ดีอีวิ่งหาพันล.อัพโครงข่ายTOT หวั่น 3 ล้านรายตกขบวนเบอร์โทร. 10 หลัก

แผนปรับเบอร์ fixed line เป็น 10 หลัก 1 ม.ค. 64 ยังต้องลุ้นระทึก “ทีโอที” รอกระทรวงดีอีหางบฯซัพพอร์ตพันล้าน ขณะที่กระบวนการจัดซื้อ-ติดตั้งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 15 เดือน “กสทช.” ย้ำค่ายอื่นพร้อมมาก ถ้าทีโอทีอัพเกรดไม่ทันเส้นตายลูกค้า 3 ล้านเลขหมายได้รับผลกระทบ

 

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความคืบหน้าในการปรับปรุงโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่ (fixed line) ตามแผนเลขหมายโทรคมนาคมระยะยาว ให้รองรับการเพิ่มเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่ จาก 9 หลักเป็น 10 หลัก ซึ่งมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (12 ธ.ค. 2560) มอบหมายให้บริษัทดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 ม.ค. 2564 นั้น ขณะนี้กำลังรอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) หาแหล่งเงินทุนสนับสนุนโครงการ ตามที่การประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดดีอี) เมื่อ 11 ต.ค.ที่ผ่านมาได้กำหนดไว้

โดยบอร์ดดีอีรับทราบแนวทางอัพเกรดโครงข่ายแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่คืบหน้ามากนัก เพราะต้องรองบประมาณ จึงค่อนข้างกังวล เพราะกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์โครงข่ายทั้งหมดน่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5-6 เดือน กว่าจะติดตั้งโครงข่ายเสร็จ ก็ต้อง 6-9 เดือน

“ถ้าต้นปี 2562 ชัดเจนเรื่องงบประมาณ กว่าที่โครงข่ายจะเสร็จอาจจะยืดไปถึงกลางปี 2563 ค่อนข้างเฉียดฉิว แต่ทีโอทีก็ต้องรอ ไม่สามารถไปยื่นขอสนับสนุนโครงการจากทางอื่นได้ เพราะผู้ใหญ่ได้แจ้งไว้ว่าจะหาให้”

ลงทุนพันล้าน-รายได้เพิ่ม 10%

การปรับเปลี่ยนโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่ ส่วนหนึ่งเป็นไปตามแผนของบริษัท เนื่องจากโครงข่ายเดิมทั้งหมดอายุการใช้งานมากกว่า 25 ปี แต่ตามแผนของทีโอทีจะเป็นการทยอยลงทุนยาวไปจนถึงปี 2568 แต่รัฐบาลต้องการให้เร่งปรับปรุงให้ทัน 1 ม.ค. 2564 ตามแผนเลขหมายของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมของบริษัทมาก จึงจำเป็นต้องมีเงินสนับสนุนโครงการเพื่อให้มีภาระทางการเงินน้อยลง

สำหรับการปรับปรุงดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยกำลังจะมีปัญหาขาดแคลนเลขหมายโทรศัพท์ในระยะยาว จึงจะปรับให้จำนวนเลขหมายโทรศัพท์ในไทยอยู่ที่ 10 หลักเท่ากันทั้งหมด จากเดิมที่เบอร์มือถือจะเป็น 10 หลัก แต่เบอร์ประจำที่จะเป็น 9 หลัก ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้เลขหมายในระบบเพิ่มขึ้น โดยเบอร์แบบประจำที่จะอยู่ที่ 100 ล้านเลขหมาย ขณะที่โทรศัพท์เคลื่อนที่มี 500 ล้านเลขหมาย

ขณะที่แนวทางการอัพเกรดโครงข่ายของทีโอทีจะมีการเปลี่ยนใหม่ เฉพาะในส่วนของคอร์เน็ตเวิร์กหลักและอุปกรณ์อีกบางจุดเท่านั้น โดยคงโครงข่ายสายทองแดงไว้บางส่วน ทดแทนการรื้อของเก่าออกแล้วลงโครงข่ายใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะต้องใช้วงเงินงบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่แนวทางนี้จะใช้เงินลงทุนราว 1 พันล้านบาท

โดยแนวทางนี้นอกจากจะประหยัดเงินลงทุนแล้ว ยังคงโครงข่ายทองแดงไว้เป็นเครือข่ายสำรองเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติได้ ดีกว่าใช้โครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงมาทดแทนทั้งหมด เนื่องจากต้องพึ่งพากระแสไฟฟ้ามากกว่า ขณะที่โครงข่ายทองแดงจะมีแบตเตอรี่ชุมสายเลี้ยงระบบได้ราว 8 ชั่วโมงหลังไฟดับ

