เริ่มฤดูเลือกตั้ง “เฟซบุ๊ก” พร้อมรับมือ !

(AP Photo/Richard Drew, File)

การเลือกตั้งในประเทศไทยที่หลายคนรอคอยเริ่มนับหนึ่งแล้ว การเปิดฉากหาเสียงเลือกตั้งรวมถึงการสาดโคลนก็เริ่มต้นขึ้นเช่นกัน

โดยโซเชียลมีเดียคือแพลตฟอร์มสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเป็นเป้าหมายสำคัญในฐานะช่องทางที่ทรงอิทธิพล “เฟซบุ๊ก” ไม่รอช้าประกาศจุดยืนพร้อมชี้แจงมาตรการในการรับมือ โดยพุ่งเป้าไปที่การ “กำจัดบัญชีปลอม”

“เคธี ฮาร์บาธ” ผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองระดับโลกและการประสานงานภาครัฐของเฟซบุ๊ก เปิดเผยว่า มีมาตรการป้องกันความโปร่งใสในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและการรักษาความปลอดภัย โดยพยายามลบบัญชีผู้ใช้ปลอมโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ผสานกับพนักงานเฟซบุ๊ก โดยในไตรมาส 3 ปีที่ผ่านมาได้ปิดบัญชีผู้ใช้ปลอม 1,500 ล้านบัญชี ทั้งเพิ่มจำนวนพนักงานทั่วโลกเป็น 30,000 คน รับผิดชอบด้านความปลอดภัยและความมั่นคง

“คนส่วนมากใช้ชื่อจริง 1 บัญชีต่อ 1 ผู้ใช้เฟซบุ๊ก จึงได้ใช้ระบบการตรวจจับเพื่อให้บัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กมีความปลอดภัย โดยมีการสังเกตพฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊ก บัญชีผู้ใช้ปลอมจะมีลักษณะที่ไม่โพสต์อะไร จะเข้ากลุ่มต่าง ๆ และกดไลก์เพจต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก มีจำนวน 99.6% ของบัญชีปลอมที่เฟซบุ๊กได้ตรวจพบและลบบัญชี”

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังลดการเผยแพร่ข่าวปลอม โดยมีเครื่องมือที่สามารถตรวจสอบได้ทันทีที่โพสต์โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ร่วมด้วยการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ทั้งยังพยายามจำกัดการเข้าถึงข่าวปลอม โดยหากมีการกดคลิกอ่านจะมีการแสดงลิงก์ไปยังข้อมูลของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือเมื่อมีการกดแชร์ระบบจะมีการแจ้งเตือนว่าเป็นข่าวลวงอีกมาตรการที่เฟซบุ๊กดำเนินการ คือ เพิ่มความโปร่งใสของโฆษณาและเพจ ผู้ใช้กดดูข้อมูลเพจต่าง ๆ ตั้งแต่ผู้สร้างเพจ ผู้ดูแลเพจอาศัยอยู่ในประเทศอะไร วันที่ก่อตั้งเพจ ประวัติการเปลี่ยนชื่อเพจ เพื่อให้ผู้ใช้ตรวจสอบได้ว่าเพจนั้นมีจุดประสงค์อะไร อีกทั้งการลงโฆษณาบนเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ผู้ใช้จะสามารถดูได้ว่ามาจากใคร ผู้ที่จะลงโฆษณาทางการเมืองต้องมีการยืนยันตัวตน แจ้งรายละเอียดแหล่งเงินทุนสนับสนุน โดยผู้ลงสมัครเลือกตั้งไม่สามารถทำเพจปลอมเพื่อหวังลงโฆษณาทางการเมืองได้

เฟซบุ๊กจะสนับสนุนการให้ข้อมูลในช่วงเลือกตั้ง เมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเฟซบุ๊กจะทำให้ประชาชนทราบว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ใครคือผู้ลงสมัคร บอกวิธีการเตรียมตัววางแผนก่อนการเลือกตั้ง มีเครื่องมือที่สามารถแชร์เพื่อชักชวนเพื่อนให้ไปเลือกตั้ง โดยเฟซบุ๊กจะมีการพูดคุยกับภาคีเครือข่ายทำความเข้าใจในประเทศที่จะมีการเลือกตั้งก่อน

จากการทำงานร่วมกับเฟซบุ๊กกว่า 8 ปี แต่ละประเทศมีปัญหาความขัดแย้งที่ต่างกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน สังคมมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เฟซบุ๊กพยายามทำให้เป็นแพลตฟอร์มที่มีความโปร่งใส มีการพูดคุยทางการเมือง ทำให้ผู้ใช้มีพื้นที่สำหรับนำเสนอความคิดเห็นของตัวเอง