Technology for Life By SAMART ปลดปล่อยจินตนาการขั้นสุดกับ ‘VR AR’

ปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ถูกจับตามองว่าจะเข้ามา “พลิกโลก” และกำลังก้าวมาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น คือ เทคโนโลยี “เสมือนจริง” (Virtual Reality: VR) และเทคโนโลยี “กึ่งเสมือนจริง” (Augmented Reality: AR)

VR เป็นเทคโนโลยีที่จำลองสภาพแวดล้อมจริง และจากจินตนาการ ที่สร้างขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ จำลองภาพ เสียง รวมถึงประสาทสัมผัสด้านอื่น ผ่านอุปกรณ์ เช่น ถุงมือ แว่นตาสวมหัวที่มีจอภาพในตัว รู้สึกถึงการสัมผัสที่เป็นจริง ตื้น ลึก แข็ง นุ่ม จำลองสถานที่ต่างๆ เช่น ใต้ท้องทะเลลึก ภูเขา กลางป่าใหญ่ หรือแม้แต่ในอวกาศ ให้ความรู้สึกตัวเราถูกดึงเข้าไปอยู่ที่แห่งนั้นจริงๆ เป็นมุมมองแบบ 3 มิติ

วันนี้ VR ถูกนำไปประยุกต์ใช้งานมากมาย เช่น ทางการแพทย์นักศึกษาแพทย์สามารถเรียนรู้ และเข้าสู่โลกของการผ่าตัดแบบจำลอง ที่สัมผัสอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายแบบเสมือนจริง ด้านอวกาศการบิน VR ถือเป็นเทคโนโลยีการฝึกจำลองสถานการณ์ต่างๆ ด้านเอ็นเตอร์เทนท์เม้นท์ สามารถรับชมภาพยนตร์ การแสดงต่างๆ ได้สมจริง แม้แต่การออกกำลังกาย VR สามารถเนรมิตรทิวทัศน์รอบตัวเสมือนออกกำลังกายในสวนขนาดใหญ่ ท่ามกลางธรรมชาติ

แม้ VR จะอยู่บนโลกมนุษย์มานานแล้ว แต่เหมือนยังไปต่อได้ไม่สุด กระทั่งการมาถึงของเทคโนโลยี “AR” ที่เรียกได้ว่า เป็นเทคโนโลยีกึ่งเสมือนจริง ผสานโลกจริงเข้ากับโลกเสมือน ทำให้ภาพที่เห็นในจอกลายเป็นวัตถุ 3 มิติ ลอยอยู่เหนือพื้นผิวจริง AR เป็นการนำเอาภาพกราฟฟิกต่างๆ มาแสดงอยู่ในโลกของความเป็นจริง และเราสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับกราฟฟิกเหล่านั้น เช่น เกมโปเกมอน โก ที่เคยฮิตทั่วไทยก่อนหน้านี้ ก็ใช้เทคโนโลยี AR เช่นกัน

    ที่ผ่านมา AR ถูกนำไปใช้บ้างในแวดวงการตลาด โฆษณา เช่น ในรูปแบบ AR Code คล้ายๆ QR Code เพื่อส่งสัญญาณและข้อมูลให้อุปกรณ์ที่ใช้ในการอ่าน เช่น สมาร์ทโฟน หรือแว่นตาเมื่อใช้สมาร์ทโฟน ส่องไปที่ AR Code จะเห็นเป็นข้อมูลภาพ 3มิติ เคลื่อนไหว หรือการ์ตูนที่เคลื่อนไหวในสภาพแวดล้อมจริง หรือนำ AR ไปใช้ด้านการศึกษา สามารถดึงวัตถุ สิ่งของรูปทรงต่างๆ แผนที่โลก ให้ปรากฏขึ้นอย่างใกล้ชิดสายตาเป็นภาพ 3มิติ แบบลอยตัวมองเหมือนวัตถุจริงกำลังลอยตัวอยู่กลางอากาศได้จากทุกๆ ด้าน หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าภาพ “โฮโลแกรม” (Hologram)

ตัวอย่างในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดดังๆ เช่น Star Wars เราจะเห็นฉากที่ตัวละครติดต่อสื่อสารกันด้วยแสงโฮโลแกรมปรากฏออกมาเป็นตัวคนเสมือนจริงอยู่ตรงหน้า หรือฉากที่ ‘โทนี่ สตาร์ค’ สร้างเกราะหุ่นยนต์ Iron Man จอคอมพ์ที่เราเห็นในหนังเป็นจอแสงแบบ 3 มิติลอยอยู่ในอากาศ

กูรูในต่างประเทศ วิเคราะห์ว่า ทั้ง VR และ AR เปรียบเสมือน หยินกับหยาง ที่ต้องผสมกลมกลืน ขณะที่ผู้ใช้กำลังท่องไปในโลกความจริงก็สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุเสมือน เห็นและสัมผัสได้  

แม้ AR จะน่าตื่นเต้นมากก็จริง แต่วันนี้ยังไม่มีวิธีที่มากนักที่จะมีประสบการณ์กับ AR บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกต่างแข่งขันพัฒนาอุปกรณ์รองรับเทคโนโลยีนี้ ไม่ว่าจะเป็น ‘กูเกิล’ ที่พยายามปั้น กูเกิล กลาส, โฮโลเลนส์ ของ ‘ไมโครซอฟท์’ ยังมี ‘เฟซบุ๊ค’ ที่ทุ่มงบมหาศาลพัฒนาบริการที่รองรับ รวมถึง ‘ทิม คุก’ ซีอีโอบริษัทแอ๊ปเปิ้ล ที่บอกอย่างหนักแน่นว่า AR จะเป็น Core Technology ของโลกในอนาคต

ไอดีซี คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดของ VR และ AR จะเติบโตอย่างมหาศาลทั่วโลก ปี 2560 คาดว่า จะมีมูลค่า 13.9 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 130% จากปี 2559 ขณะที่ การใช้จ่าย AR และ VR ทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอีกหลายปีข้างหน้านี้ ด้วยอัตราเติบโตต่อปี 198% ระหว่างปี 2558- 2563 รวมเป็นเม็ดเงินใช้จ่ายทั้งสิ้น 143.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563

 

สนับสนุนทุกความคิดสร้างสรรค์ โดย “กลุ่มบริษัทสามารถ”
ขอบคุณภาพจาก : Wired.com และ Windows Blog