“อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์” เน็กซ์สเต็ป “adapter digital” สร้างดาต้าไมนด์เซตขับเคลื่อนองค์กร

ตลาดโฆษณาดิจิทัลโตติดลมบนต่อเนื่อง ไม่มีทีท่าว่าจะลดความร้อนแรงลง ต่างจากสื่อดั้งเดิมที่อยู่ในช่วงขาลง แม้แต่ “ทีวี” ถึงจะเปลี่ยนเข้าสู่โหมด “ดิจิทัล” แล้วก็ยังไม่ดีขึ้น แต่ตลาดปีนี้ที่ว่าโตถึง 21% ทะลุ 1.5 หมื่นล้านบาท ยังโตน้อยกว่า “adapter digital group” แถมไม่ยอมหยุดอยู่แค่นี้ยังเตรียมเพิ่มทีม-เปิดหน่วยธุรกิจใหม่เพื่อเติมความต้องการของลูกค้าแบบครบวงจรมากขึ้น

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์” ประธานกรรมการบริหาร adapter digital group หลากหลายแง่มุมและจังหวะก้าวใหม่ของ adapter ดังนี้

Q : ตลาดโฆษณาดิจิทัล

ตลาดภาพรวมปีนี้โตจากปีที่แล้ว 21% ปีหน้าก็น่าจะโตไม่ต่ำกว่าปีนี้ แต่ละอุตสาหกรรมโตไม่เท่ากัน ปีนี้ที่โตมากอยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์, สกินแคร์, แบงก์ และการสื่อสาร ปีหน้าจะเริ่มเห็นมูฟเมนต์อื่น ๆ อย่างที่รู้ว่าปีนี้แบงก์โตเพราะพยายามดึงคนมาใช้ดิจิทัลแบงกิ้ง ส่วนรถยนต์เริ่มกลับมาพลิกฟื้นจากที่ดรอปลงในช่วง 1-2 ปีก่อน เมื่อเริ่มพลิกฟื้นเจ้าใหญ่จึงสาดแคมเปญเพื่อดึงดีมานด์ ส่วนสกินแคร์โตอยู่แล้ว แต่ปีนี้โตมากขึ้นทั้งจากบิ๊กเพลเยอร์และหน้าใหม่ ๆ เป็นตลาดที่มีนิวเพลเยอร์เยอะ ปีหน้าก็น่าจะโตประมาณนี้ ขณะที่ตลาดการสื่อสารจะน่าสนใจมากขึ้น จากกระแส 5G รวมถึงการแข่งขันในกลุ่มโมบายดีไวซ์ เพราะ 4G เริ่มคัฟเวอร์ก็ขยับมาสู่ยุคใหม่เหมือนสมัย 4G ที่เริ่มมีการแนะนำเทคโนโลยีใหม่ คลื่นใหม่ใด ๆ ก็แล้วแต่จะมีการแข่งขันมากขึ้น คนที่อยู่เบอร์ 3 อาจเข้ามาช่วงชิงตลาดมากขึ้น

Q : ปีหน้าโตอีกเท่าไร

อย่างต่ำ 20% เพราะเอาจริง ๆ ภาพรวมที่บอกว่าตลาดโฆษณาดิจิทัล 15,000 ล้านบาท เป็นเม็ดเงินจาก 20 เอเยนซี่ใหญ่ ยังไม่รวมเอสเอ็มอีที่ทำเอง และเอเยนซี่เล็ก ๆ อื่น ๆ แสดงว่าเม็ดเงินจริงโตกว่านี้เยอะ

Q : แต่เงินครึ่งหนึ่งไปเฟซบุ๊ก กูเกิล

ต้องบอกว่าทั่วโลกเป็นแบบนี้ เราก็จะยากในแง่ที่ว่า ไม่ได้มีโลคอลฮีโร่เหมือนบางประเทศ อย่างจีนที่มีเว็บของเขาเอง โลคอลฮีโร่เราที่น่าสนใจก็มีอย่างพันทิปยังอยู่ในท็อปเทนที่มีการใช้งาน เพราะมีความเฉพาะตัวและยังไม่มีเซอร์วิสเดียวกันที่เป็นฟอรั่มมาทดแทนได้

