สตาร์ตอัพไทยขาดทักษะธุรกิจ ย้ำต่างชาติรุมเข้าไทยต้องชู DeepTech สู้

กูรูสตาร์ตอัพแนะเทรนด์ปี”62 ต้องลุย deep tech เน้น “บล็อกเชน-AI-IOT” NIA ย้ำเร่งแก้ “ทักษะธุรกิจ” ปิดจุดอ่อนฉุดเติบโต ชี้โมเดล B2B ไปไกลกว่า ฟาก RISE ย้ำแพลตฟอร์มตัวกลางต้องเลิกทำ ถ้าขึ้นเบอร์ 1 ไม่ได้ ขณะที่ “กระทิง” มั่นใจโอกาสโตมีอีกมาก แถมเงินพร้อมลงทุนเยอะ แต่มาตรฐานสูงปรี๊ด

 

นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บล็อกเชน อินเทอร์เน็ตออฟทิงส์ (IOT) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นเทรนด์เทคโนโลยีที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ แต่ในไทยยังมีสตาร์ตอัพที่พัฒนาด้านนี้น้อย และยังผิวเผิน อาทิ ใช้ AI แค่ให้บริการแชตบอต

“IOT มีผู้เล่นในตลาดมากที่สุด เมื่อเทียบกับเทรนด์อื่น แต่ก็แค่หลักร้อย ยิ่งบล็อกเชนยิ่งมีไม่ถึง 10 ราย จึงยังมีช่องว่างในตลาดอีกมาก”

ทักษะธุรกิจ = จุดอ่อน

ปัญหาสตาร์ตอัพไทย ยังสร้างนวัตกรรมไม่ตอบโจทย์ธุรกิจ ด้วยข้อจำกัดด้านประสบการณ์ธุรกิจ ผลงานที่ออกมาไม่ได้แก้ปัญหาที่เป็น global pain point ที่สามารถขยายตลาดให้เติบโตได้ จึงเป็นไอเดียที่ไม่โดนใจนักลงทุน และไม่มีเงินทุนเข้ามาซัพพอร์ต เพราะไม่สามารถสร้างจุดเปลี่ยนที่แตกต่างได้ ทางแก้คือต้องให้มีประสบการณ์จากภาคธุรกิจให้มากขึ้น ซึ่งอาจจะดึงธุรกิจเข้ามาจับคู่พัฒนาเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดอย่างแท้จริง ที่สำคัญคือต้องมองตลาดที่มากกว่าแค่ในประเทศ

“โมเดลธุรกิจบางส่วนยังมุ่งที่แพลตฟอร์มตัวกลาง เพราะเกิดง่าย แต่ยุคนี้โตยากแล้ว เพราะจะโตได้ต้องการฐานลูกค้าจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินเยอะ ถ้าจะไปทางนี้ต้องหาเงินทุนเก่ง ขณะเดียวกันก็เป็นโมเดลธุรกิจที่ copy ง่าย ถูกทุ่มตลาดได้ง่าย ใครมีเงินมากคือผู้ชนะตลาด สตาร์ตอัพยุคนี้จึงไม่ควรเริ่มที่การสร้างแพลตฟอร์มตัวกลางแบบเดิม ๆ อีกต่อไป แต่ต้องสร้างนวัตกรรมที่ใช้ deep tech มีการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอง ซึ่งอาจจะไม่ได้ก้าวเป็นยูนิคอร์นง่าย ๆ แต่มั่นคงกว่า”

ขณะเดียวกันการพัฒนาโมเดลธุรกิจที่มุ่งให้ “ธุรกิจ” คือ กลุ่มลูกค้า หรือ B2B จะยิ่งทำให้มีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าเน้น “ผู้บริโภค” เป็นกลุ่มลูกค้า หรือ B2C แต่เมื่อสตาร์ตอัพไทยยังขาดทักษะด้านธุรกิจ ทั้งในแง่ประสบการณ์ กระบวนการทำธุรกิจ และความรู้ในการประกอบธุรกิจ จึงทำให้ “ติดหล่ม” ในการขยายธุรกิจและขยายตลาดของตัวเอง

