“สิริเวนเจอร์ส”ปั้นSandboxทุ่ม600ล้านหาสตาร์ตอัพ

สิริ เวนเจอร์ส ทุ่มงบฯลงทุนกองทุน-สตาร์ตอัพปี”62 อีกเท่าตัว พร้อมเท 600 ล้านบาท เฟ้นหาเทคโนโลยีใหม่หนุนวงการก่อสร้าง สุขภาพ ที่อยู่อาศัย รับสังคมสูงวัย พร้อมลุย “Private PropTech Sandbox” เปิดพื้นที่หนุนสร้างนวัตกรรมใหม่

 

นายจิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด PropTech ภายใต้ความร่วมมือระหว่างแสนสิริ และไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่าหลังก่อตั้งได้ 1 ปี ได้ลงทุนใน 6 สตาร์ตอัพและ 2 กองทุนรวมมูลค่ากว่า 300 ล้านบาทอาทิ Semtive สตาร์ตอัพที่พัฒนากังหันลมพลังงานไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัย, Astralink ที่พัฒนาเทคโนโลยีตรวจสอบงานก่อสร้าง 3 มิติแบบเรียลไทม์, Onion Shack สตาร์ตอัพที่พัฒนาการสนทนาด้วยเสียงผ่านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ AppySphere สตาร์ตอัพผู้พัฒนาระบบ home automation เพื่อใช้ในแสนสิริ โฮม เซอร์วิส แอปพลิเคชั่น, Farmshelf ที่พัฒนาการปลูกผักอัจฉริยะภายในที่พักอาศัย รวมถึงการเริ่มนำ e-Scooter จาก Neuron สตาร์ตอัพสัญชาติสิงคโปร์มาทดลองใช้ในโครงการอสังหาริมทรัพย์เป็นครั้งแรกในโครงการ 40-50 คัน โดยใช้ในโครงการ “ฮาบิโตะ”ใน T77 และโครงการภายใต้แบรนด์ดีคอนโด ที่เชียงใหม่ และได้เข้าลงทุน Fifth Wall กองทุนสัญชาติอเมริกัน ที่เน้นลงทุนในเทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก และลงทุนในกองทุน “Hua Xing” กองทุนใหญ่ในประเทศจีน

สำหรับปี 2562 วางแผนต่อยอดเทคโนโลยีที่ลงทุนให้มากขึ้น อาทิ แอปพลิเคชั่นแสนสิริ จะเพิ่มจำนวนพาร์ตเนอร์จากที่มีอยู่ 10 ราย และจะเน้นการใช้งานอัจฉริยะ ให้จำพฤติกรรม แจ้งเตือนการซ่อมบำรุงโดยอัตโนมัติ พัฒนาฟังก์ชั่นคำสั่งเสียงให้ใช้งานได้ลื่นไหล และมีไลฟ์สไตล์ช็อป ปัจจุบันยอดดาวน์โหลด 25,000 ครั้ง จากลูกค้า 80,000 ราย มียอดแอ็กทีฟเดือนละ 60% ตั้งเป้าปี 2562 จะมียอดทั้งผู้ใช้และแอ็กทีฟเติบโต 2 เท่า, ขยายการใช้งานสกูตเตอร์ในโครงการอื่น ๆ โดยกำลังเจรจากับ BTS เพื่อขออนุญาตจอด, ต่อยอดการนำของเสียมาทำแก๊สหุงต้ม รวมทั้งเพิ่มกังหันลมไฟฟ้า และใช้เทคโนโลยี VR ช่วยในการก่อสร้างมากขึ้น ด้านหุ่นยนต์แสนดี ปัจจุบันมีใช้ 2 ตัว เนื่องจากต้นทุนสูงประมาณตัวละ 2 ล้านบาท ดังนั้นมีแผนที่จะลงทุนเปิดโรงงานประกอบกับบริษัท technetics และสร้างเครือข่ายพาร์ตเนอร์ไปในอาเซียนมากขึ้น