Q : ควรทำตัวอย่างไร

ยุคนี้ที่เห็นเทรนด์ที่น่าสนใจ คือ เราจะไม่ได้รีไลน์ออนพวกนี้อย่างเดียว ต้องพยายามสร้างทราฟฟิกของตนเอง แต่ทราฟฟิกต้องไปเกาะตามโซเชียลกับเสิร์ช เพราะคือท็อปแอ็กทิวิตี้ของคนที่เสพข่าว

ช่องสื่อต่างประเทศเท่าที่เห็น ไม่ได้รีไลน์ออนเฟซบุ๊ก หรือโซเชียลแล้ว เขาพยายามดึงคนเข้ามาดู มาฟังผ่านโมบายแอป เช่น ซีเอ็นเอ็น จะเห็นว่าทุกเบรกโปรโมตให้คนโหลดแอปพลิเคชั่นจึงเป็นความน่าสนใจที่ทุกคนพยายามสร้างโอว์นมีเดียของตนเอง สร้างดาต้าของคนอ่านคนดูคนฟังที่เป็นคนอ่านของตนเอง

Q : ต้องมีแอปเอง

ใช่ มีพฤติกรรมที่น่าสนใจของลูกค้าเราเองที่แชร์ได้ คือคนส่วนใหญ่จะคิดว่าแอปไม่มีประโยชน์ คนไทยใช้อย่างมาก 5 แอป ทั้งที่โหลดมาเป็นร้อย แต่จริง ๆ ถ้าตีโจทย์แตกว่าทำไมเขาต้องโหลดแอปเรา หลัก ๆ ที่คนไทยโหลด คือเรื่องยูทิลิตี้ต้องเอามาใช้ประโยชน์บางอย่างกับชีวิตเขาได้จริง ไม่ใช่ว่าทดแทนด้วยอย่างอื่นได้ เช่น ไม่ต้องเข้าแอปเข้าเว็บก็ได้ เป็นต้น แบบนี้ไม่มีประโยชน์ ดังนั้น จึงต้องหายูเซจให้ได้ที่เป็นยูทิลิตี้ คนไทยไม่ปฏิเสธที่จะดาวน์โหลดแอป ถ้าแอปมีประโยชน์กับชีวิตเขา

มีตัวอย่างหนึ่งที่เราทำ เป็นกลุ่มตลาดมิดเทียร์ กลุ่มนี้เราเคยคิดว่าทำแอปออกมาใช้คงแป้กแน่ เข้าถึงเขาไม่ได้แน่ แต่ปรากฏว่าพอไปศึกษาผู้บริโภคกลุ่มนี้จริง ๆ พบว่าเขาโหลดแอป แต่โหลดบางประเภท เช่น ตรวจหวย ดังนั้น จะทำอะไรควรเจาะลึกลงไปในพฤติกรรมการบริโภคของแต่ละเซ็กเมนต์เพื่อที่จะได้เมกชัวร์ว่าสิ่งที่ทำใช่จริง ๆ

Q : กำลังซื้อในตลาด

ตลาดไทยหลายตัวมีเรื่องกำลังซื้อชะลอลง แต่ก็ยังมีเทรนด์ที่คนไทยยังไงก็ต้องซื้อ เช่น เฮลท์, บิวตี้ อะไรที่ออกมาใหม่ที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้โอเค หรือพรีเมี่ยมเซ็กเมนต์ไปเลยไม่กระทบ

อีกสิ่งที่เป็นเทรนด์ที่เห็นลูกค้าส่วนใหญ่ทำ คือ ไม่ได้พึ่งพาเฉพาะกำลังซื้อในประเทศ เขาขยายไปตลาดเพื่อนบ้าน เช่น สินค้าประเภทเครื่องดื่มบำรุงกำลัง

