาช่วงหนึ่งเช่นเดียวกัน โดยมิใช่ว่า เมื่อคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวว่างจากการใช้งานแล้ว จะสามารถดำเนินการย้ายได้ในทันที ทั้งนี้ มติที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ โดยมี พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการ กสทช. เป็นประธาน ซึ่งคาดว่า จะใช้เวลาในสรุปขั้นตอนการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ อย่างน้อย 3 เดือน

นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า การที่จะมีการจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ค่อนข้างที่จะเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก 1.ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาเรื่องการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ ซึ่งหากจะมีการจัดการประมูลคลื่นความถี่ อย่างน้อยควรต้องมีการศึกษา ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาช่วงหนึ่ง 2.ต้องมีการออกแบบขนาดคลื่นความถี่ว่า จะมีขนาดคลื่นความถี่เท่าไร อย่างไร และไม่ใช่เฉพาะคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ หากต้องการจัดการประมูลคลื่นความถี่ในลักษณะการประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมกัน (มัลติแบนด์) ต้องมีการออกแบบขนาดคลื่นความถี่ว่า จะมีขนาดคลื่นความถี่เท่าไร อย่างไรกับคลื่นความถี่ในย่านอื่นๆ ด้วย

“รายได้ที่เกิดขึ้นจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ คงนำไปช่วยเหลือ หรือชดเชยให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้ในบางส่วน คือ ในส่วนของที่ต้องมีการจัดหาอุปกรณ์ เพื่อให้เหมาะสมกับคลื่นความถี่ย่าน 470 เมกะเฮิรตซ์ หรือใช้ชดเชยให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในส่วนของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการขยับคลื่นความถี่ ซึ่งคงไม่ใช่การนำรายได้ที่เกิดขึ้นไปช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เพื่อที่จะไม่ต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในส่วนที่เหลืออีกราว 30% หรือมูลค่าประมาณ 10,000 กว่าล้านบาท” นพ.ประวิทย์ กล่าว

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช. ประเมินว่า การสลับการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่ปัจจุบันใช้ในกิจการทีวีดิจิทัล มาเป็นคลื่นความถี่ย่าน 470 เมกะเฮิรตซ์ จะใช้ระยะเวลาเบื้องต้นอย่างน้อย 2 ปี ดังนั้น การจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะกำหนดให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตสามารถนำคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวไปใช้งานได้ในปี 2563 ขณะที่ ผลของใบอนุญาตก็จะเริ่มต้นในปี 2563 เป็นต้นไปเช่นกัน หรือภายหลังจากที่มีการย้ายคลื่นความถี่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จึงจะสามารถทราบผลว่า รัฐบาลจะได้รับเงินจากการประมูลคลื่นความถี่จำนวนเท่าใด รวมถึงจะสามารถนำเงินไปช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้อย่างไรบ้าง ในการประมูลที่จะเกิดขึ้นครั้งต่อไป

“เชื่อว่า รายได้ที่เกิดจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จะสามารถนำไปช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในส่วนที่ต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในส่วนที่เหลือ ทั้งนี้ หากนำราคาการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ มาใช้อ้างอิงในคำนวณจะพบว่า รายได้ที่จะเกิดขึ้นจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จะได้รับไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท” นายฐากร กล่าว


ที่มา มติชนออนไลน์