ดีอีโยน”ปอท.”จัดซื้อระบบตรวจสอบใบหน้าโซเชียล

ดีอีย้ำระบบตรวจสอบใบหน้าบนสื่อโซเชียล วงเงิน 39 ล้านบาท เป็นโครงการ ปอท. ไม่เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ที่กำลังผลักดัน ยืนยันทุกการจัดซื้อต้องเป็นเครื่องมือที่ประเทศอื่นก็ใช้ และต้องไม่ละเมิดสิทธิ์ประชาชน

 

น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีกระทรวงดีอีได้ออกประกาศจัดซื้อจัดจ้าง โครงการระบบตรวจสอบเปรียบเทียบใบหน้าบุคคลบนสื่อสังคมออนไลน์ ภายใต้งบประมาณ 39,897,200 บาท และตนเองเป็นผู้ลงนามในประกาศดังกล่าวนั้น เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดีอีทำงานประสานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยการจัดซื้อดังกล่าวเป็นไปตามงบประมาณที่ ปอท.ได้รับจัดสรร แต่ตามระเบียบพัสดุต้องให้กระทรวงดีอีเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง

“การทำงานของ ปอท. กับกระทรวงดีอี มีการแยกกรอบกันชัดเจน โดยดีอีจะเน้นในด้านเศรษฐกิจและสังคม สร้างการรับรู้และอบรมด้านเทคโนโลยี ส่วน ปอท.มีหน้าที่ปราบปราม ซึ่งถ้าจะถามว่า โครงการที่จัดซื้อจัดจ้างมีความจำเป็นแค่ไหน และจะนำไปใช้กับอะไร รวมถึงจะเดินหน้าต่อหรือไม่ เมื่อมีผู้ท้วงติง ก็ต้องถามไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นผู้บังคับบัญชา ปอท.โดยตรง”

ทั้งยังไม่เกี่ยวกับการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่กระทรวงเป็นผู้รับผิดชอบ และกำลังเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

“แต่ยืนยันว่าระบบและเครื่องมือในการป้องกันปราบปรามภัยทางไซเบอร์ทั้งหมด เป็นเครื่องมือสากลที่ใช้กันทั่วโลก เพราะหากไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ภาครัฐก็ไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ เพียงแต่ชื่อโครงการอาจจะทำให้ประชาชนรู้สึกกังวลว่าจะถูกละเมิดสิทธิ์ ซึ่งขอยืนยันว่า การนำเครื่องมือต่าง ๆ มาใช้งาน ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไม่ละเมิดสิทธิ์ประชาชน”

สำหรับโครงการระบบตรวจสอบเปรียบเทียบใบหน้าบุคคลบนสื่อสังคมออนไลน์ ภายใต้งบประมาณ 39,897,200 บาท กระทรวงดีอีได้ประกาศจัดซื้อจัดจ้างเมื่อ 24 ธ.ค. 2561 และเปิดให้เอกชนที่สนใจเสนอราคายื่นข้อเสนอทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 14 ม.ค. 2562 ระหว่าง 08.30-16.30 น.

วัตถุประสงค์ของการจัดซื้อระบุว่า เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ปอท. มีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น จำเป็นต้องจัดหาระบบตรวจสอบเปรียบเทียบใบหน้าบุคคลบนสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อช่วยตรวจสอบ ระบุตัวตนจากการวิเคราะห์ข้อมูลและร่องรอยที่ปรากฏ เชื่อมโยงกับรูปภาพใบหน้านั้น ๆ และเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลใบหน้าบุคคลประเภทต่าง ๆ ได้ ทั้งต้องครอบคลุมข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งประเภทสาธารณะ ส่วนตัว และกลุ่มต่าง ๆ พร้อมระบุความเชื่อมโยงของแต่ละบัญชีได้ ซึ่งต้องรองรับจำนวนบัญชีใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 1,000 บัญชี และต้องทำงานได้ด้วยระบบอัตโนมัติ

ขณะที่โครงการจัดซื้อจัดจ้าง “ศูนย์ข้อมูล Big Data และวิเคราะห์อาชญากรรมเทคโนโลยี เพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สังคม และความมั่นคงของชาติ” วงเงิน 128.42 ล้านบาท

ซึ่งเริ่มประกาศประกวดราคาตั้งแต่ มิ.ย. 2560 และถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเหตุผลและความจำเป็น จึงได้มีการทบทวนอีกครั้ง โดยล่าสุดยังอยู่ในขั้นตอนประชาพิจารณ์ร่างขอบเขตของงาน

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!