2561 ปีทองอีคอมเมิร์ซ หนุน e-Economy เติบโต

เศรษฐกิจดิจิทัล คือ New S-curve ใหม่ที่รัฐบาลไทยพยายามผลักดัน สถานะปัจจุบันเป็นอย่างไร

“e-Economy SEA 2018 : Southeast Asia’s Internet Economy Reaches an Inflection Point” โดยความร่วมมือของ Google และ Temasek ได้ฉายภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เบน คิง” หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ กูเกิล ประเทศไทย ระบุว่า ปี 2561 มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งอาเซียนอยู่ที่ 7.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และจะเพิ่มเป็น 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2568 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดในปี 2558 อีก 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจาก 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ อีคอมเมิร์ซ, สื่อออนไลน์, บริการร่วมเดินทาง และการท่องเที่ยวออนไลน์ เติบโตเร็วกว่าที่คาดไว้ ทั้งยังมีธุรกิจใหม่อย่างบริการจองที่พักออนไลน์ บริการส่งอาหาร และบริการสตรีมมิ่งทั้งเพลงและวิดีโอเข้ามาช่วยหนุน

ขณะที่ประเทศไทยคาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลมีมูลค่า 4.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย โดยโตขึ้นจากปี 2558 ถึง 7 เท่า เฉลี่ย 27% ต่อปี แต่ยังมีสัดส่วนแค่ 2.7% ของ GDP ซึ่งต่ำกว่าจีน และสหรัฐอเมริกา (6.5% ในปี 2559) จึงยังมีโอกาสมหาศาลในการเติบโต

โดย “อีคอมเมิร์ซ” เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน จากมูลค่าการซื้อขายบนมาร์เก็ตเพลซถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ มากเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย ที่มีมูลค่า 1.22 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ไทยเติบโต 49% สูงเป็นอันดับ 3 ส่วนอินโดนีเซียโตถึง 94% เวียดนาม 87% ตามลำดับ ทั้งยังคาดว่าในปี 2568 จะมีมูลค่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากมีผู้เล่นรายใหญ่เข้ามาแล้ว ทั้งลาซาด้า, ช้อปปี้ และโทโกพีเดีย ซึ่งมีสัดส่วนถึง 70% ของตลาดการซื้อสินค้าออนไลน์ที่มีมูลค่าถึง 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งระบบโลจิสติกส์และเพย์เมนต์ก็มีความพร้อม “ออนไลน์มีเดีย” ในไทยเติบโตสูงใน 4 กลุ่ม คือ โฆษณาออนไลน์, เกม, วิดีโอออนดีมานด์, มิวสิกสตรีมมิ่ง โดยผู้ใช้และครีเอเตอร์ที่มีมากขึ้นเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ปัจจุบันมูลค่าตลาด 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เฉลี่ยโต 44% ต่อปี และคาดว่าปี 2568 จะขยับไปถึง7 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ “ท่องเที่ยวออนไลน์” ไทยเป็นที่ 2 ของอาเซียน ถือว่า “อิ่มตัว” เพราะมีขนาดใหญ่อยู่แล้ว มูลค่า 6.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โตเฉลี่ย 18%

ส่วน “บริการร่วมเดินทาง” ในไทย มีมูลค่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ โตเฉลี่ย 22% คาดจะอยู่ที่ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2568

“อาเซียนปลดล็อกการลงทุนจะเร็วกว่าที่คิด แค่ 6 เดือนแรกปี 2561 มีการลงทุนถึง 9.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับทั้งปี 2560 โดยฟินเทคระดมทุนได้มากที่สุด เฉพาะครึ่งปีแรกได้กว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ และแม้เงินทุนจะยังกระจุกในสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์น แต่โดยรวมแล้วระบบนิเวศสตาร์ตอัพของอาเซียนกำลังดึงดูดนักลงทุนเป็นอย่างมาก 1 ใน 3 ของเงินทุนที่ระดมได้ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ปี 2558 ได้กระจายไปยังกว่า 2,000 บริษัทรายเล็ก จึงเป็นช่วงที่ดีที่จะเป็นสตาร์ตอัพ เพราะว่าเงินลงทุนในภูมิภาคเติบโตกว่าที่ต้องการ”

ในประเทศไทยมีปัจจัยบวกจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อินฟราสตรักเจอร์ที่มีความพร้อม โดยเฉพาะราคาอินเทอร์เน็ตที่ถูกลง แต่ถ้าเทียบกับประเทศอื่นยังแพงกว่าเล็กน้อย

ปัญหาของไทยและอาเซียนยังเป็นเรื่องความสามารถของบุคลากร ถ้าแก้ได้จะปลดล็อกการโตของดิจิทัลได้

ปัจจุบันคนในอาเซียนมีคนทำงานในองค์กรดิจิทัล 1 แสนคน คาดว่าปี 2568 จะเพิ่มเป็น 2 แสนคน คิดเป็นไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมด

ขณะที่กำลังคนที่มีทักษะด้านดิจิทัลในภูมิภาคจำเป็นต้องขยายตัวเพิ่มขึ้นปีละ 10% เพื่อหนุนการเติบโตของธุรกิจในท้องถิ่น

“รัฐบาลต้องลงทุนในการฝึกอบรมให้ประชาชนมีทักษะที่เหมาะสมสำหรับระบบเศรษฐกิจดิจิทัล Google จะช่วยสนับสนุนการจัดอบรมทักษะให้พนักงาน SMEs 3 ล้านคน ใน 10 ประเทศอาเซียน ภายในปี 2563”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!