“ทรัพย์สินทางปัญญา” แต้มต่อธุรกิจยุคดิจิทัล

การก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ยั่งยืน “ทรัพย์สินทางปัญญา” คืออีกหัวใจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อน เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ได้จัดเสวนา “ทำอย่างไรให้ทรัพย์สินทางปัญญากลายเป็นทุนที่มีมูลค่า” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญในวงการธุรกิจมาให้คำแนะนำ

“ยิ่งยง ตันธนพงศ์พันธุ์” ที่ปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานเทคโนโลยี บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) เปิดเผยว่า ทรัพย์สินทางปัญญา หรือ IP (intellectual property) ที่สำคัญมี 4 ประเภท ได้แก่ 1.สิทธิบัตร (patent) คือ สิทธิ์ผูกขาดของนวัตกรรมนั้น ๆ ระยะเวลาคุ้มครองประมาณ 10-20 ปี โดยการขอต้องผ่านหลักเกณฑ์หลายข้อ เช่น ความใหม่ สามารถประยุกต์ใช้ในเชิงอุตสาหกรรม

2.ความลับทางการค้า (trade secret) เป็นสิ่งที่เป็นความลับ สิ่งที่ทำให้ได้เปรียบเหนือคู่แข่ง เช่น สูตรผสมเครื่องดื่มของ Coke และต้องมีระบบจัดเก็บด้วย

3.ลิขสิทธิ์ (copyright) เช่น ผลงานเพลง วรรณกรรม งานเขียน ผลงานที่สร้างสรรค์ โดยจะคุ้มครองจนกว่าจะเสียชีวิต และคุ้มครองหลังเสียชีวิตอีก 50 ปี

4.เครื่องหมายการค้า (trademark) เช่น โลโก้หรือข้อความ ปัจจุบันคุ้มครองไปจนถึงรูปแบบการตกแต่งร้าน

ช่วงปี 2518 มูลค่าธุรกิจ 83% มาจากทรัพย์สินที่จับต้องได้เป็นหลัก (tangible assets) เช่น ที่ดิน เครื่องจักร อาคาร แต่ในปัจจุบัน 87% มาจากทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (intangible asset) เช่น IP

“ฟิลิปส์ เป็นบริษัทที่สร้างรายได้จากสิทธิบัตรเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แค่เฉพาะสิทธิบัตรหน้าจอ LED ก็มีมหาศาล มีกว่า 700 บริษัทใช้ไลเซนส์นี้ ทำให้เห็นชัดว่าการมีสิทธิบัตรเยอะเป็นข้อได้เปรียบ แม้ว่าบริษัทจะเจ๊ง แต่ยังขายลิขสิทธิ์ได้ การทำธุรกิจต้องสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง การเร่งสร้าง IP จึงเป็นการสร้างรายได้ในระยะยาว”

ปัจจุบันประเทศไทยมีสถิติการจด IP เป็นอันดับที่ 40 ของโลก เติบโต 67.6% จากอันดับที่ 54 ในปี 2559 ขณะที่ประเทศจีนยังคงเป็นที่ 1 ติดต่อกัน 7 ปี มี 1.38 ล้านฉบับ คิดเป็น 40% ของโลก ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา 6.06 แสนฉบับ ญี่ปุ่น 3.18 แสนฉบับ เกาหลีใต้ 2.04 แสนฉบับ และสหภาพยุโรป 1.66 แสนฉบับ

เมื่อก่อนจีนเป็นประเทศที่ล้าหลังกว่าไทย แต่ปัจจุบันประเทศจีนมีบริษัทชั้นนำจำนวนมาก เช่น หัวเว่ย, เสียวหมี่ จนตอนนี้ก้าวไปสู่การเป็นเจ้าของ IP เป็นผู้ถือเทคโนโลยีในมือไปฟ้องร้องคนอื่น จากที่เมื่อก่อนเป็นผู้ที่ก๊อบปี้เทคโนโลยีคนอื่น ดังนั้นจะเห็นว่าแม้แต่ประเทศจีนตอนนี้ก็ให้ความสำคัญกับ IP

