ออนไลน์ตื่นตัว “PM 2.5 – ฝุ่นมลพิษ”เปิดคลังความรู้-โอกาสทองธุรกิจ

เป็นอีกเรื่องร้อนข้ามปีสำหรับปัญหาฝุ่นละอองมลพิษ “PM 2.5” ที่สูงเกินมาตรฐาน ซึ่งทางกรมควบคุมมลพิษได้แจ้งเตือนภัยชาวกรุงเทพฯ ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และนับวันยิ่ง “เห็น” ปัญหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ยังกระจายในอีกหลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศ

โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จนไม่น่าแปลกใจที่ #PM2.5 หรือ #ฝุ่นPM25 จะติดTop trend ทวิตเตอร์ในไทย และขึ้นไปครองอันดับหนึ่งได้ในช่วงกลางวัน ด้วยชาวเน็ตต่างแห่กันแชร์ภาพปัญหาฝุ่นมลพิษกันรัวๆ แถม “หน้ากากN95” “ฝุ่นละอองในอากาศวันนี้” “PM คือ” ยังติดอันดับคำค้นหายอดนิยมในไทยของ google  ในช่วงวัน 2 วันนี้ด้วย

โดยมีการค้นหาและแชร์ข้อมูลตั้งแต่การแนะนำแอปพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ที่แจ้งสถานการณ์คุณภาพอากาศ ให้ประชาชนสามารถติดตามและตรวจสอบข้อมูลได้ อาทิ เว็บไซต์ http://air4thai.pcd.go.th ของกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ซึ่งได้แบ่งการใช้งานออกเป็น 5 หมวดได้แก่ แผนที่คุณภาพอากาศ, ข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา, ข้อมูลย้อนหลังรายชั่วโมง, PM 2.5 กรุงเทพฯและปริมณฑล และ สถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ

โดยผู้เข้าใช้สามารถตรวจสอบคุณภาพอากาศได้เป็นรายภาคและดูข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศตามสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ระบุในแผนที่ซึ่งจะมีรายละเอียดของค่า AQI (Air Quality Index)แบ่งเป็น 5 ระดับ 0-25 ดีมาก (แทนด้วยสีฟ้า) 26-50 ดี (แทนด้วยสีเขียว) 51-100 ปานกลาง (แทนด้วยสีเหลือง) 101-200 เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (แทนด้วยสีส้ม) 201 ขึ้นไป มีผลกระทบต่อสุขภาพ (แทนด้วยสีแดง) เมื่อกดเข้าไปจะบอกข้อมูลคุณภาพอากาศ ปริมาณฝุ่นละอองในพื้นที่นั้น รวมถึงการให้ข้อแนะนำด้านสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลคุณภาพอากาศย้อนหลัง 7 วัน

หรือแอปพลิเคชั่น Air4Thai ที่ออกแบบมาเพื่อให้ง่ายต่อการเช็คสภาพอากาศบนโทรศัพท์มือถือรองรับระบบ iOS และ Android ฟังก์ชั่นการใช้งานแบบเดียวกับบนเว็บไซต์ เพิ่มเติมคือการเข้าถึงที่อยู่ด้วย GPS เพื่อให้ทราบว่าผู้ใช้อยู่ในพื้นที่ใดและแสดงข้อมูลสภาพอากาศ, ค่า AQI

รวมถึงอีกหนึ่งแอปพลิเคชั่นหน้าตาเรียบง่ายชื่อว่า “AirVisual”สามารถตรวจสอบคุณภาพอากาศทั่วโลก ภายในแอปจะบอกอุณหภูมิ คุณภาพอากาศ ค่า AQIและพยากรณ์ล่วงหน้า 7 วัน มีคำแนะนำด้านสุขภาพด้วยสัญลักษณ์ที่เข้าใจง่าย รวมถึงมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสภาพอากาศทั่วโลก และการจัดอันดับ เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดตามค่า AQI

ขณะที่ในเว็บบอร์ดสาธารณะ โซเชียลมีเดียต่างๆ ยังเต็มไปด้วย “รีวิว” การใช้งานหน้ากากอนามัยN95 ของหลายแบรนด์ ทั้งที่เป็นรีวิวแบบสดๆ ร้อนๆ ทันกับสถานการณ์ และการ “ขุดกรุ” รีวิวเดิมที่เคยมีสมาชิกมารีวิวไว้ อาทิ ใน “pantip trend” มี

[CR] รีวิว หน้ากาก N95 ป้องกันฝุ่น PM 2.5 ยี่ห้อ 3M ทั้งแบบมีวาล์วและไม่มีวาล์ว และ รีวิวหน้ากาก N95 กันฝุ่น PM2.5 อันละ 9 บาท

และยังมีที่แทรกซึมอยู่ในหลายห้องสนทนา อาทิ

รีวิว หน้ากากกันฝุ่น PM 2.5 ของญี่ปุ่นหรือ เพจผู้บริโภค แนะนำหน้ากากกันฝุ่น

รวมถึงการ “ชี้เป้า” แหล่งซื้อหน้ากาก N95  ซึ่งมีทั้งที่เป็นความช่วยเหลือของบรรดาผู้บริโภคด้วยกันเอง และจาก “แบรนด์” ต่างๆ โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซที่มาครบทั้ง Lazada shopee HomePro Officemate JD.co.th

และที่สำคัญคือ คำแนะนำในกรณีที่หาซื้อหน้ากาก N95 ไม่ได้จะใช้อะไรแทนดี โดยอ้างอิงรายงานวิจัย โครงการ “การพัฒนาชุดความรู้ด้านประสิทธิภาพของหน้ากากป้องกันฝุ่นขนาดเล็ก” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งระบุว่า พบว่าหน้ากากแบบที่ใช้ในห้องผ่าตัด (Dura mask) พอจะช่วยกรองฝุ่น PM 2.5 ได้บ้าง แต่ประสิทธิภาพการกรองจะดีขึ้น เมื่อซ้อนด้วยกระดาษทิชชู่ 2 แผ่น หรือผ้าเช็ดหน้า

นอกจากนี้ยังมีการสารพัดคำถามเกี่ยวกับฝุ่นมลพิษต่างๆ อาทิ ฝุ่นPM 2.5 สามารถเข้าไปรถยนต์ได้หรือไม่ กรองแอร์ในรถยนต์มีประสิทธิภาพเพียงพอไหม จะต้องขับรถไปแล้วใช้หน้ากากไปด้วยหรือไม่ จนกระทั่งเริ่มมีการมองหา “แผ่นกรองแอร์ในรถแบบ HEPA”

รวมถึงการหาข้อมูลเกี่ยวกับ “เครื่องฟอกอากาศ” จนกลายเป็นคำค้นที่ติด google trend ในช่วงวัน 2 วันนี้เช่นกัน ซึ่งหลายแบรนด์โหมโปรโมทกันเต็มที่ เลือกค้นได้จากช่องทางโซเชียลมีเดียของแบรนด์ได้เลย ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นผู้จัดจำหน่ายก็ใช้จังหวะนี้คอยเข้าไปตอบคำถามพร้อมแนะนำสินค้าตามกระทู้ในเว็บบอร์ดสาธารณะและโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อดึงลูกค้าให้เข้ามาซื้อสินค้าจากร้านของตนเองด้วย

เรียกว่า เป็นจังหวะที่ดีในการหาความรู้สำหรับป้องกันตัวเองของผู้บริโภค และเป็นนาทีทองของผู้ประกอบการกันทั่วหน้า