จากการลงทุนทำให้แสนสิริสร้างตึกได้เร็ว ลดต้นทุน ขายง่าย ลูกค้าใช้งานได้สะดวกขึ้น และช่วยพัฒนาอีโคซิสเต็มของสตาร์ตอัพจากพาร์ตเนอร์ ช่วยให้ขยายตลาดไปต่างประเทศได้

ปี 2562 จึงจะเพิ่มงบฯลงทุนในสตาร์ตอัพและกองทุนเป็น 600 ล้านบาท แต่อาจจะลงทุนในสตาร์ตอัพและกองทุน 6-8 รายเท่าเดิม เน้นที่สตาร์ตอัพซีรีส์เอขึ้นไป ขยับจากเดิมที่เป็นเออร์รี่สเตจ และเน้นที่เทคโนโลยีด้านการก่อสร้าง (ConsTech) เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน (sustainablity) เทคโนโลยีอสังหาริมทรัพย์ (PropTech) และเพื่อการอยู่อาศัยและสุขภาพ (LivingTech & HealthTech)

ทั้งยังเตรียมเดินหน้าโครงการ “SIRI VENTURES Private PropTech Sandbox” สร้างพื้นที่ให้สตาร์ตอัพได้ทดลองตัวโปรดักต์ โดยสิริ เวนเจอร์ส สนับสนุนในส่วนของพื้นที่ เงินให้เปล่า ลูกบ้านที่เข้ามาร่วมทดลองได้ แต่ทุกโปรดักต์จะต้องอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายที่มีอยู่ แม้ว่าหลายเทรนด์กำลังมาแรง อาทิ บล็อกเชน การนำบ้านมาแปลงเป็นหน่วยลงทุน แต่ในไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ โดยหวังว่า 50% ของโครงการที่เข้าร่วมจะนำไปต่อยอดได้จริง โดยเฉพาะปัญหาในธุรกิจอสังหาฯที่ขายบ้านมือ 2 ได้ยาก

สำหรับ 4 เทรนด์เทคโนโลยีที่ให้ความสนใจคือ 1.การทำ ICO (ระดมทุนด้วยเหรียญดิจิทัล) สำหรับนำบ้านมาแปลงเป็นหน่วยย่อยให้นักลงทุนมาร่วมลงทุนได้ เมื่อมีการเช่าหรือขายก็ได้ส่วนแบ่งตามการลงทุน ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ อาทิ บริษัท “brickX” ของออสเตรเลีย แต่ในประเทศไทยยังต้องรอให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ก.ล.ต.) ออกกฎหมายรับรอง

2. การพัฒนาระบบที่รองรับใช้ “เสียง” สั่งงานระบบในบ้าน โดยไม่ต้องใช้ผ่านแอปพลิเคชั่น 3. การนำเทคโนโลยีเสมือน ทั้ง AR/VR ในการประเมินการก่อสร้าง และ 4. เทคโนโลยีสำหรับผู้สูงอายุ

“ต่อไปบล็อกเชนจะเป็นเทคโนโลยีเบอร์ 2 รองจากฟินเทคในการนำมาใช้ในตลาดอสังหาฯ เพราะเป็นตลาดที่มีผู้เล่นเยอะ จึงต้องมีหน่วยงานกำกับดูแล และตอนนี้โลกกำลังไปที่การทำ ICO เพื่อให้ร่วมกันลงทุนในทรัพย์สินได้ เช่น ประเทศอังกฤษใช้กับการลงทุนทองคำ ทำให้นักลงทุนสามารถมาลงทุนได้มากขึ้น โดยไม่ต้องมีเงินก้อนใหญ่ ดังนั้นทั่วโลกกำลังไป แต่ไทยต้องรอกฎหมาย ซึ่งได้มีการเข้าหารือกับ ก.ล.ต. เป็นระยะ”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!