ในส่วนของการประเมินมูลค่าของบริษัทนอกเหนือจาก IP แล้วยังต้องมีองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ, market data/network, มีแบรนดิ้ง ดังนั้น ไม่ใช่แค่ IP ที่ต้องนำมาประเมินมูลค่า แต่ต้องนำหลาย ๆ ส่วนมาประกอบ และต้องคิดไว้เสมอว่า สิ่งที่ลงทุนไปเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่มูลค่าทั้งหมดที่มี ปัจจุบันทั่วโลกมีตลาดในการขายสิทธิบัตร มีตลาดแลกเปลี่ยนสิทธิบัตร ตอนนี้นักลงทุนก็จะหันมาประเมินทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น ซึ่งทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาพยายามจะทำให้เกิดขึ้น โดยกำลังทำคู่มือประเมินมูลค่าอยู่ ดังนั้น ถ้าบริษัทที่มีทรัพย์สินทางปัญญา ก็จะสามารถนำไปยื่นขอเงินกู้ หรือมีนักลงทุนที่สนใจมาลงทุนได้

“ก่อนจะประเมินว่า IP มีมูลค่าอย่างไร ต้องดูก่อนเลยว่ามีความพรีเมี่ยมอย่างไร เช่น แอปเปิลที่สามารถตั้งราคาขายได้สูงกว่าคู่แข่งและสร้างมาร์เก็ตแชร์ในตลาดอย่างไร ช่วยสร้างมาร์เก็ตแชร์

ได้มากกว่าคู่แข่งอย่างไร ถ้า IP ยังไม่สามารถตอบโจทย์ 2 ส่วนนี้ได้ ถึงสามารถตีมูลค่าได้”

โดยการตีมูลค่าอาจจะต้องดูราคากลางในตลาด, การสร้างรายได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในไทยอาจจะทำได้ยาก เพราะตลาดซื้อขายไม่ค่อยมี ทำให้เปรียบเทียบยาก ดังนั้น การประเมินจากรายได้ในอนาคตจะนิยมมากกว่า โดยใช้กว่า 80-90% ของการประเมิน ซึ่งการประเมินนี้ก็จะมีหลายปัจจัยรวมกัน ทั้งการตกลงของผู้ซื้อผู้ขาย การใส่แฟกเตอร์ต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ ที่สร้างแล้วแต่ยังไม่ฉาย โดยอาจจะประเมินจากความสำเร็จของผู้สร้าง แต่คนซื้อก็มีสิทธิ์ต่อรอง

ด้าน “ดร.ชวลิต กมลสถิตกุล” ผู้จัดการทรัพย์สินทางปัญญา SCG กล่าวเสริมว่า การประเมินมูลค่าต้องดูจากทั้งการทำโมเดลธุรกิจ รายได้เบื้องต้น ต้นทุน กำไร แผนอนาคต 5 ปี ค่าความภักดีต่อแบรนด์ของลูกค้า (loyalty rate) เช่น Coca-Cola ที่สามารถขายแพงกว่าบริษัทน้ำรายอื่น เพราะมีแบรนดิ้ง มีสูตรลับ มีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค แพ็กเกจจิ้ง ซึ่งทั้งหมดคือ intangible asset

แล้วเทียบกับแบรนด์ที่ไม่มีชื่อ จากนั้นดูจากยอดขายปริมาณ ดูปริมาณผู้บริโภค เพื่อประเมินรายได้ในอนาคต หาเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ มีการวัดจากต้นทุน และประเมินความเสี่ยงของบริษัทเป็นส่วนลด ดังนั้น การซื้อขาย IP เป็นเหมือนการทำ forecasting อย่างไรก็ตาม การหามูลค่าของ IP หรือบริษัทอาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเภทของธุรกิจ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!