ค้าออนไลน์ดิ้นเลี่ยงกฎหมายภาษี ย้อนยุคใช้ “เก็บเงินปลายทาง”

แฟ้มภาพ
อีคอมเมิร์ซหาทางเลี่ยง กม.อีเพย์เมนต์ แห่ใช้เงินสดแทน “เก็บเงินปลายทาง” กลับมาบูม เมสเซนเจอร์ฮิต ชี้ “cashless society” เกิดยาก ฟาก ส.อีคอมเมิร์ซมั่นใจยังโตได้ 30% ต่อปี ด้านสรรพากรแจงยิบ ย้ำเป้าหมายเพื่อจัดทำ “บิ๊กดาต้า” ไม่ได้เจตนาเก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Thai e-Commerce Association) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กฎหมายอีเพย์เมนต์ว่าด้วยการชำระเงินผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องรายงานข้อมูลให้กรมสรรพากรตรวจสอบภาษี ไม่น่าทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซชะงักงัน แต่อาจสร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการในช่วงแรก

“ช่วงแรกอาจจะเห็นความกังวล และพยายามหาทางเลี่ยง แต่จริง ๆ ก็เลี่ยงได้ยาก ฉะนั้น ควรจะปรับตัวโดยเข้าสู่ระบบภาษีและมีการทำบัญชีอย่างถูกต้อง ซึ่งจะเกิดประโยชน์ระยะยาวกับธุรกิจมากกว่า ทั้งในแง่ที่ไม่ต้องเสี่ยงถูกสอบภาษีย้อนหลัง ทั้งการนำค่าใช้จ่ายทางธุรกิจมาหักลดหย่อนภาษีได้ และสร้างเครดิตขอสินเชื่อในอนาคตได้ด้วย”

อย่างไรก็ตาม สมาคมมองว่าอีคอมเมิร์ซจะยังโตไม่น้อยกว่า 30% ทุกปี ปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 3.05 ล้านล้านบาท จาก 2.81 ล้านล้านบาทในปีที่แล้ว เนื่องจากยังมีปัจจัยบวกทั้งความต้องการซื้อสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค การลงทุนของอีมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น

“สังคมไร้เงินสด” เกิดยาก

ด้านนายอิศราดร หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โอมิเซะ จำกัด เปิดเผยว่า กฎหมายนี้ทำให้การก้าวสู่สังคมไร้เงินสดของไทยเกิดได้ยากมากขึ้น ยิ่งคนกังวลเรื่องการถูกตรวจสอบภาษี ยิ่งใช้งานน้อยลง หันกลับไปใช้เงินสดเหมือนเดิม ดังนั้น รัฐควรแก้ปัญหาการเลี่ยงภาษีให้ถูกจุด คือ ให้สวัสดิการที่ดี เพื่อดึงดูดให้คนอยากเสียภาษี ส่วนการตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมจากอีเพย์เมนต์ ควรมุ่งไปที่การใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า เพื่อนำไปใช้ต่อยอดประโยชน์ในด้านอื่น ๆ มากกว่า

“การใช้งานผ่านโมบายแบงกิ้งและอีวอลเลตต่าง ๆ กำลังอยู่ในช่วงจุดติด มีการใช้จ่ายมากขึ้นเพราะสะดวก ตอนนี้ยังไม่เห็นว่ามีประเทศไหนที่มามอนิเตอร์เรื่องเพย์เมนต์ เพราะถ้าคนไม่จับจ่าย มันก็ไม่ขับเคลื่อนอีโคโนมี”

เน้นใช้เงินสด-กระทบ ศก.ดิจิทัล

นายเบน คิง Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า จากผลวิจัย “Google-Temasek e-Economy Report” พบว่า อุปสรรคการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ส่วนใหญ่ยังคงใช้เงินสดในการทำธุรกรรม ทำให้เกิดแรงเสียดทานและค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ซึ่งสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล ระบบการชำระเงินแบบดิจิทัลที่เป็นระบบเปิดและสามารถทำงานร่วมกันได้ และการไหลเวียนอย่างอิสระ จะช่วยทำให้ผู้บริโภคและธุรกิจทำธุรกรรมข้ามพรมแดนได้อย่างราบรื่น และจะทำให้เกิดการเติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่มคนชั้นกลาง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยมีบัตรเครดิตมาก่อน

กระทบโซเชียลคอมเมิร์ซ

นายสุวิชา นะลิตา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรีเพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการอีเพย์เมนต์เกตเวย์ในเครือของ บมจ.กสท โทรคมนาคม และ SK Telecom กล่าวว่า เบื้องต้นไม่น่าจะเพิ่มภาระหรือต้องลงทุนระบบเพิ่ม

“ที่กระทบโดยตรงน่าจะเป็นกลุ่มผู้ค้าโซเชียลคอมเมิร์ซที่รับเงินผ่านบัญชีส่วนตัว ก็มีโอกาสสูงว่า จะผลักดันให้ผู้ค้ากลุ่มนี้หันไปใช้บริการอีเพย์เมนต์ของต่างประเทศอย่างเพย์พาลมากขึ้น หรือแม้แต่ช่องทางขายของต่างประเทศ”

หันไปใช้ “เงินสด”

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) ผู้ให้บริการ “บี-วอลเลต” กล่าวว่า กฎหมายนี้น่าจะกระทบกับผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดที่มีร้านค้าออนไลน์เป็นฐานลูกค้า ซึ่งอาจจะทำให้ร้านค้าดังกล่าวออกจากระบบไป แล้วหันไปใช้จ่ายด้วยเงินสดแทน แต่ถามว่าจะทำให้สังคมไร้เงินสดไม่เกิดหรือไม่ ก็ตอบยาก เพราะถ้ารัฐเก็บภาษีออนไลน์ทั้งหมด รายเล็กกับผู้ประกอบการไทยจะเหนื่อยเรื่องต้นทุน ร้านค้าอาจจะหนีไปใช้เงินสด ทั้งที่ตอนนี้คนกำลังเปลี่ยนมาใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์

COD จะกลับมาบูมอีกครั้ง

แหล่งข่าวในวงการอีเพย์เมนต์แสดงความเห็นว่า ผู้ให้บริการอีเพย์เมนต์ต่างประเทศไม่ได้รับอานิสงส์จากกฎหมายนี้ เพราะส่วนใหญ่ได้รับใบอนุญาตจาก ธปท.แล้ว ซึ่งเท่ากับต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายนี้ทั้งหมด ยกเว้น อาลีเพย์กับวีแชท ที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต แต่การจะเปิดบัญชีใช้งานได้ค่อนข้างมีข้อจำกัดสำหรับคนต่างชาติ

“ถึงใช้บัญชีเพย์พาล สุดท้ายก็ต้องถอนเงินออกมาระบบโอนไปที่บัญชีธนาคารอยู่ดี ซึ่งผู้ให้บริการก็ต้องรายงานข้อมูล อาจจะไม่เข้าข่ายรับโอนถึง 3,000 ครั้งต่อปี แต่น่าจะเข้าข่าย 400 ครั้งต่อปี ยอดเกิน 2 ล้านบาท”

แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือผู้ค้าอีคอมเมิร์ซ จะหันมาใช้การชำระเงินแบบ “เก็บเงินปลายทาง” (COD : cash on delivery) แทน เพราะถือเป็นแนวทางที่ win-win ทั้งในแง่ของผู้ซื้อที่ยังต้องการ

ความมั่นใจว่า ได้ของแน่ ๆ ถึงจ่ายเงิน และฝั่งผู้ขายที่ต้องการเลี่ยงการตรวจสอบ

“เดิมคนซื้อชอบจะจ่ายเงินแบบ COD อยู่แล้ว แต่คนขายไม่ค่อยยอมให้ใช้ เพราะมีต้นทุนสูง อย่างน้อย 50 บาทต่อธุรกรรม ขณะที่อีเพย์เมนต์ไม่มีค่าธรรมเนียม แต่ถ้ากฎหมายบังคับ เชื่อว่า COD จะกลับมาฮิตอีกครั้ง รวมถึงธุรกิจเมสเซนเจอร์ รับส่งของพร้อมรับชำระเงินสด แต่ราคาสินค้าอาจแพงขึ้น”