Q : เติบโตแต่สื่อดิจิทัล

ต้องบอกว่าเป็นการเปลี่ยนของผู้บริโภค ไม่ใช่ความคิดของแชนเนลหรือเนื้อหา คนเริ่มบริโภคสื่อที่ใกล้ตัวและเป็นความเคยชินในการใช้งานด้วย ในแง่สื่อทีวีมีมูฟเมนต์ที่น่าสนใจ คือ การซื้อทีวีโดยปกติจะแพงขึ้น เข้าถึงคนได้น้อยลงเพราะคนไม่ได้ดูทีวีปกติ และดิจิทัลทีวีมีหลายช่อง สมมุติแบรนด์อยากเข้าถึงคนเซ็กเมนต์หนึ่ง เมื่อก่อนเคยซื้อแบบเลือกได้ สมมุติอยากได้คนในเมือง คือ ช่อง 3 อยากได้ต่างจังหวัด คือช่อง 7 เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว ต้องไปไล่ซื้อแยกซอยเป็นรายการ ฉะนั้น ช่วงหลังที่ทำกันคือซื้อออนไลน์ทีวีมาคอมพลีเมนต์ราคา ทีวีปกติ เอาทีวีซีนมาลงในออนไลน์ แต่ราคาจะบาลานซ์ให้อยู่ในจุดที่คุ้มที่สุด เชื่อว่าปีหน้าจะเห็นชัดขึ้นอีก

Q : จะเกิดอะไรขึ้น

จะเริ่มเห็นไฮบริด ทีวีต้องมีโซลูชั่นที่เป็นไฮบริด ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างละครเลือดข้นคนจางที่บอกว่า คนดูผ่านไลน์ทีวีมากกว่าทีวี เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะตัวละครไม่ได้แมสมาก ไม่เหมือนบุพเพฯที่ทุกคนดูได้ เข้าถึงได้ แต่พรูฟได้อย่างหนึ่งว่า คนเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูไปแล้วจริง ๆ และพฤติกรรมของคนแต่ละเซ็กเมนต์ไม่เหมือนกัน

Q : พบพฤติกรรมอะไรที่น่าสนใจ

เรียกว่าเซอร์ไพรส์ดีกว่า เมื่อก่อนเราจะคิดว่าดิจิทัลเป็นเรื่องของคนเมือง คือความเชื่อและสิ่งที่เราเข้าใจมาตลอด พอไปทำรีเสิร์ชเยอะ ๆ คุยกับพาร์ตเนอร์เยอะ ๆ พบว่ากลุ่มคนต่างจังหวัดใช้สื่อดิจิทัลแต่ใช้ด้วยรูปแบบที่ต่างกัน อย่างเพลงลูกทุ่ง ถ้าไปไล่ดูจะพบว่า เพลงลูกทุ่งหลายเพลงมียอดวิวเป็นร้อยล้าน พอลงไปเจาะลึกไปไล่ดูจะพบว่า คนต่างจังหวัดเข้าถึงสื่อดิจิทัล แต่ต้องดู 1.แพตเทิร์น 2.คอนเทนต์ เขาใช้ยูทูบเยอะมาก เพราะเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิต ไม่เหมือนเราที่พบเห็นทุกสิ่ง เขาจึงอาศัยตรงนี้มานั่งดู พวกรายการบันเทิง, มิวสิกวิดีโอ หรือแม้แต่รายการที่มีเนื้อหาสร้างแรงบันดาลใจเพื่อทำให้ชีวิตเขาไปต่อได้ดีขึ้น พัฒนาขึ้น

Q : การทำงานก็ต้องปรับต้องเปลี่ยน

ใช่ครับ การทำดิจิทัลด้วยวิธีแบบเดิม ๆ เข้าถึงคนไม่ได้ อย่าลืมว่าคนมีวิธีคอนซูมที่ไม่เหมือนเดิม และไม่เหมือนกันอีกแล้ว การวางอีโคซิสเต็มของแต่ละเซ็กเมนต์ หรือแต่ละแบรนด์มีความสำคัญมากในการเข้าถึงคนได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า

Q : ทำงานยากขึ้น

ยากขึ้น แต่ก็สนุกขึ้น ต้องอาศัยความพยายาม อาศัยทีมที่ต้องวางแผน ทีมที่ต้องวิเคราะห์ ช่วยคิด

Q : แนะนำลูกค้าอย่างไร

เมื่อก่อนข้อมูลต่าง ๆ จะปรับทุกปี เดี๋ยวนี้ปรับทุกแคมเปญ เพราะความเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นมากถึงต้องทำเวิร์กช็อปให้ทีมทุก 2 อาทิตย์ ทุกอย่างเปลี่ยนเร็วมากโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว

สิ่งที่ทำในแคมเปญนี้ พอมีเลิร์นนิ่งเคิร์ฟจะหยิบไปใช้แคมเปญหน้าเลยไม่ได้ และไม่มีเวลาให้วิเคราะห์ทั้งปีแล้ว ความเร็วขึ้นของการเปลี่ยนแปลงทำให้เราต้องเปลี่ยนไมนด์เซต จากแต่ก่อนมีเวลา 3 เดือนทำแคมเปญ เดี๋ยวนี้เดือนหนึ่งก็เก่งแล้ว ต้องสร้างไดนามิกแอ็กชั่นที่เรสปอนด์ได้เลย

Q : ต้องรีบลืมความสำเร็จเดิม

ใช่ เป็นเอ็กซพีเรียนซ์หนึ่งที่เราเห็นภาพอย่างนี้เลยคือว่า สิ่งที่เคยทำแล้วเวิร์ก พอมาทำต่อ ซึ่งอาจใช้เวลาแค่ 2-3 เดือน กลายเป็นไม่เวิร์กไปแล้ว

Q : ผลักดันทีมอย่างไร

ต้องบอกว่าด้วยวัฒนธรรมในออฟฟิศ เราพยายามสร้างให้ทุกคนมองไปข้างหน้าตลอด ฉะนั้น เขาต้องขวนขวายในการที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา มีเซสชั่นอะไรที่อัพเดต ทุกคนต้องอัพเดตเท่ากัน เช่น แอดฟอร์แมตในเฟซบุ๊กมี 20-30 ฟอร์แมต ไม่ใช่แค่ฝ่ายมีเดียที่ต้องรู้เรื่อง เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องรู้เรื่องด้วย เพราะครีเอทีฟคิดงานไม่ได้ ถ้าไม่รู้ว่ามีฟอร์แมตอะไรบ้าง

เราพยายามอัพสกิลทุกคนให้เท่ากัน อัพทูเดตที่สุด โดยเวิร์กช็อป สร้างแบรนด์ทีม แบรนด์ทีมจะมีส่วนสำคัญในการดึงทีมให้ไปข้างหน้า ทุกคนจะพุชองค์ความรู้ใหม่ ๆ หรือสิ่งที่เขาไฟน์ดิ้งเจอมาในส่วนงานที่เขาเจอ ในการที่จะเอามาโยนกัน ผลักดันงาน นำมาวางแผน อีโคซิสเต็มที่เหมาะกับแต่ละแบรนด์ แต่ละทีมจะมีครบทุกฟังก์ชั่นในการทำงาน ดึงเอาคนในแต่ละบิสซิเนสยูนิตมาร่วมอยู่ในแบรนด์ทีมนั้น ๆ

Q : KOL และอินฟลูเอนเซอร์ยังมีบทบาทไหม

คนเชื่อคนมากกว่าโฆษณา จะอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นเซ็กเมนต์ไหนก็แล้วแต่ เมกะหรือเซเลบฯ หรือมาโคร ไมโครใด ๆ ลอจิกเดียวกัน คือ เขาเชื่อใน “คน”

ถามผมคือ เซเลบฯไม่ได้ผิด คนบอกเมกะไม่ใช้แล้วต้องลงไมโคร ผมว่าอยู่ที่โจทย์ ถ้าเราเลือกคนได้ถูก คอนวินซิ่งคนได้ จริง ๆ สร้างรีช และคอนวินซิ่งได้มหาศาล แต่ถ้าเลือกผิดคน คนไม่คิดหรอกว่าจะไปใช้แบรนด์นี้หรือไปใช้เขาเป็นคอมเมอร์เชียลยังไงก็ไม่เกิด

เทรนด์ KOL ยังไงก็ยังอยู่ แต่อยู่ที่วิธีการเลือกใช้ การวัดผล เลือกยังไงให้ฟิตอินกับแบรนด์ที่สุด คนต่างจังหวัดมาก ๆ เอาจริง ๆ บางครั้งต้องใช้เมกะ เพราะคนใกล้ตัวมาก ๆ ถามว่ามีผลไหม มีผลแต่น้อยมากเพราะเน็ตเวิร์กเขาแคบ ไม่เหมือนพวกเราที่เน็ตเวิร์กกว้างมาก ฉะนั้น ไมโครจะมีผลกับเรามากกว่าเซเลบฯ ฉะนั้น ไม่ได้แปลว่าใช้กับไมโครอย่างเดียวแล้วจะเวิร์ก ต้องมิกซ์ยูส แล้วแต่โจทย์

