ส่องเทรนด์สติ๊กเกอร์ LINE “ผู้ชาย-อินฟลูเอนเซอร์” ตลาดมาแรง

แม้จะดูเงียบ ๆ แต่สติ๊กเกอร์ LINE ยังมีอัตราเติบโตต่อเนื่อง ทั้งในแง่ยอดขายและจำนวนครีเอเตอร์ผู้สร้างสรรค์ “กณพ ศุภมานพ” ผู้อำนวยการธุรกิจสติ๊กเกอร์ LINE ประเทศไทย เปิดเผยว่า ทั้งปีมียอดส่งสติ๊กเกอร์ LINE 1.1 หมื่นล้านครั้ง ยอดขายสติ๊กเกอร์ LINE ของไทยเติบโตเป็นอันดับ 1 ของโลก มีจำนวนผู้ซื้อสติ๊กเกอร์เพิ่มขึ้น 28% ด้านยอดรวมการใช้สติ๊กเกอร์ในไทยอยู่เป็นอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่น ไต้หวัน

โดยสติ๊กเกอร์จาก “ครีเอเตอร์” โต 40% ทำให้ตอนนี้สัดส่วนสติ๊กเกอร์ LINE จากการผลิตของครีเอเตอร์และของแบรนด์ออฟฟิเชียลในสัดส่วนเท่ากัน

ส่วนเทรนด์สติ๊กเกอร์ที่นิยม 1.สติ๊กเกอร์ชื่อ 2.สติ๊กเกอร์เล่นคำ เช่น มุขต่าง ๆ 3.สติ๊กเกอร์ที่มีตัวอักษรใหญ่ 4.สติ๊กเกอร์ดารา ศิลปิน ที่ออกมาเจาะแฟนคลับ

ที่สำคัญคือ ในไตรมาส 2 นี้จะมีสติ๊กเกอร์รูปแบบใหม่ที่จะเปิดตัวสร้างสีสัน และเชื่อว่าจะเป็นแรงผลักดันให้การใช้งานสติ๊กเกอร์ LINE ยิ่งเพิ่มขึ้น รวมถึงเตรียมนำอินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียง มีผู้ติดตามจำนวนมากมาทำเป็นออฟฟิเชียลสติ๊กเกอร์ ซึ่งแม้จะมีฐานแฟนคลับที่ไม่มากเท่ากับศิลปิน แต่มีเอ็นเกจเมนต์ที่มากกว่า

“ข้อแนะนำการทำสติ๊กเกอร์ปีนี้ คือ ร่วมมือกันของครีเอเตอร์หรือผู้ผลิตคอนเทนต์ ทำให้มี 2 แคแร็กเตอร์ในสติ๊กเกอร์เดียว ลูกค้าก็มีความตื่นเต้นที่จะซื้อ อีกทั้งมีแฟนทั้ง 2 ฝั่งจะช่วยให้มีการโปรโมตมากขึ้น นอกจากนี้ สติ๊กเกอร์ดาราควรทำธีีมออกมาด้วย เพราะผู้ที่ซื้อสติ๊กเกอร์ดารา 1 ใน 4 ซื้อธีมด้วย ดังนั้น การทำธีมออกมาจะเพิ่มโอกาสการขายได้มากขึ้น”

ด้านพฤติกรรมของผู้ใช้ในปีที่ผ่านมา ส่งสติ๊กเกอร์เฉลี่ยวันละ 31 ล้านครั้ง โดย “วันหวยออก” คือวันที่ 1 และ 16 ของเดือนมีการส่งมากที่สุด มากกว่าวันปกติ 10-20% ส่วนครีเอเตอร์ชอบออกสติ๊กเกอร์ช่วงต้นเดือน เพราะเชื่อว่าตรงกับวันเงินเดือนออก

“สัดส่วนผู้ชายที่ซื้อสติ๊กเกอร์เพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 40% ในปีที่ผ่านมา สาเหตุมาจากครีเอเตอร์มีความหลากหลายมากขึ้น มีแคแร็กเตอร์ที่เป็นแนวผู้ชายมากขึ้น มีลายเส้นกวนๆ”

