ATTN : สื่อออนไลน์ ขวัญใจชาวมิลเลนเนียล

คอลัมน์ สตาร์ตอัพปัญหาทำเงิน

โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

 

เมื่อพูดถึงการทำสื่อออนไลน์ หลายคนคิดว่าคือ การเอาคอนเทนต์จากหน้าหนังสือพิมพ์มาแปะไว้บนโซเชียลมีเดีย แล้วขยันอัพถี่ ๆ วันละหลาย ๆ รอบ น่าจะถูกใจชาวมิลเลนเนียลแล้ว

แต่อย่างที่รู้กัน โลกโซเชียลทุกวันนี้ มีคอนเทนต์มากมายสารพัดรูปแบบหลั่งไหลเข้ามาแย่งชิงพื้นที่บนหน้าจอมือถือเรากันทุกวินาที การจะทำให้ข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องหนัก ๆ โดดเด่นขึ้นบนโลกออนไลน์จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่ก็มีคนทำได้แล้วค่ะ สตาร์ตอัพแห่งนี้มีชื่อว่า ATTN : ก่อตั้งในปี 2014 โดย “จาร์เร็ต โมรีโน” กับ “แมทธิว ซีเกิล” เน้นนำเสนอข่าวสารหนัก ๆ ในรูปแบบใหม่ที่ทำให้ชาวมิลเลนเนียลหันมาสนใจกันมากมาย

ก่อนที่จะก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา “จาร์เร็ตกับแมทธิว” เคยร่วมกันทำแคมเปญรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่ไปเลือกตั้ง

ถึงแม้จะดึงคนรุ่นใหม่ให้มาลงชื่อผ่านหน้าเพจได้เยอะแยะ แต่ปัญหาคือ อนาคตของชาติเหล่านี้ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการเลือกตั้งมีขึ้นเพื่ออะไร

ทั้ง2คนเลยได้ข้อสรุปว่า การใช้เทคนิคทางการตลาดเพื่อดึงคนเฉย ๆ คงไม่พอ ต้องให้ “ความรู้” ด้วยถึงจะประสบความสำเร็จในการ “สื่อสาร” อย่างแท้จริง

ซึ่งการจะทำให้คนกลุ่มนี้หันมาสนใจข่าวสารบ้านเมืองก็ต้องมีคอนเทนต์ในรูปแบบที่ถูก “จริต” พวกเขาด้วย คิดไปคิดมา ทั้งคู่เลยตั้งบริษัทชื่อ ATTN : ขึ้นเพื่อผลิตวิดีโอ คลิป ที่เน้นการตัดต่อสั้น กระชับ มีภาพ เสียง และกราฟิกประกอบเพื่อ “ย่อย” ข่าวหนักให้เป็นเรื่องเข้าใจง่ายและน่าสนุก

หากลองติดตามคอนเทนต์ข่าวของ ATTN : ไม่ว่าจะผ่าน facebook, twitter หรือ IG ก็จะเห็นว่าคลิปข่าวของพวกเขานั้นมีความยาวกำลังพอเหมาะ (ไม่สั้นกุดจนไม่ได้อะไร แต่ก็ไม่ยาวจนลิงหลับ) เรียบเรียงใจความได้ดี ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย แถมมีแทรกมุขและกราฟิกอย่างถูกช่วงถูกจังหวะ ทำให้ข่าวที่มีเนื้อหาซับซ้อนอย่างวิกฤตเศรษฐกิจในเวเนซุเอลาหรือสงครามการค้าอเมริกากับจีน กลายเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินความเข้าใจแถมน่าติดตามอีกด้วย

กลยุทธ์นี้ถูกใจผู้เสพข่าวรุ่นใหม่มาก เพราะวิดีโอของ ATTN มียอดวิวถึง 500 ล้านครั้งต่อเดือน เมื่อกระแสฮิตติดลมบนก็ทำให้บริษัทสามารถระดมทุนมาได้กว่า 37 ล้านเหรียญ ภายในเวลาแค่ไม่กี่ปี

“แมทธิว” บอกว่า เคล็ดลับความสำเร็จของบริษัทมาจากการเลือกเรื่องที่น่าสนใจมาขยายต่อ และการรักษาความ “พอดี” ระหว่าง “สาระ” กับ “ความบันเทิง” ในการนำเสนอข้อมูล

นั่นคือ ต้องไม่ยัดเยียดจนย่อยไม่ทันแต่ก็ไม่พยายามยิงมุขเอาฮาจนขาดกาลเทศะ ทำให้เนื้อหาของข่าวยังคงความน่าเชื่อถือแต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ “หนัก” จนเกินไป

ถึงแม้ว่าผู้ก่อตั้งจะพยายามวางตำแหน่งบริษัทให้เป็น media company ไม่ใช่ news company เพื่อความคล่องตัว

ในการนำเสนอข่าวสารต่าง ๆ แต่หลายครั้งก็โดนวิจารณ์เรื่องความเป็นกลางอยู่ดี (ฝ่าย conservative มองว่า ATTN : ออกจะ liberal ไปหน่อย) ซึ่งแมทธิวก็ยอมรับว่า ในบางเรื่อง บางหัวข้อ บริษัทก็มีจุดยืนที่ชัดเจนอยู่เหมือนกัน

แต่ท้ายที่สุดแล้ว เป้าหมายของ ATTN : ไม่ใช่การพยายามชี้นำว่าอะไรถูกหรือผิด หรือตั้งตนมาแข่งกับสื่อหลัก แต่เป็นการนำเสนอข้อมูลข่าว (เขาใช้คำว่า information news) ที่ควรค่าแก่การได้รับความ “สนใจ” (attention) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคยุคใหม่อีกช่องทางหนึ่งต่างหาก

อ่านแล้วก็ย้อนคิดมาถึงสื่อบ้านเราที่ฝีไม้ลายมือก็ไม่เป็นสองรองใคร เรื่องวิเคราะห์วิจารณ์ต่าง ๆ (ถ้าคิดจะทำ) ก็ทำได้ลุ่มลึกเฉียบคม แต่ไฉนจึงยังหลงทิศหลงทางไปแข่งกันอัพข่าวฉาวคาวโลกีย์เรียกยอดไลก์ไปวัน ๆ อยู่เล่า อย่ามัวโทษว่า “ก็คนอ่านมันชอบแบบนี้”

เพราะถ้าทุกคนคิดแบบนี้คงไม่มีบริษัทอย่าง ATTN : ที่ลุกมาทำให้เห็นคาตาว่า ข่าวหนัก ๆ ก็ “ขายได้” ถ้า “ขายเป็น” มันอยู่ที่กล้าเปิดใจและกล้าทำรึเปล่าต่างหาก

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!