เวฟแรกคลื่น “ดิจิทัล” ไล่ล่าธุรกิจ Reskill “คน” ดันไทย “ทาเลนต์ฮับ”

สัมภาษณ์พิเศษ

พายุเทคโนโลยีไล่ล่าธุรกิจยังคงพัดกระหน่ำเข้าใส่ธุรกิจต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่หนึ่งในอุตสาหกรรมที่กระตือรือร้นในการปรับตัวอย่างยิ่งหนีไม่พ้นธุรกิจการเงิน

ดังจะเห็นได้จากสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่หลายแห่งแข่งกันดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญด้าน “ดิจิทัล” เข้าไปเสริมทีมอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดชื่อ “กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล” กูรูสตาร์ตอัพไทย ผู้ก่อตั้ง Disrupt University โรงเรียนบ่มเพาะสตาร์ตอัพไทยก็เข้าไปอยู่ในนั้นด้วยในฐานะแม่ทัพ บริษัท กสิกร-บิสซิเนส เทคโนโลยี จำกัด หรือ “KBTG”

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับเขาในหลากหลายแง่มุมทั้งที่เกี่ยวกับแวดวงสตาร์ตอัพ เทคโนโลยีดิสรัปชั่น และการปรับตัวของธุรกิจไทย ดังนี้

สตาร์ตอัพยังไปต่อได้

“กระทิง” ฉายภาพว่า วงการสตาร์ตอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเติบโตได้อีกมาก ในไทยก็เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการที่สตาร์ตอัพซีรีส์บีของไทยระดมเงินได้ถึง 19 ล้านเหรียญ และจะไป 20 ล้านเหรียญ ดังนั้น สตาร์ตอัพไทยโตทั้งในแง่เงินระดมทุน และรายได้ บางรายฐานรายได้ 700 ล้านบาท เติบโต 100% ต่อปี และมีกำไรแล้ว สตาร์ตอัพที่โต ๆ ของไทยกำลังจะก้าวข้ามซีรีส์เอไปซีรีส์บี สิ่งสำคัญจากนี้คือ ทำให้สตาร์ตอัพตัวท็อปไปซีรีส์บี หรือ exit ได้ แล้วคนพวกนี้จะได้มาเป็นเมนเตอร์หรือมาทำสตาร์ตอัพใหม่อีกรอบ

ดังนั้น ในปี 2020 เป้าหมายของไทยควรมีบริษัทที่เอ็กซิตได้เกิน 100 ล้านเหรียญ มีขนาดกลางและเล็กเยอะ ๆ เน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ ถ้าทำได้เวฟถัดไปก็ไปต่อได้เอง

ตอนนี้เป็นยุคของซูเปอร์แอปอย่าง แกร็บ โกเจค ไลน์ ที่จะหาสตาร์ตอัพเข้ามาเสริมอีโคซิสเต็ม เขาต้องการล็อกสตาร์ตอัพที่ทำด้านเซอร์วิสไว้กับตัวสตาร์ตอัพไม่ต้องไปหวังแข่งกับแพลตฟอร์มพวกนี้ แต่ควรเข้าไปในอีโคซิสเต็มของเขาอย่าคิดจะไปทำซูเปอร์แอปเอง เรื่องอีคอมเมิร์ซประเภทมาร์เก็ตเพลซด้วยอย่าไปแข่ง เพราะขนาดเจ้าใหญ่จากเกาหลีบางรายยังต้องถอย ถ้าสตาร์ตอัพไทยจะมาเล่นในตลาดนี้ต้องเป็นร้านค้าเฉพาะทาง หรือ vertical หรือมุ่งไป B2B

สำหรับปีที่แล้วเป็นยุคของการทำ CVC (corporate venture capital) ปีนี้เป็นปีที่องค์กรต่าง ๆ เข้าไปพาร์ตเนอร์กับสตาร์ตอัพ และปีหน้าจะเห็นความร่วมมือชัดเจนยิ่งขึ้น ขณะที่ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิทัลในปีหน้าชัดเจนว่าจะเกิดกับธุรกิจค้าปลีก ซึ่งน่าเป็นห่วงผู้ประกอบการในระดับเอสเอ็มอี เพราะผู้บริโภคจะหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยเจ้าใหญ่มีทั้งโปรโมชั่น “ราคา” และการขนส่ง (โลจิสติกส์) ทำให้รายเล็กอยู่ได้ยาก แม้แต่ร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่นยังมีบริการส่งสินค้าถึงบ้าน เป็นต้น

