เปิดคำพิพากษาค่าไอซี “ทีโอที-ทรู” จ่าย 2.5 พันล้าน

วงการโทรคมนาคมส่งท้ายปี 2561ด้วยคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ 386/2554 ระหว่าง บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ยื่นฟ้อง บมจ.ทีโอที และ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กรณีผิดสัญญาไม่ชำระค่าตอบแทนการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมให้แก่ดีแทค ตามประกาศของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 (ค่าไอซี) โดยศาลปกครองกลางสั่งให้ “ทีโอที” ชำระค่าไอซี 702,475,156.43 บาท และ “ทรู” ชำระ 1,832,292,063.75 บาท ให้แก่ “ดีแทค”

คำพิพากษาพาดพิง AC

แม้ว่าทั้งฝั่ง “ทีโอที-ทรู” ยังยืนยันว่า คดียังไม่ถึงที่สุด พร้อมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด แต่เมื่อเปิดคำพิพากษาก็พบว่า มีหลายส่วนที่อาจพาดพิงไปถึงข้อพิพาทที่เป็นคดีใหญ่ที่สุด มีมูลค่ามากที่สุดในอุตสาหกรรมนี้ นั่นคือกรณีที่ “ทีโอที” ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเรื่องค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (แอ็กเซสชาร์จ : AC) มูลค่ากว่า 347,243 ล้านบาทโดยทีโอทีได้ยื่นฟ้อง บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) เป็นจำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นผู้ให้สัมปทาน และยื่นฟ้องคู่สัมปทานของแคท อย่างดีแทค ทรูมูฟ และดีพีซี (ดิจิตอลโฟน) เป็นจำเลยที่ 2 โดยเรียกค่าแอ็กเซสชาร์จ ตั้งแต่ พ.ย. 2549-พ.ค. 2554 พร้อมดอกเบี้ย โดยดีแทค ทีโอทีฟ้องเรียก 250,882 ล้านบาท ทรูมูฟ เรียก 90,907 ล้านบาท ดีพีซี 5,454 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง และทุกโอเปอเรเตอร์ที่เกี่ยวข้องต่างจับตาว่า ศาลปกครองจะชี้ขาดออกมาเมื่อใด และอย่างไร

แม้ว่าคำพิพากษาของศาลปกครองจะผูกพันเฉพาะคดีพิพาทนั้น ๆ แต่อาจฉายภาพแนวการตีความได้บางส่วน

โดยในคำพิพากษาคดีค่าไอซีของดีแทค พบว่า มีการกล่าวถึงค่า AC โดยระบุว่า มาตรา 335 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มีเจตนารมณ์ที่จะให้ความคุ้มครองถึงการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาเกี่ยวกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีอยู่เดิม โดยมีบทบัญญัติห้ามไม่ให้กฎหมายที่จะตราขึ้นใหม่มีผลกระทบกระเทือนถึงการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาที่มีผลสมบูรณ์อยู่แล้ว ทั้งมาตรา 80 และ 80/1 พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ก็ได้คุ้มครองผู้รับอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาเดิม อีกทั้งตามมาตรา 78 วรรค 4 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ก็บัญญัติให้การประกอบกิจการโทรคมนาคมของทีโอทีและแคท รวมถึงผู้ได้รับสัมปทานอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กทช.

ชี้ “ดีแทค” มีหน้าที่จ่าย AC

เมื่อ บมจ.ทีโอที (องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย) ในขณะนั้น ได้ทำข้อตกลงการเชื่อมโยงโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่กับแคท ลงวันที่ 22 ก.พ. 2537 โดยคิดค่า AC กับแคท และดีแทค ผู้ฟ้องคดีจะชำระค่า AC เลขหมายละ 200 บาทต่อเดือน และแคทจะชำระรายได้ครึ่งหนึ่งของส่วนแบ่งรายได้ที่ได้รับจากดีแทคให้ทีโอที ซึ่งดีแทคผู้ฟ้องคดีได้ลงนามตกลงยอมรับปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว และข้อตกลงนี้ไม่ได้ทำให้สิทธิ์ของดีแทคตามสัญญาสัมปทานกับแคท เปลี่ยนแปลงหรือลดน้อยลง เพียงแต่ดีแทคมีหน้าที่เพิ่มขึ้น โดยต้องชำระค่า AC ให้ทีโอทีเท่านั้น

มีหน้าที่เชื่อม IC ทั้งคู่

ขณะที่เมื่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติออกประกาศค่าไอซี ทั้งดีแทค ผู้ฟ้องคดี และ “ทีโอที-ทรู” ผู้ถูกฟ้องคดีก็มีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบตามประกาศดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้น ดีแทคจึงมีสิทธิ์ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเข้าด้วยกัน ดังนั้น ข้ออ้างที่ทีโอทีระบุว่า ดีแทคไม่มีสิทธิ์ขอเชื่อมต่อ หรืออนุญาตให้ผู้ใดเชื่อมต่อโครงข่าย จึงไม่อาจรับฟังได้

และเมื่อปรากฏว่า เกิดข้อพิพาทที่ทั้งทีโอทีและทรู ไม่ยอมเข้าทำสัญญาเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างกันตามกรอบหลักเกณฑ์ประกาศไอซี จึงเห็นควรให้ใช้อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อตามคำสั่งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ 11/2553 เป็นอัตราอ้างอิง ซึ่งเมื่อคำนวณแล้ว “ทีโอที” ต้องชำระ 702.47 ล้านบาท “ทรู” ชำระ 1,832.29 ล้านบาท

เชื่อยังยืดเยื้ออีกนาน

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงภายใน บมจ.ทีโอที เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คดีฟ้องค่า AC กับแคท และผู้รับสัมปทาน มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้ข้อยุติเมื่อใด และเป็นประเด็นที่มีข้อกังวลว่า หากทีโอทีควบรวมกับแคทแล้วจะกระทบกับข้อพิพาทนี้ที่มีมูลค่าสูง

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงภายใน บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บรรดาข้อพิพาททั้งหมดเชื่อว่าจะมีทางออกที่ดี และสามารถเจรจาได้ ซึ่งกรณีค่า AC ที่ทีโอทีฟ้อง ณ เวลานี้ ก็เชื่อว่าแคทจะไม่ต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว

โดยประเมินว่า คดีค่า AC ยังไม่จบในเร็วๆ นี้ แต่ทุกอย่างก็ยังไม่แน่นอนเพราะเมื่อ ก.ย. 2561 ก็เพิ่งมีคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทที่ยืดเยื้อมากว่า 13 ปี กรณีที่ บมจ.เทเลคอมเอเซีย (ทรู คอร์ปอเรชั่นในปัจจุบัน) นำอุปกรณ์ในระบบไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL) ตามสัมปทานบริการโทรศัพท์ประจำที่ในเขตนครหลวง 2.6 ล้านเลขหมาย ให้ผู้อื่นใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต และระบุให้ “ทรู” ต้องจ่ายค่าเสียหายให้ “ทีโอที” 9.4 หมื่นล้านบาท

ซึ่งขณะนี้ “ทรู” ได้ยื่นศาลปกครองให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว เท่ากับว่าบรรดาข้อพิพาทในวงการโทรคมนาคมที่มีมูลค่าสูงก็จะยังยืดเยื้อต่อไป

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!