เทรนด์ช่วงหลังที่เริ่มเห็นปีนี้ คนใช้เมกะน้อยลง ไม่เหมือนที่ผ่านมาที่อะไรก็เห็นแต่ดารา แต่อย่างที่บอกแล้วแต่โจทย์ ถ้าโจทย์ฟิตอินก็ยังคุ้มในการที่จะใช้ แต่ไม่ใช่สาดเงินทั้งหมดไปกับกลุ่มนี้

กลุ่มเมกะสิ่งที่ได้เร็วที่สุด คือ อะแวร์เนสในโซเชียล เพราะมีฟอลโลเวอร์สูงมาก แต่สิ่งที่กลุ่มนี้ฟูลฟิลต่อไม่ได้ คือ ความน่าเชื่อถือในการใช้จริง ไม่เหมือนคนใกล้ตัวเราที่จะรู้สึกว่าคนนี้ใช้จริง แต่ถ้าเลือกคนที่ฟิตอินจริง สิ่งนี้ก็จะได้ตามไปด้วย แต่ก็ไม่ได้ง่าย

Q : ถ้าเป็นแบรนด์ที่เงินไม่เยอะ

ต้องมาดูก่อนว่าควรใช้อะไรดีกว่า ไม่ใช่ทุกกรณีที่ต้องใช้ KOL แต่ต้องยอมรับว่าแบรนด์หลายแบรนด์ที่เราทำ KOL มีผลจริง ๆ แต่ทำหน้าที่ได้ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าบอกว่าแบรนด์นี้ไม่เคยเป็นที่รู้จักเลยในตลาดแล้วอยู่ดี ๆ จะมาบอกว่า ใช้ KOL เลย ถามผม ถ้าเป็นการแนะนำตัวในตลาดจะต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้ได้ก่อน สิ่งที่ KOL ต้องทำคือ โน้มน้าว (convince)

Q : เทรนด์ใหม่ ๆ

มีสิ่งน่าสนใจ 2 อย่าง คือ 1.จะวางอีโคซิสเต็มที่เชื่อมต่อกับคนยังไง ต้องชัดเจนและเห็นภาพเม็ดเงินที่จะให้ความสำคัญในแต่ละแพตเทิร์น 2.เรื่องดาต้า ทุกคนพูดเรื่องดาต้า แต่ไม่ได้เอาไปใช้อย่างเป็นประโยชน์ที่สุด แต่ละที่ใช้ไม่เหมือนกัน เรื่องการเก็บข้อมูลเชื่อว่าทุกคนเก็บ แต่เก็บแล้วเอาไปใช้หรือเปล่า เพราะความสำคัญของ “ดาต้า” ไม่ใช่แค่เก็บ แต่คือการนำไปใช้ ดาต้าเป็นอาวุธใหม่ที่ทำให้ไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น

Q : เป็นสิ่งใหม่ของอะแดปเตอร์กรุ๊ปด้วย

ครับ แต่ก่อนเราบอกว่า เราจะเป็น “digital expertise” ตอนนี้ขยับมาเป็น digital ecosystem expertise มองภาพรวมที่ไปอินเตอร์คอนเนกต์กับทุกการเดินทางของคนให้มากขึ้น

การย้ายมาอยู่ตึกเพิร์ลก็เพื่อขยายทีมงาน ขยายธุรกิจ เน้น 3 ขา คือ 1.ครีเอทีฟ 2.อินโนเวทีฟ และ 3.ดาต้าอินเทลลิเจนซ์ ลูกค้าเราเองเริ่มขยายตลาดไปในเออีซี เราก็ไปที่พม่า ลาว และกัมพูชาตามลูกค้า โดยทำงานร่วมกับเอเยนซี่ที่โน่น ทีมงานจาก 135 คน จะขยายเป็น 180 คน

