Internet of Things จุดเปลี่ยนถัดไปของยุคดิจิทัล

กระแสดิจิทัลดิสรัปต์เป็นสิ่งที่ทั่วโลกตื่นตัว และบนเวทีสัมมนา “เชียงใหม่ 2019 Smart Economy Smart City ก้าวใหม่สู่อนาคตที่มั่นคง” ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อนก็ถูกหยิบยกมาย้ำให้เห็นภาพที่ชัดเจน โดย “ปรัธนา ลีลพนัง” หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กล่าวว่า ในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคม ข้อมูลที่ได้เห็นวันนี้ในประเทศไทยมีประชากร 67- 69 ล้านคน

แต่มีคนใช้อินเทอร์เน็ต 67% หรือราว 46 ล้านคน มากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก แต่ที่สำคัญคือ มีการใช้ชั่วโมงต่ออินเทอร์เน็ตต่อวันต่อคนอาจจะสูงที่สุด 10.8 ชั่วโมง/วัน เฉพาะลูกค้าของเอไอเอสใน 2 ปีที่ผ่านมา มียอดใช้สูงขึ้นถึง 3 เท่า จาก 3.8 GB เป็น 11 GB ต่อเดือน เช่นเดียวกับจำนวนผู้ที่ดูทีวีผ่านโทรศัพท์มือถือมีถึง 41-42 ล้านคน นี่คือภาพที่เห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเชื่อมต่อสิ่งต่าง ๆ

กว่า 1.2 ล้านชิ้น อาทิ ตู้ ATM ที่ใช้ซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่เชื่อมกับระบบส่วนกลางแทนการลากสายโทรศัพท์ มิเตอร์ไฟฟ้า ในหลายพื้นที่มีการส่งข้อมูลผ่านโครงข่ายโมบายแล้ว เพียงแต่อาจเห็นไม่ชัดเพราะซ่อนอยู่ในระบบหลังบ้านของแต่ละบริการ

“โมบายอินเทอร์เน็ตเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ทำให้บางธุรกิจหายไป แต่หลายธุรกิจก็เกิดขึ้น ด้วยการเติบโตและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง อาทิ บริการเช่าวิดีโอ Blockbuster หรือแม้แต่แบล็คเบอร์รี่ที่เป็นโทรศัพท์ที่ได้รับความนิยมมากเมื่อเร็ว ๆ นี้ ปัจจุบันก็หายไปแล้ว แต่ AirBNB บริการห้องพักที่ไม่มีห้องพักของตัวเองเลย มีมูลค่าบริษัทสูงมาก บริการให้เช่าคอนเทนต์ผ่านอินเทอร์เน็ตอย่าง Netflix ที่ได้จังหวะจากการเปลี่ยนจากวิดีโอมาเป็นสตรีมมิ่ง รวมไปถึง YouTube Facebook Line ที่ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่มากมาย และทำให้ใครก็ได้สามารถเปิดธุรกิจของตัวเองได้บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมถึงบริการใหม่ ๆ ที่พึ่งพาความสามารถในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต และนวัตกรรมใหม่ ๆ”

ขณะที่ IOT (internet of things) อินเทอร์เน็ตของทุกสรรพสิ่ง จะเป็นคลื่นถัดไปที่จะกระทบกับอุตสาหกรรมทั้งโลก กลายเป็นหลักในการเปลี่ยนอนาคต ซึ่งคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีอุปกรณ์ที่ไม่ใช่โทรศัพท์มือถือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากถึง 3 เท่า ทั้งมาพร้อมกับเทรนด์ใหม่ คือ การนำข้อมูลที่มีมหาศาลมาประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ที่มีความฉลาด และผนวกกันจนเป็นเรื่องใหม่ ๆ ที่ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ซึ่งเชียงใหม่ก็เป็นหนึ่งในจังหวัดต้นแบบ ต่อไปอาจจะได้เห็นการเชื่อมต่ออุปกรณ์กับอินเทอร์เน็ตมากถึง 1 ล้านชิ้นในพื้นที่ 1 ตร.กม.

“หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ลงทุนอย่างมากในเทคโนโลยีนี้ อย่างกูเกิลลงทุนกว่า 3 พันล้านเหรียญ ซื้อบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ในบ้านที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ เพื่อขยายเข้าไปในบ้านคน ไมโครซอฟท์ลงทุนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อการนี้ รวมถึงหลายประเทศที่ทุ่มเงินเพื่อแข่งกันเป็นผู้นำ IOT อย่าง 5G ที่เอไอเอสเริ่มทดสอบแล้ว ก็ได้เห็นว่ากำลังมาแน่ ๆ แม้อาจจะไม่ใช่ปีหน้า แต่ใกล้แล้ว”

ขณะที่เอไอเอสได้เตรียมแพลตฟอร์ม IOT ด้วยการสร้างโครงข่ายทั้ง 4G และ NB-IOT ที่จะรองรับอุปกรณ์เชื่อมต่อ ซึ่งจะเชื่อมต่อกับระบบประมวลผลขนาดใหญ่ พร้อมที่จะรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงสร้าง AIS IOT Alliance Program ที่ร่วมกับกระทรวงดีอี กสทช. ภาคการศึกษา และอุตสาหกรรม ซึ่งมีพันธมิตรกว่า 71 ราย เพื่อการพัฒนาร่วมกันโดยอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะ ให้เกิดบริการที่เพิ่มมูลค่า สร้างความสะดวกสบาย รวมถึงลดต้นทุน ซึ่งเริ่มนำไปใช้จริงแล้วในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะสมาร์ทซิตี้ เฮลท์แคร์ หรือในระบบส่งก๊าซธรรมชาติที่ร่วมกับ ปตท. ที่มอนิเตอร์ได้แบบเรียลไทม์

“การสร้างเครือข่าย เอไอเอสลงทุนได้ แต่การพัฒนาเพื่อรองรับการใช้งานในแต่ละภาคอุตสาหกรรม ต้องเป็นการพัฒนาร่วมโดยอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะ โดยมีเน็ตเวิร์กของเอไอเอสเป็นหลักในการช่วยให้ไทยสู่สมาร์ทอีโคโนมีได้ ด้วยการเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!