ถอดรหัสประมูล คลื่น 700 MHz ปลดล็อก “ทีวีดิจิทัล-ผูกปม 5G”

เดินหน้าจัดประมูลคลื่นอย่างต่อเนื่องสำหรับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แม้ว่าในปี 2561 จะจัดประมูลไปแล้วถึง 2 ย่านความถี่ คือ 900 MHz และ 1800 MHz ได้ยอดเงินเข้ารัฐกว่า 6.3 หมื่นล้านบาท แต่ปีนี้ “กสทช.” ยังเดินหน้าเข็นคลื่น 700 MHz ออกมาเตรียมประมูลรอบใหม่ เพื่อรองรับการใช้งาน 5G ของค่ายโทรคมนาคม โดยโยกให้ “ช่องทีวีดิจิทัล” ที่ใช้งานบนคลื่นนี้ ขยับไปอยู่ในย่าน 510-694 MHz แทน โดยจะเคาะราคาทั้งหมด 7 ใบอนุญาต ขนาดใบอนุญาตละ 5 MHz แบ่งจ่ายเงินประมูล 9 งวดในเวลา 10 ปี (งวดแรก 20% งวดต่อไปปีละ 10% เริ่มจ่ายในปีที่ 3)

แม้ราคาเริ่มต้นประมูลยังไม่เปิดเผย และก่อนหน้านี้ เลขาธิการ กสทช. “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” ระบุว่า จะรีเซตการประเมินราคามูลค่าคลื่นใหม่ทั้งหมดก็ตาม แต่บรรดาค่ายมือถือต่างโอดโอย เพราะที่ผ่านมาราคาคลื่นที่ กสทช.เปิดมาระดับหมื่นล้านบาททั้งสิ้น

ไม่ยืดงวดจ่าย-ไม่เข้าประมูล

กลุ่มทรูแสดงจุดยืนชัดเจน โดย “วิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ย้ำชัดว่า จะไม่เข้าประมูลคลื่น 700 MHz หากไม่ได้ความชัดเจนเกี่ยวกับการยืดระยะเวลาการชำระค่าประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz

ไม่น่าแปลกใจที่ค่ายมือถือจะออกมาเต้น เพราะไทม์ไลน์การประมูลคลื่น 700 MHz ที่ กสทช.วางไว้ล่าสุดคือ จะเคาะราคาในเดือน ธ.ค. 2562 ทำให้การจ่ายเงินค่าประมูลงวดแรกจะเกิดขึ้นในไตรมาสแรกปี 2563 แม้ทั้งเอไอเอส และดีแทคจะยังไม่แสดงทีท่าชัดเจน แต่หากเปิดกำหนดการจ่ายเงินประมูลคลื่นครั้งก่อนจะพบว่า เป็นช่วงเดียวกับที่ “เอไอเอส” ต้องจ่ายเป็นเงินกว่า 6.7 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกันกับกลุ่มทรูที่ต้องจ่าย 6.4 หมื่นล้านบาท มี “ดีแทค” น้อยหน่อย แค่ 5.4 พันล้านบาท

แม้รองประธานบอร์ด “พ.อ.นที ศุกลรัตน์” และเลขาธิการ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” จะย้ำนักหนาว่า 700 MHz เป็นคลื่นแห่งอนาคตที่จะรองรับ 5G แต่ก็คาดหวังได้ยากว่าจะมีค่ายมือถือรายใดเข้าประมูล เว้นแต่จะยืดระยะเวลาในการชำระค่าประมูลคลื่นเดิมได้ ตามที่ “เอไอเอส-ทรู” ร้องขอตั้งแต่ปลายปี 2560 และสำนักงาน กสทช.ชงเรื่องให้ “คสช.” พิจารณาเพื่อใช้อำนาจตามมาตรา 44 เปิดทาง ซึ่ง “TDRI” ออกมาเบรก มองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน

ผูกปมทีวีดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการจัดประมูลคลื่น 700 MHz ของ กสทช. ไม่ใช่อยู่ที่ “มีคนเข้าประมูล” หรือไม่เท่านั้น แต่สาเหตุสำคัญที่ “กสทช.” ลุกขึ้นมาเรียกคืนคลื่นย่านนี้เพื่อนำมาจัดประมูลในปลายปี 2562 ก็เพื่อนำเงินจากการประมูลมาเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลด้วยการยกร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz มาตรการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน และหลักเกณฑ์ วิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 MHz

โดยระบุชัดว่าจะนำเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นจากผู้ประกอบการโทรคมนาคม มาใช้จ่ายเงินประมูลช่องทีวีดิจิทัล ซึ่งแต่ละรายเหลือที่ต้องชำระอีกราว 30% รวมถึงไม่ต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่าย (MUX) และค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมเพื่อเผยแพร่ตามประกาศของ กสทช. จนสิ้นสุดใบอนุญาตในเดือน เม.ย. 2572

