ไปโดน “โดรน-DJI” มาวิค ซีรีส์ 2 รุ่นใหม่

กลายเป็นแก็ดเจตที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วสำหรับ “โดรน” หรือในชื่อทางการ “อากาศยานไร้คนขับ” ทั้งในกลุ่มผู้ใช้ทั่วไป และมืออาชีพในหลากหลายวงการ เพราะยังนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายทั้งการเกษตร และขนส่งDJI (ดีเจไอ) หนึ่งในผู้ผลิต “โดรน” จัดทริปไปอุทยานหินเขางู ราชบุรี เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของโดรนติดกล้อง 2 รุ่น ในมาวิค ซีรีส์ ได้แก่ Mavic 2 Pro ที่มาพร้อมกล้องระดับมืออาชีพ Hasselblad และ Mavic 2 Zoom โดรนแบบพับเก็บได้รุ่นแรกที่ใช้กล้องฟังก์ชั่นออปติคอลซูม

แต่ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อใดหรือรุ่นไหนก่อนซื้อมาใช้ต้องทำความเข้าใจกฎระเบียบในประเทศไทยด้วย โดยโดรนที่มีน้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัม และติดกล้องต้องไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรมการบินพลเรือน

สำนักงาน กสทช. เปิดเผยว่า ข้อมูล ณ วันที่ 24 ธ.ค. 2561 มีผู้นำโดรนมาลงทะเบียนเครื่อง 14,733 ลำ แบ่งเป็นลงทะเบียนกับสำนักงาน กสทช. 7,644 ลำ กสทช.ภูมิภาค 4,956 ลำ สำนักงานการบินพลเรือน 706 ลำ และสถานีตำรวจ 1,467 ลำ การขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน กสทช.ก็เพื่อระบุชื่อผู้เป็นเจ้าของโดรน มีเอกสารที่ต้องใช้ คือ แบบฟอร์มการขอขึ้นทะเบียน, สำเนาบัตรประชาชน และภาพถ่ายตัวลำของโดรน

ส่วนการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เปรียบได้กับการทำใบขับขี่ ต้องใช้คำขอขึ้นทะเบียนของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย, คำขอขึ้นทะเบียนสำนักงาน กสทช., สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน และประกันภัยบุคคลที่สามวงเงินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท เพื่อคุ้มครองอุบัติเหตุ, การเสียชีวิต, ค่ารักษาพยาบาล และทรัพย์สิน กรณีมีความเสียหายต่อบุคคลที่สาม

ข้อปฏิบัติสำหรับนักบินโดรนที่ควรทราบ คือ 1.ห้ามทําการบินในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และรบกวนความสงบสุขของบุคคลอื่น 2.ห้ามบินเข้าไปในบริเวณเขตห้าม เขตจํากัด และเขตอันตรายตามที่ประกาศในเอกสารแถลงข่าวการบินของประเทศ รวมทั้งสถานที่ราชการ หน่วยงานของรัฐ โรงพยาบาล เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ 3.แนวการบินขึ้นลงต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง

4.ผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานต้องมองเห็นอากาศยานได้ตลอดเวลาที่ทําการบิน ห้ามทําการบังคับโดยอาศัยชุดกล้องบนอากาศยานหรืออุปกรณ์อื่นที่มีลักษณะใกล้เคียง 5.ต้องทําการบินระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ซึ่งมองเห็นได้อย่างชัดเจน 6.ห้ามบินเข้าใกล้หรือเข้าไปในเมฆ

7.ห้ามบินภายในระยะ 9 กิโลเมตร จากสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของหรือผู้ดําเนินการสนามบินอนุญาตหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวอนุญาต 8.ห้ามบินโดยใช้ความสูงเกิน 90 เมตร เหนือพื้นดิน 9.ห้ามบินเหนือเมือง หมู่บ้าน ชุมชน หรือพื้นที่ที่มีคนมาชุมนุมอยู่ 10.ห้ามบังคับเข้าใกล้อากาศยานซึ่งมีนักบิน 11.ห้ามทําการบินละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น

12.ห้ามบินโดยก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความรําคาญแก่ผู้อื่น 13.ห้ามส่งหรือพาวัตถุอันตรายตามที่กําหนดในกฎกระทรวงหรืออุปกรณ์ปล่อยแสงเลเซอร์ติดไปกับอากาศยาน และ 14.ห้ามบินโดยมีระยะห่างในแนวราบกับบุคคล ยานพาหนะ สิ่งก่อสร้าง หรืออาคารน้อยกว่า 30 เมตร หากกระทำความผิดต่อกฎอย่างใดอย่างหนึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!