เน็กสเต็ป คือ ขยายไปตลาดจีนและฮ่องกงในอีก 2 ปี ส่วนที่เป็นเซอร์วิสใหม่ คือ ดาต้าอินโนเวชั่น เดิมก็มีทำให้ลูกค้าเป็นโซลูชั่น ตอนนี้แยกมาเป็นยูนิตต่างหาก นอกจากซัพพอร์ตอีโคซิสเต็มหลักของเราแล้วก็ยังสร้างแวลูของเขาเองให้ลูกค้าได้ คือ แยกทำงาน เช่น ลูกค้าต้องการเฉพาะดาต้าเซอร์วิส ก็คอนเนกต์กับบิสซิเนสยูนิตนี้ได้โดยตรง เพราะเริ่มเห็นความต้องการที่สูงขึ้น และมองว่านี่คือ new value

เทรนด์ปีหน้า ดาต้ามาแน่ แต่ใครจะนำมาใช้ประโยชน์ได้มากที่สุดในองค์กรเราเองพยายามสร้างดาต้าไมนด์เซตให้ทุกคนทุกแผนกเอาดาต้ามาใช้ทำงานให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นฝั่งกลยุทธ์, ครีเอทีฟ, มีเดีย ทุกคนใช้ดาต้าในมุมมองที่ไม่เหมือนกัน จึงมีทีมดาต้าที่เจาะลึกและรับผิดชอบเรื่องนี้ไปเลย

Q : เป็นทีมซัพพอร์ตหรือนำ

ทั้งลีดและซัพพอร์ตในเชิงอีโคซิสเต็มโดยรวมด้วย อย่างที่บอกบางแบรนด์ใช้เป็นลีด บางแบรนด์คอนเนกต์กับอีโคซิสเต็มรวม เช่น แบรนด์มือถือ เราจะรู้ได้ยังไงว่าจะโปรโมตฟีเจอร์อะไรก็เอาทีมนี้มาช่วยทำ เรามีระบบบางอย่างที่รู้ข้อมูลได้ว่า คนชื่นชอบฟีเจอร์ไหน จะด้วยแพสชั่นหรือเพนพอยต์ มีฟีเจอร์ไหนตอบโจทย์ได้

เมื่อก่อนเราจะเชื่อแต่ข้อมูลโฟกัสกรุ๊ป ซึ่งจริง ๆ แคบมาก อย่างมากทำได้แค่ร้อยคน ไม่ได้เป็นตัวแทนคน 20 ล้านคนได้ ฐานข้อมูลต้องใหญ่ ที่สำคัญต้องพรีดิกทีฟได้จริง เราทำให้ลูกค้ามาระยะหนึ่งแล้ว วิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้ามาแอ็กชั่นอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับการสื่อสาร เพราะลูกค้าถามเยอะว่าเขาก็มีหน่วยงานภายในที่มีดาต้าอยู่แล้วทำไมต้องใช้ของเรา จริง ๆ ฝั่งดาต้าของลูกค้า สิ่งที่เขาวิเคราะห์ส่วนใหญ่เป็นการนำมาทำโปรดักต์ใหม่หรือพัฒนาเซอร์วิสที่มีอยู่ แต่เรานำมาทำเรื่องการสื่อสารเป็นหลัก

คีย์สุดท้ายที่เป็นมูฟวิ่งฟอร์เวิร์ดที่สำคัญ คือ หลายเอเยนซี่จะอยู่กับดิจิทัลเมทริกซ์ คือยอดวิวเท่านี้ คนเอ็นเกจเท่านี้ แต่ของเราไม่ใช่ เราทำ “เอฟเฟ็กทีฟมาร์เก็ตติ้งรีซัลต์” คือทำในเรื่องที่ว่าคนสนใจซื้อสินค้าคุณจริงหรือเปล่า มีอินเด็กซ์บางอย่างมาใช้ประกอบได้ ดูว่ายอดขายเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ถ้าโจทย์คือยอดขาย เราโก บียอนด์ไปแล้ว

Q : ผลประกอบการปีนี้

เราโต 43% ขณะที่ตลาดโต 21% เราโตกว่าสองเท่าในแง่รายได้ กลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตต่อไป คือ มองลูกค้าเป็น “บิสซิเนสพาร์ตเนอร์” และทำอย่างไรถึงจะเข้าไปอยู่กับลูกค้าได้ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ไม่ใช่แค่ไปทำโฆษณาให้เขา

ปีหน้าจะเห็นตัวเลขที่เติบโตขึ้นจากเซอร์วิสใหม่ ๆ และตลาดที่ขยายไปในเออีซี

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!