เปิดทางคืนไลเซนส์

“มาตรการเยียวยาครั้งนี้เป็นการยกภาระทั้งหลายของช่องทีวีดิจิทัลที่เป็นอุปสรรคในการแข่งขันกับผู้ประกอบการคอนเทนต์ผ่านอินเทอร์เน็ตอย่างยูทูบ, เน็ตฟลิกซ์ ที่ไม่มีต้นทุนแบบนี้ออกไปให้หมด เป็นการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อให้ช่องทีวีดิจิทัล กลายเป็นผู้ประกอบการคอนเทนต์เช่นเดียวกัน และยังคงเป็นสื่อที่สำคัญ มีความน่าเชื่อถือ เกิดประโยชน์ต่อคนไทยทุกคน โดยรัฐไม่เสียหาย” รองประธาน กสทช.กล่าวและว่า

นอกจากช่องทีวีดิจิทัลจะไม่มีภาระหนี้สินจากเงินค่าประมูลช่องแล้ว ยังสามารถขอยกเลิกใบอนุญาตเพื่อเลิกประกอบกิจการได้อีกต่างหาก แต่ทุกอย่างต้องรอให้ชัดเจนว่า การประมูลคลื่น 700 MHz จะได้เงินเพียงพอที่ครอบคลุมทั้งหมด

“ถ้าประมูลออกไปไม่ครบ 7 ใบอนุญาต ก็ทยอยจัดประมูลใหม่ได้เรื่อย ๆ การเยียวยาช่องทีวีดิจิทัลก็จะค่อย ๆ ทยอยเกลี่ยกันไป เพราะเป็นแผนระยะยาว 10 ปี ถือเป็นการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมโทรคมนาคมด้วยเช่นกัน เพราะการประมูลใหม่ก็ยืดเวลาชำระเงินให้ยาวขึ้น เนื่องจาก กสทช.เห็นว่า เงินค่าประมูลสำคัญน้อยกว่าการให้บริการ และมีใบอนุญาตเพียงพอให้ทุกราย เพื่อให้ทุกคนเข้ามาสู่การแข่งขันได้อย่างเหมาะสม ที่สำคัญคือ 5G จะเป็นเม็ดเงินใหม่ของผู้ประกอบการโทรคมนาคม จากการให้บริการสำหรับอุตสาหกรรม และเครื่องจักร ซึ่งกว่าจะเริ่มประมูล ธ.ค. 2562 อุปสรรคต่าง ๆ น่าจะคลี่คลายไปแล้ว”

ทีวีดิจิทัลประสานเสียง

“เขมทัตต์ พลเดช” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่า การประมูลคลื่น 700 เป็นการรีเซตอุตสาหกรรมใหม่ จากที่ผ่านมาช่องทีวีดิจิทัลที่ต้องเผชิญหลายมรสุม ทำให้จำนวนช่องที่เหลือจะสอดรับกับเม็ดเงินโฆษณาที่มีอยู่ รวมถึงทำให้ช่องที่ยังอยู่มีเงินลงทุนด้านคอนเทนต์มากขึ้น ส่วน อสมท จะคืนช่องหรือไม่ยังให้คำตอบไม่ได้

แต่ยังมีความกังวลว่าค่ายมือถืออาจไม่เข้าประมูล แต่เชื่อว่าถ้า กสทช.กำหนดราคาคลื่นสอดรับกับอุตสาหกรรมก็จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

ด้าน “ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ช่อง 33 เอชดี ช่อง 28 เอสดี และช่อง 13 แฟมิลี่ กล่าวว่า แนวทางของ กสทช.ดีกับอุตสาหกรรม แต่บริษัทจะตัดสินใจคืนช่องหรือไม่นั้นต้องพิจารณาจากรายละเอียดอื่น ๆ ประกอบด้วย ซึ่งยังไม่ชัดเจน

“ฉัตรชัย ตะวันธรงค์” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า พอใจกับแนวทางของ กสทช. และอยากให้คืนช่องได้ เพื่อให้จำนวนช่องมีความกระชับขึ้น และมองว่า “ช่องข่าวและช่องเด็ก” น่าจะมีการขอคืน

“ค่ายมือถือคงเหนื่อย เพราะ 5G มา รายได้เขาก็เพิ่มนิดเดียวจากภาคอุตสาหกรรม เขาจึงอิดออดที่จะประมูลคลื่น 700 MHz แต่เชื่อว่าจะมีการประมูล เพราะคงไม่มีใครอยากตกขบวน ดังนั้นแม้จะเป็นต้นทุนที่เพิ่มเข้ามา แต่เชื่อว่าภาครัฐจะหาวิธีช่วยยืดเวลาการชำระค่าคลื่นออกไป”

ขณะที่ “พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา” หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านคอนเทนต์และมีเดีย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางเยียวยาของ กสทช. แต่ในส่วนของกลุ่มทรูคงไม่คืนช่องทีวีดิจิทัลที่มีอยู่ 2 ช่อง เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ออมนิแชนเนลของบริษัท

เช่นเดียวกับ “เดียว วรตั้งตระกูล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี จำกัด ที่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว รวมถึงการเปิดช่องให้ผู้ประกอบการคืนไลเซนส์ได้ตามธรรมชาติของการทำธุรกิจ แต่ในส่วนของช่อง ONE31 คงไม่คืนเพราะตั้งใจจะทำธุรกิจคอนเทนต์อย่างเต็มที่

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!