ปีหน้า “ค้าปลีก” เผชิญศึกหนัก

“เมื่อรีเทลโดนดิสรัปต์ ต่อไปจะขยับมาที่เพย์เมนต์, ฟินเทค, โลจิสติกส์ก็จะปรับตาม และในปีสองปีนี้ ธุรกิจประกัน (อินชัวรันซ์) และที่เกี่ยวกับสุขภาพ (เฮลท์) จะโดนดิสรัปชั่น เฮลท์เทคจะมา โดยจะเห็นว่าโรงพยาบาลลงทุนในสตาร์ตอัพ ขณะที่ประกันจะเริ่มมีเรื่องสุขภาพเข้ามาช่วย ในอินชัวรันซ์ที่จะกระทบก่อนคือ ตัวแทนขายประกันและโบรกเกอร์”

ในมุมมองของกระทิง ธุรกิจธนาคารยังพอมีเวลาที่จะปรับตนเอง แต่ทุกบริษัทรู้ดีว่าท้ายที่สุดจะเหลือผู้เล่นไม่กี่ราย ที่มีมาร์เก็ตแชร์จำนวนมากทำให้ทุกแบงก์ต้องปรับตัว ซึ่งก็ถือว่าพอสู้ได้กับแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ ที่เข้ามาแข่ง

“แบงก์ไทยปรับตัวเร็ว มีการเตรียมพร้อม ทั้งมีความมั่นใจของผู้ใช้ แต่ต่อไปผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะเป็นเหมือนแบงก์ได้ สุดท้าย “ดิสรัปชั่นเวฟแรก” จะจบด้วย “เอไอ” ภายในปี 2025 ที่บริการดิจิทัลเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคน ส่วนเวฟต่อไปจะเป็นเรื่องไบโอเทคและฟู้ดเทค ซึ่งว่ากันว่าจะใหญ่กว่าอินเทอร์เน็ตถึง 4 เท่า ตอนนี้มีการนำผักมาทำเป็นเนื้อสัตว์ได้ เริ่มมีการวิเคราะห์องค์ประกอบของไวน์และทำเลียนแบบได้แล้ว”

อย่างไรก็ตาม เทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “กระทิง” บอกว่า ธุรกิจใหญ่ของไทยปรับตัวเร็วมาก ที่ผ่านมามีการทำ CVC แอ็กทีฟสุดในภูมิภาคนี้ เพราะต่างกลัว

และเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับธุรกิจสื่อที่เร็วและแรงมาก จึงเกิดกระแสตื่นตัว โดยผู้นำองค์กรรับรู้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเปลี่ยนแปลงรวดเร็วแบบปีต่อปี และทำให้อายุของบริษัทสั้นลงเรื่อย ๆ

อีก 7 ปี เครื่องจักรแทนคน 52%

“กระทิง” กล่าวต่อว่า มีการคาดการณ์ด้วยว่า ภายในปี 2025 เครื่องจักรจะเริ่มทำงานแทนคนคิดเป็นสัดส่วนกว่า 52% หมายความว่า “เครื่องจักร” จะเติบโตก้าวกระโดดมากในอีก 7 ปีข้างหน้า

“ชนชั้นกลางจะหายไปเหลือแต่ชนชั้นบนและชนชั้นล่าง เวฟถัดจากไบโอเอ็นจิเนียริ่งไป จะมีแต่ซูเปอร์ฮิวแมนที่อยู่ระดับบน และต่อไปจะดิสรัปต์ความเป็นมนุษย์ เวฟที่ 3 จะเป็นยุคที่ปรับสมดุลสภาพแวดล้อมของโลก ตอนนี้ไทยเข้าใกล้สังคมผู้สูงวัย ทำให้การเปลี่ยนยาก อย่างเกาหลีใต้เป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ทำให้ผู้สูงอายุไม่มีเงินเพราะปรับตัวไม่ได้ วัยรุ่นก็ไม่เลี้ยงดู ดังนั้นดิสรัปชั่นไม่ได้มาเปลี่ยนแค่ระบบเศรษฐกิจ แต่มาเปลี่ยนวิถีชีวิต และสายใยแห่งสังคมไปด้วย”

