YouTube เวทีทำเงิน ? ส่องอาชีพในฝันที่มัน…ไม่หมู

การหารายได้จาก YouTube หรือการเป็น YouTuber กลายเป็นอาชีพในฝันของเด็กรุ่นใหม่ ที่ตั้งเป้าจะสร้างคลิปวิดีโอจากสิ่งที่รักพร้อมกับสร้างรายได้เลี้ยงชีพ หลุดพ้นจากกรอบของมนุษย์เงินเดือนแบบคนยุคเก่า

โดยใช้โอกาสจากแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง YouTube ที่มีผู้ใช้งานต่อวันกว่า 1,900 ล้านคน หรือกว่าครึ่งของประชากรอินเทอร์เน็ตทั่วโลก

หลายคนประเมินว่า ไม่ไกลเกินเอื้อม ยิ่งเมื่อล่าสุดในการจัดอันดับ Youtuber ที่ทำรายได้สูงสุดในปี 2561 ของ “ฟอร์บส” ปรากฏว่า “Ryan ToysReview” ของเด็กน้อย Ryan อายุแค่ 7 ขวบ เป็นช่อง YouTube ที่มีรายได้สูงสุด ถึง 22 ล้านเหรียญสหรัฐ (726 ล้านบาท) จากยอดผู้กดติดตาม 17 กว่าล้านคน ยอดผู้เข้าชมวิดีโอรวมกันกว่า 26 พันล้านวิว ซึ่งรายได้ทั้งหมดโตกว่าปีก่อนถึง 2 เท่า

แต่การจะสร้างรายได้ “จริงจัง” ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แม้จะมีโอกาสได้ทั้งส่วนแบ่งรายได้จาก YouTube และการหารายได้จากโฆษณาหรือรีวิวสินค้า แต่ตามกติกาที่ YouTube นำมาใช้เมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา Channel ที่มีสิทธิ์รับส่วนแบ่งรายได้ ต้องมียอดคนดูรวมทั้งหมดถึง 4,000 ชั่วโมง ภายใน 12 เดือนที่ผ่านมา และต้องมีผู้กดติดตาม (subscribers) 1,000 คนขึ้นไปด้วย

ขณะที่งานวิจัยของ “Mathias Bartl” ศาสตราจารย์ของ Offenburg University of Applied Sciences ใน Offenburg ประเทศเยอรมนี พบว่า แม้จะมี YouTuber เกิดขึ้นมากมาย และจากการสำรวจพบว่า 34% ของเด็กอายุ 6-17 ปีอยากจะมีอาชีพเป็น YouTuber

แต่ในความเป็นจริงแล้ว 96.5% ของ YouTuber ไม่สามารถสร้างรายได้จากอาชีพนี้ได้เกิน เส้นแบ่งความยากจนของสหรัฐอเมริกาในกลุ่มคนโสดที่ 12,140 เหรียญสหรัฐ (3.31 แสนบาท) ต่อปี ขณะที่การฝ่าด่านเพื่อขึ้นไปอยู่ในกลุ่ม YouTuber 3% ที่มีรายได้เกิน 16,800 เหรียญสหรัฐ (5.51 แสนบาท) พบว่ามีอุปสรรคมากขึ้นตั้งแต่ปี 2549 เนื่องจากเกิดการช่วงชิง “ผู้ชม” ที่ดุเดือดมากขึ้น

ทั้งงานวิจัยชิ้นเดียวกันยังระบุว่า ค่าโฆษณาที่ YouTube จ่ายให้กับ เจ้าของช่องแต่ละรายนั้นมีอัตราแตกต่างกัน โดย YouTube จะหักรายได้จากค่าโฆษณาไว้ 32% ที่เหลือจะแบ่งให้กับเจ้าของช่อง ซึ่งอัตราของต่างประเทศ เฉลี่ยช่องจะได้ 3-5 เหรียญสหรัฐต่อการดูวิดีโอ 1,000 ครั้งแต่สำหรับช่องไทย แหล่งข่าวในวงการ YouTuber เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า YouTuber ต่างประเทศมักโชว์ข้อมูลรายได้ให้กับแฟนคลับเห็น ซึ่งทำให้ทราบว่าต่อให้ยอดการดูเท่ากัน แต่ส่วนแบ่งที่ช่องไทยได้รับก็จะน้อยกว่า ตามกลุ่มผู้ชมแตกต่างกัน แต่ด้วยกฎของ YouTube ในไทยที่ “ห้ามเปิดเผยรายได้” ทำให้ไม่มีตัวเลขทางการว่า ต่างกันมากน้อยแค่ไหนกับช่องต่างประเทศ เพราะปกติก็มีหลายตัวแปรที่ทำให้อัตราส่วนแบ่งรายได้แต่ละช่องต่างกัน