ปัจจุบันบริษัทผู้ให้บริการขนส่งรายใหญ่ทั้งไปรษณีย์ไทย Kerry และ DHL e-Commerce หรือน้องใหม่อย่าง Ninja Van ก็มีบริการ COD

กังวลระบบสร้างภาระ

อีกปัญหาหนึ่งที่ผู้ให้บริการอีเพย์เมนต์กำลังกังวล คือ ความชัดเจนเรื่องกระบวนการและขั้นตอนในการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่ง ณ เวลานี้ยังไม่มีความชัดเจน

“ก่อนหน้านี้ ปปง. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) กำหนดให้ผู้ให้บริการอีเพย์เมนต์ต้องรายงานข้อมูลธุรกรรมผิดปกติ แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีระบบอัตโนมัติที่ผู้ให้บริการจะส่งต่อข้อมูลให้กับ ปปง.โดยตรง ต้องพิมพ์สรุปข้อมูลลงกระดาษแล้วส่งให้ ถ้ากฎหมายใหม่ที่จะบังคับใช้ยังเป็นแบบนี้ก็ถือเป็นภาระ”

แจงภาษีอีเพย์เมนต์ไม่จำกัดสิทธิ์

นายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้คาดจะเริ่มมีผลในปีภาษี 2563 ที่เริ่มยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีในปี 2564 โดยข้อมูลที่แบงก์ หรือน็อนแบงก์ ต้องส่งกรมสรรพากร จะเป็นข้อมูลที่มีลักษณะเฉพาะ ดังนี้ 1) บัญชีที่รับเงินเข้าทั้งปีเกิน 400 ครั้ง และรับเงินเข้ารวมแล้วเกิน 2 ล้านบาท และ 2) บัญชีที่มีการรับเงินเข้าทั้งปีตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป ซึ่งคำนวณออกมาแล้วต้องโอนถึงวันละเกือบ 10 ครั้ง

“400 ครั้ง เราจะนับเฉพาะบัญชีในแต่ละแบงก์ (หรือน็อนแบงก์) และดูเฉพาะฝั่งรับเงินโอนเข้า ส่วนกรณีบัญชีร่วมหลายคน ตรงนี้กำลังจะหารือสมาคมธนาคารไทยในเรื่องแนวปฏิบัติ” นายปิ่นสายกล่าวและว่า

ข้อมูลที่แบงก์หรือน็อนแบงก์รายงานดังกล่าว จะมีเพียงแค่ชื่อ นามสกุล จำนวนครั้งที่เงินเข้า และจำนวนเงินเท่านั้น ซึ่งจะรายงานข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดยกรมสรรพากรก็ไม่ได้นำมาตรวจสอบเพื่อเก็บภาษีทันที แต่ยังต้องนำมาประกอบกับข้อมูลอื่น ๆ อีก เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมผู้เสียภาษี จัดกลุ่มผู้เสียภาษี แยกกลุ่มดี กลุ่มเสี่ยง ออกจากกันให้ชัดเจน ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามนโยบายของกรมที่จะทำเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า)

“กรณีมีการระบุว่า กฎหมายดังกล่าวมีเจตนาเก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ หรือ

เอสเอ็มอี ขอยืนยันไม่ได้เจตนาเจาะจงโดยตรง เพราะปัจจุบันใครที่มีเงินได้ถึงเกณฑ์ก็ต้องยื่นแบบ ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว เราทำภาพรวม ไม่ได้เจตนาตรวจสอบใครเป็นพิเศษ” นายปิ่นสายกล่าว

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังเร่งรัดเก็บภาษีธุรกรรมออนไลน์ เนื่องจากทุกวันนี้การค้าขายออนไลน์เติบโตมาก ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยให้สามารถแข่งขันได้ โดยปรับโมเดลธุรกิจให้ไปสู่อีคอมเมิร์ซมากขึ้น และได้สั่งการให้ตั้งเป้าผลักดันเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบอีคอมเมิร์ซให้ได้อย่างน้อย 6 แสนราย ใน 1 ปีข้างหน้านี้

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!