ปัจจุบันมีสติ๊กเกอร์จากครีเอเตอร์ไทยมี 1.4 ล้านเซต เติบโต 8 เท่า ขณะที่ครีเอเตอร์มี 4.2 แสนราย เติบโต 75% โดยตั้งเป้าเพิ่มครีเอเตอร์อีก 50% ภายในปีนี้ โดยจะสานต่อกิจกรรมส่งเสริม เช่น การจัดเวิร์กช็อปในภูมิภาคสร้างครีเอเตอร์หน้าใหม่ และมีแอปไลน์ครีเอเตอร์สตูดิโอที่ช่วยสร้างสติ๊กเกอร์ได้ง่ายขึ้น

“LINE สติ๊กเกอร์ดัง ๆ สมัยก่อนจะเป็นการ์ตูนผู้หญิงหวาน ๆ ซึ่งผู้หญิงจะนิยม แต่ตอนนี้ครีเอเตอร์เขาก็ใส่ไอเดียเข้ามา อีกทั้งการทำสติ๊กเกอร์ไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้มีอะไรใหม่ ๆ ออกมา ดังนั้น เราไม่สามารถรู้ได้ว่าสติ๊กเกอร์อะไรตรงใจ จึงต้องพยายามสร้างครีเอเตอร์หน้าใหม่เพิ่ม ส่วนเวลาตรวจสอบสติ๊กเกอร์ที่ออกแบบเสร็จแล้วก่อนอนุมัติวางขาย ได้ย่นเวลาจาก 1 เดือนเหลือราวประมาณ 1 สัปดาห์ โดยทีมยังใช้ทีมในญี่ปุ่นจะเป็นผู้ตรวจสอบ”

อย่างไรก็ตาม LINE มีกฎห้ามไม่ให้สร้างสติ๊กเกอร์ที่มีการสื่อไปทางเพศ ความรุนแรง ศาสนา และเชิญชวนให้ไปเลือกตั้ง แต่ต้องเป็นข้อความปกติ ห้ามชวนไปเลือกใครคนหนึ่ง

ทิศทางในปีนี้ยังโฟกัสที่การขยายช่องทางการจัดจำหน่ายและชำระเงินให้ครอบคลุม โดยกำลังพัฒนาช่องทางให้ซื้อและชำระเงินผ่านโมบายแบงกิ้งเพื่อเข้าถึงผู้ซื้อให้กว้างขึ้น ตอนนี้มีผู้ใช้โมบายแบงกิ้งที่แอ็กทีฟรวมกว่า 10 ล้านราย/เดือน โดยระบบที่พัฒนาสามารถร่วมกันได้ทุกธนาคาร แต่อาจจะเปิดตัวกับบางธนาคารเป็นเอ็กซ์คลูซีฟก่อน ส่วนตู้เติมเงินจะเน้นการเปลี่ยนรูปแบบการเข้าถึง โดยทำงานร่วมกับศิลปิน เช่น ศิลปินลูกทุ่ง อาจมีการนำตู้เติมเงินไปในงานคอนเสิร์ต โดยจะเห็นกิจกรรมชัดขึ้นในไตรมาส 2 ส่วนช่องทางออฟฟิเชียลแอ็กเคานต์ไลน์สติ๊กเกอร์ที่มีสมาชิกกว่า 30 ล้านคน ไลน์จะใช้ระบบ BCRM (Business Connect for CRM) เข้ามาช่วยเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้นและตรงเป้าหมาย โดยตั้งเป้าว่าจะช่วยให้มีผู้ใช้หน้าใหม่เพิ่มขึ้น 30%

“39% คนไม่รู้จะซื้อสติ๊กเกอร์ยังไง อย่างไลน์สโตร์ที่สามารถชำระเงินได้หลากหลายคนรู้จักน้อย ดังนั้น ปีนี้จะเน้นด้านการขยายช่องทางชำระเงินต่อไปในทุกด้าน”