“หลายช่องจึงพยายามจะเข้าถึงคนดูในต่างประเทศมากขึ้น เพราะอัตราค่าโฆษณาจะสูงกว่าที่คนไทยดู แต่หมายถึงต้องดึงคนดูสู้กับช่องต่างชาติด้วย”

และคนอยู่ในวงการมานานจะเห็นได้ชัดว่า ด้วยกฎใหม่ ๆ ที่ออกมา หากมุ่งแต่ตลาดคนดูคนไทย แม้ยอดคนดูคลิปจะเพิ่มขึ้น แต่ยอดรายได้กลับลดลง

“การหารายได้จาก YouTube จึงไม่ได้อู้ฟู่เหมือน 2-3 ปีก่อนแล้ว ที่บอกว่า 1 ล้านวิวจะได้ส่วนแบ่งกว่า 10,000 บาท ตอนนี้ได้สัก 8,000 บาทก็เก่งแล้ว และก็ไม่ใช่จะได้เรตนั้นทุกคน ตอนนี้กลายเป็นว่ารายได้หลักของช่องมาจากการรับรีวิวให้กับแบรนด์สินค้าต่าง ๆ มากกว่า แต่ถ้ารับรีวิวมากคนดูก็เบื่ออีก”

สอดคล้องกับข้อมูลรายได้ของ “Ryan ToysReview” ที่ระบุว่า รายได้ 22 ล้านเหรียญสหรัฐมาจากการดูยอดโฆษณาก่อนเข้าคลิปเพียง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่เหลือเป็นรายได้จากการผลิตคลิปวิดีโอที่แบรนด์สปอนเซอร์จ้าง

อาจจะมีข้อสงสัยว่ารายได้จาก YouTube ของดารานักร้องดังที่ทำช่อง Official จะต่างกับคนทั่วไปหรือไม่ แหล่งข่าวในค่ายเพลงดังของไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ส่วนแบ่งรายได้จาก YouTube ที่ค่ายเพลงได้รับจะถูกแบ่งสัดส่วน ให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักแต่งเพลง นักร้อง นักดนตรี ซึ่งไม่ได้ “แบ่งเกรด” หรือระดับความดัง ทุกคนจะได้ในเปอร์เซ็นต์ที่เท่ากันทั้งหมดตามสายงานของตัวเอง

“เฉลี่ยแล้วสำหรับนักร้องในค่ายนี้ ถ้ายอด YouTube ถึง 1 ล้านวิว จะได้ส่วนแบ่ง 10,000 บาท”

ขณะที่ “กีรติ กีรติชีวนันท์” เจ้าของช่อง BossKerati ระบุว่า “รายได้จาก YouTube อย่างเดียวไม่ยั่งยืน” ซึ่งการได้เข้าร่วมโครงการ “YouTube NextUp” ที่ทาง YouTube จัดขึ้น โดยคัดเลือก 12 ครีเอเตอร์ที่มีผู้ติดตามเกิน 10,000 คน แต่ไม่ถึง 100,000 คน เข้ามาร่วมอบรมสร้างพื้นฐานในการผลิตวิดีโอคอนเทนต์ ก็ช่วยสอนให้หารายได้จากช่องทางอื่นเพิ่มเติมด้วย ซึ่งตอนนี้รายได้ของช่อง 95% มาจากแบรนด์ ที่เหลือมาจากค่าโฆษณาที่แบ่งกับ YouTube

“ในไทยการที่จะอยู่ด้วยส่วนแบ่งโฆษณามันยากมาก เพราะมีผู้ชมแค่ 70 ล้านคน บางคนจึงเลือกอัดเป็น 10 โฆษณา เขาก็อาจจะอยู่ได้ แต่เราเลือกอยู่ได้โดย tie in ดีกว่า ที่ YouTuber ต่างประเทศเขาสามารถอยู่ได้จากโฆษณาเพราะฐานคนดูเขาทั่วโลก”

สำหรับช่อง BossKerati ทำมาแล้ว 4 ปี โดย 3 ปีแรกทำงานประจำควบคู่ไปกับการสร้างคลิปวิดีโอ แต่ปีที่ 4 เริ่มออกมาทำเต็มตัว

“วงการนี้ไม่ใช่ว่าอยู่นานแล้วจะแข็งแรง เพราะถูกแซงจากครีเอเตอร์รุ่นใหม่ ๆ ได้ตลอด ดังนั้น ต้องพยายามคิดคอนเทนต์ ให้คนดูมาก่อนเสมอ อย่าเพิ่งคิดถึงรายได้ และต้องคิดเสมอว่าคนดูต้องได้อะไรไปสักอย่าง ไม่ใช่ความรู้ก็ต้องเป็นความสนุกสนาน”

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!