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจะทำให้ “คน” หันกลับมาใส่ใจเรื่องการดูแลสุขภาพ “กาย และใจ” มากขึ้น ทำให้สตาร์ตอัพด้าน wellness จะได้รับความสนใจ คาดว่าในอนาคตจะมีมูลค่า 20,000-30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในตลาดโลก และในอาเซียนมีมูลค่า 2,000-3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่นในต่างประเทศ แอปพลิเคชั่นสำหรับนั่งสมาธิ เริ่มได้รับความนิยม เป็นต้น

“ไทยควรทำอะไรที่ลึก และเป็นตัวตนของเรา เพราะทุกวันนี้มีแต่ฝรั่งที่มองเห็นแล้วเอาของไทยไปต่อยอด ให้คนไทยไปทำเอไอก็คงสู้จีนไม่ได้ เพราะเขามีข้อมูลมหาศาล ดาต้าไซแอนทิสต์ก็มีเยอะ หรือทำโดรนก็คงสู้จีนไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น ควรทำอะไรที่เป็นจุดแข็งของเรา นี่เป็นสิ่งที่ตกผลึกหลังจากทำสตาร์ตอัพมา 5 ปี คือ อย่าไปคิดอะไรที่คนไม่เคยทำ แต่ให้คิดต่อยอดจากที่คนทำแล้ว”

เร่งพัฒนาทักษะ “คน” รับมือ

สำหรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 กูรูสตาร์ตอัพไทยมองว่า “มาถูกทาง” และอาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่เคยขาดวิสัยทัศน์ แต่ปัญหาคือ “ไม่ได้ปฏิบัติจริง” ดังนั้น ทางรอดไทย คือ การเร่งพัฒนาความรู้ และทักษะใหม่ ๆ (reskill) เพราะการทำงานในอนาคตข้างหน้าจะไม่เหมือนในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ดังนั้น สิ่งจำเป็นที่สุด คือ “รีสกิล” และการเฟ้นหาบุคลากรที่มีความสามารถตรงกับธุรกิจต่าง ๆ ต้องการ

“บุคลากรดิจิทัลยังขาดแคลน ที่ทำได้คือดึงต่างชาติเข้ามา รัฐบาลเองก็พยายามทำเรื่องสมาร์ทวีซ่า ซึ่งต้องชื่นชม ในระยะสั้นคงแก้อะไรไม่ได้อาจดึงคนในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเอ็นจิเนียร์เวียดนาม พม่าก็ใช้ได้ และพูดภาษาอังกฤษได้ สิ่งที่อยากเห็นคือสร้างให้ไทยเป็นทาเลนต์ฮับ เพื่อเพิ่มคนในระยะยาว ประเทศไทยสร้างได้แน่นอน ตอนนี้ถ้าทำก็ยังทัน เพราะนักพัฒนาซอฟต์แวร์, นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลต่อให้ผลิตมาได้ปีละหมื่นคนก็ไม่พอ วิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาในระยะกลางถึงยาวได้ ภาครัฐทำได้โดยการสร้างอีโคซิสเต็มเอื้อให้เกิดแล้วให้เอกชนเป็นผู้ทำ”

แนะนำสตาร์ตอัพรุ่นใหม่

ในฐานะกูรูสตาร์ตอัพ เขายังฝากข้อคิดถึงสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ว่า ต้อง “โฟกัส” อย่าขี่ช้างจับตั๊กแตน อย่าทำอะไรตามกระแส”ควรโฟกัสที่ปัญหา ที่โปรดักต์ที่องค์กรใหญ่ไม่ตอบโจทย์คนรุ่นเรา อย่างในต่างประเทศสตาร์ตอัพเกิดจากปัญหาของตนเอง และเพื่อน ๆ ดังนั้น สตาร์ตอัพต้องโฟกัสที่เพนพอยต์ที่โดนเพิกเฉยไม่ต้องคิดอะไรไกลมาก เพราะบางไอเดียที่ล้มเหลวอาจเพราะทำจังหวะเวลาไม่ดี มาทำตอนนี้อาจจะใช้ได้แล้วก็ได้ ดังนั้น อย่าทำสตาร์ตอัพตามกระแส อย่าทำเพราะแฟชั่น เด็กรุ่นใหม่ตอนนี้หันมาเป็นสตาร์ตอัพน้อยลง เพราะเห็นความเป็นจริงแล้วว่ามันไม่ง่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ดีกว่าให้คนที่ไม่พร้อมมาเป็นสตาร์ตอัพ”

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!