“โครงข่ายที่ลงใหม่ใช้สำหรับให้บริการ fixed line รวมถึงนำไปต่อยอดบริการเสริมอื่น ๆ เพิ่ม แต่ด้วยแนวโน้มของเทคโนโลยี fixed line ที่เป็นขาลงอยู่แล้ว ตัวโครงข่ายใหม่จึงไม่น่าจะเพิ่มรายได้ให้กับทีโอทีมากมายนัก น่าจะไม่เกิน 10% ของรายได้ fixed line เดิม”

สำหรับรายได้จากบริการ fixed line ของทีโอที ปัจจุบันจะอยู่ราว 8,000 ล้านบาทต่อปี มีลูกค้ารวมราว 3 ล้านราย แต่มีแนวโน้มรายได้ลดลงราว 7% ต่อปี ตามเทรนด์ของเทคโนโลยี

ปรับไม่ทัน ลูกค้าทีโอที โทร.ไม่ได้

ด้านนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำนักงาน กสทช.ได้ทำหนังสือแจ้งกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ไว้แล้วว่า ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2564 เลขหมายโทรศัพท์ในประเทศไทยทั้ง fixed line และ mobile จะเป็นเลข 10 หลักเท่ากันทั้งหมด

“หากทีโอทีไม่สามารถทำได้เสร็จภายใน 1 ม.ค. 2564 จะไม่สามารถเชื่อมต่อกับเลขหมายในเครือข่ายอื่นได้เลย ทั้งโทร.ออกและรับสาย ลูกค้าทีโอทีจะใช้งานได้เฉพาะกลุ่มของทีโอที”

แต่ถ้ามีการเปลี่ยนโครงข่ายจะทำให้ลูกค้าได้รับคุณภาพบริการที่ดีขึ้น สามารถใช้เลขหมายเดิมได้แม้จะย้ายพื้นที่ใช้งานข้ามอำเภอหรือจังหวัด ที่สำคัญคือมีค่าบริการที่ราคาถูกลงจากการกำหนดเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศได้ ไม่ต้องมีค่าโทรศัพท์ข้ามเขตพื้นที่เหมือนปัจจุบัน ที่โทร.ข้ามจังหวัดยังมีอัตราค่าบริการ นาทีละ 3 บาท 6 บาท 9 บาท ไปจนถึง 18 บาท

ใช้เบอร์คุ้ม-ค่าโทร.อัตราเดียว

“โครงข่ายโทรศัพท์มือถือของค่ายมือถือได้มีการปรับปรุงพร้อมรองรับเลขหมาย 10 หลักทั้งหมดแล้ว รวมถึงโอเปอเรเตอร์รายอื่นที่ให้บริการ fixed line ทุกรายพร้อมมาก ซึ่งการปรับปรุงโครงข่ายนี้นอกจากจะทำให้เบอร์ในไทยทั้งหมดเป็น 10 หลักเท่ากัน ไม่เกิดความสับสนในการใช้งานโดยเฉพาะผู้ที่โทร.มาจากต่างประเทศเข้ามาหาคนไทย ทั้งยังจะทำให้เกิดการใช้เลขหมายโทรศัพท์ที่คุ้มค่าขึ้น เพราะปัจจุบันบางพื้นที่ขาดแคลนเบอร์ fixed line โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงานหนาแน่น

ขณะที่หลายพื้นที่มีเบอร์เหลือ แต่โยกไปใช้งานในพื้นที่ขาดแคลนไม่ได้ตามข้อจำกัดของโครงข่ายยุคเก่า ดังนั้น ทีโอทีควรลงทุนเพื่อโอกาสทางธุรกิจของตัวเอง และการลงทุนนี้ไม่ใช่เอื้อกับค่ายมือถืออย่างที่มีการอ้าง”

ส่วนการขอรับการสนับสนุนงบประมาณอัพเกรดโครงข่าย ยังไม่ได้รับการประสานจาก บมจ.ทีโอที หรือกระทรวงดีอี

ขณะที่แหล่งข่าวภายในสำนักงาน กสทช.เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ณ พ.ย. 2561 มีเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่คงเหลือในระบบให้จัดสรรได้อีก 29,545,000 เลขหมาย ส่วนที่จัดสรรไปแล้วมีรวมทั้งสิ้น 20,455,000 เลขหมาย บมจ.ทีโอทีถือครองอยู่ทั้งหมด 16,926,000 เลขหมาย หรือ 82.75% แต่มี efficiency ratio ซึ่งแสดงถึงการใช้เลขหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงร้อยละ 39.63 (ทรูฯอยู่ที่ร้อยละ 84.56)

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!