ปี”62 ต้อง Move เร็ว

นายศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้ก่อตั้ง RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรและสตาร์ตอัพ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มูลค่าดิจิทัลอีโคโนมีของอาเซียนมีขนาดเล็กกว่าจีน แต่โตเร็วกว่า โดยคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่ากว่า 200 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ปี 2562 เป็นปีที่สตาร์ตอัพไทยจะยิ่งต้องเตรียมพร้อมมากขึ้นอีก เพราะคลื่นเทคโนโลยี และการลงทุนจะยิ่งถาโถมเข้ามา เพราะเงินลงทุนพร้อมเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหมายถึงสตาร์ตอัพจากทั่วโลกก็จะสนใจเข้ามาพัฒนานวัตกรรม ทำตลาดในภูมิภาคนี้มากขึ้น ฉะนั้น สตาร์ตอัพต้องพัฒนาให้เร็ว และมีไมนด์เซตที่จะทำตลาดที่ใหญ่กว่าแค่ในประเทศ มองไกลไปถึงระดับภูมิภาคมากขึ้น

โจทย์สำคัญที่บรรดาสตาร์ตอัพต้องให้ความสำคัญ คือ การมุ่งตอบโจทย์สังคมสูงวัย การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้าพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์ สุขภาพความงาม การเกษตร อาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ การท่องเที่ยว โดยเฉพาะหากสามารถต่อยอดจุดแข็งของภาคธุรกิจไทยก็จะช่วยผลักดันให้ประเทศยิ่งเกิดการเติบโต ส่วนการใช้โมเดลธุรกิจในรูปแบบของการเป็นแพลตฟอร์มตัวกลางนั้นต้องตระหนักว่า เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจะดิสรัปต์ “ตัวกลาง” ที่ไม่มีประโยชน์ ฉะนั้น ถ้ายังมุ่งจะพัฒนาธุรกิจแบบตัวกลางก็ต้องอิงกับเทรนด์เทคโนโลยีที่กำลังมาแรงอื่น ๆ ด้วย

“การสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ หากยังมุ่งจะโฟกัสที่การสร้าง “แพลตฟอร์มตัวกลาง” ถ้ายังไม่ได้เป็นเบอร์ 1 ในตลาด รีบทำให้เป็นเบอร์ 1 แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ให้เลิกและเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น เพราะการเป็นเบอร์ 1 ในตลาด นั่นหมายถึงโอกาสที่จะขยายไปตลาดต่างประเทศได้ และธุรกิจจะรอด เพราะสตาร์ตอัพยุคนี้ต้องไม่มองแค่ตลาดในประเทศอีกต่อไป”

และในปีนี้ RISE จะเปิดตัวกองทุนสำหรับสนับสนุนสตาร์ตอัพที่เป็น deep tech วงเงินประเดิมที่ 1,500 ล้านบาท เพื่อดึงนวัตกรรมจากทั่วโลกเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับองค์กรในไทยและอาเซียน จึงเป็นอีกโอกาสในการเติบโตของสตาร์ตอัพ

เงินลงทุนพร้อมมาก

ด้านนายกระทิง เรืองโรจน์ พูนผล ผู้ก่อตั้ง Disrupt University โรงเรียนบ่มเพาะสตาร์ตอัพไทย ผู้จัดการกองทุน 500 TukTuks และปัจจุบันเป็นประธาน บริษัท กสิกร-บิสซิเนส เทคโนโลยี จำกัด (KBTG) กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐมีเงินทุนสนับสนุนสตาร์ตอัพระดับเริ่มต้นจำนวนมาก ดังนั้นผู้ที่เริ่มต้นไม่ต้องกังวลเรื่องเงินทุน แต่สำคัญอยู่ที่การมีแนวคิดที่โฟกัสใน pain point ที่ถูกเพิกเฉย โดยทำให้เร็วและสเกลให้ได้

“ตอนนี้เหมือนแย่งกันแจกเงินสตาร์ตอัพ เมื่อ 4-5 ปีก่อนกระเสือกกระสนกว่านี้ ฉะนั้นไม่ต้องกลัว เงินมีเงินเยอะเกินไปด้วยซ้ำ อย่างกองทุน 500 TukTuks มีเงินพันล้านเพิ่งลงทุนในสตาร์ตอัพได้ 5 ราย และตอนนี้มาตรฐานของสตาร์ตอัพที่จะลงทุนด้วยก็จะยิ่งสูงขึ้นเรื่อย คนไม่พร้อมจะถูกสกรีนออกไป”

ขณะที่วงการสตาร์ตอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังโตได้อีกมาก ทั้งในแง่เงินที่ระดมทุนและรายได้ ปีที่ผ่านมามีสตาร์ตอัพซีรีส์บีของไทยระดมเงินได้ถึง 19 ล้านเหรียญ บางรายมีรายได้ 700 ล้านบาท/ปี โต 100%

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!