บทเรียน “เอสโตเนีย-ถ้ำหลวง” กดปุ่มรัฐบาลดิจิทัลใช้ “ข้อมูล” พลิก ปท.

เมื่อปักธงจะไปไทยแลนด์ 4.0 พลิกโฉมสู่ดิจิทัล “รัฐบาล” จึงเป็นหัวหอกสำคัญในการวางโครงสร้างพื้นฐานนำพาผู้คน ธุรกิจและสังคมไปให้ถึงฝั่งฝัน สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เปิดเวทีสัมมนา Digital Government Summit 2019

“พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า รัฐบาลตั้งเป้าใช้ประโยชน์จากไอทีเอื้อให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยี มีความรวดเร็วในการใช้บริการภาครัฐ ตั้งแต่การวางยุทธศาสตร์เมื่อ 3 ปีก่อน และริเริ่มเรื่อง บิ๊กดาต้า ดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์เซอร์วิส ปัญญาประดิษฐ์ ทั้งทำแอปพลิเคชั่นช่วยให้เกษตรกรตรวจดู ดิน น้ำ วางแผนการปลูกพืชได้ พร้อมลดภาระประชาชนด้วยโครงการยกเลิกสำเนากระดาษ มี 20 กระทรวง 151 หน่วยงานทั่วประเทศดำเนินการแล้ว

สำรวจยุทธศาสตร์ 3 ปี

“ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด” ผู้อำนวยการ DGA กล่าวว่า ความก้าวหน้าแผนพัฒนาของรัฐบาลดิจิทัลในประเทศไทยระยะเวลา 3 ปี (2559-2561) มี 4 ยุทธศาสตร์ คือ การพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถรองรับการไปสู่รัฐบาลดิจิทัล, ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน, ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ และยกระดับความมั่นคงและเพิ่มความปลอดภัยของประชาชน

จุดเปลี่ยนสำคัญคือ ในปี 2559 เริ่มมีบริการพร้อมเพย์ มีการลงทะเบียน 46 ล้านรายการ มีปริมาณการโอนเงิน 1,002 ล้านรายการ มูลค่าธุรกรรมกว่า 5.1 ล้านล้านบาท และผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของไทยอยู่อันดับ 27 จาก 190 ประเทศ

นอกจากนี้ รัฐบาลพยายามเปลี่ยนหน่วยงานรัฐไปสู่ดิจิทัล ผลักดันบริการดิจิทัลภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (one stop service : OSS) เพิ่มรูปแบบทั้งศูนย์บริการ แอปพลิเคชั่น/เว็บไซต์ และเครื่องให้บริการ government ki-osk

นอกจากนี้มีแอปพลิเคชั่น CITIZENinfo ที่ช่วยค้นหาจุดให้บริการหน่วยงานรัฐ แจ้งรายละเอียดขั้นตอนการให้บริการ, เอกสารที่ใช้ และในอนาคตจะเข้าถึงข้อมูลเอกสารราชการ และเช็กข้อมูลสวัสดิการของรัฐได้

เอสโตเนียต้นแบบรัฐบาลดิจิทัล

“Marten Kaevats” ที่ปรึกษารัฐบาลด้านดิจิทัลแห่งชาติเอสโตเนีย กล่าวว่า เอสโตเนียเป็นประเทศเล็ก ๆ ทางยุโรปเหนือ มีประชากร 1.3 ล้านคน เมื่อก่อนเป็นประเทศยากจน เศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลจึงมุ่งไปสู่ดิจิทัลตั้งแต่ปี 2537

“เทคโนโลยีเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง ต้องมีการปรับไมนด์เซต วัฒนธรรม และใช้เวลา ไม่สามารถเกิดได้ในชั่วข้ามคืน”

ในปี 2544 เริ่มใช้บัตรประชาชนแบบสมาร์ทไอดี เริ่มเปิดทำธุรกรรมออนไลน์กับหน่วยงานรัฐ 24 ชั่วโมง โดยใช้เลขเนชั่นแนลไอดีติดต่อได้ ไม่ต้องเดินทาง ยื่นภาษีออนไลน์ ใช้เวลา 3 นาที

และตั้งแต่ปี 2551 ผู้เชี่ยวชาญทางด้านบล็อกเชนของเอสโตเนียทำทุกอย่างออนไลน์จึงไม่มีการทำเอกสารกระดาษแล้ว ข้อมูลเอกสารใช้ระบบบล็อกเชนที่จัดเก็บอย่างปลอดภัย ประชาชนเป็นเจ้าของข้อมูลไม่ใช่รัฐบาล เอสโตเนียเป็นรัฐบาลที่มองไม่เห็น (invisible) ประชาชนไม่จำเป็นต้องมาติดต่อที่หน่วยงาน ทำธุรกรรมออนไลน์ได้จากทุกที่ทั่วโลก ทั้งเปิดรับ e-Residency แบบ virtual ให้ผู้คนทั่วโลกสมัครเป็นพลเมืองเอสโตเนียได้ มีดิจิทัลไอดีของตัวเอง ใช้จดทะเบียนธุรกิจ เปิดบัญชีธนาคารได้ ให้ฟรีแลนซ์สมัครเป็นพลเมืองเป็นทางเลือกเปิดประตูธุรกิจ

“ข้อมูล” ชนะทุกสิ่ง

อีกเหตุการณ์ที่ยืนยันว่า “ข้อมูล” ที่ไหลลื่นประมวลผลได้รวดเร็วคืออาวุธสำคัญ คือปฏิบัติการกู้ภัยถ้ำหลวง โดย “ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา อดีตผู้อำนวยการสถานการณ์ช่วยเหลือในปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวง ระบุว่า 18 วันของภารกิจ ข้อมูลคือสิ่งสำคัญ ตั้งแต่การตอบคำถามว่า “เด็กจะปลอดภัยหรือไม่”

“เรานำข้อมูลของเด็กและโค้ชทีมหมูป่า ทั้งอายุ น้ำหนัก ส่วนสูง การออกกำลังกาย ใส่ลงไปในโปรแกรมคำนวณทางการแพทย์ ผลออกมาว่าน้อง ๆ อยู่รอดได้ 30-45 วัน ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์บอกว่า ร่างกายมนุษย์ขาดน้ำได้ 3-5 วัน ขาดอาหารได้ 2-3 สัปดาห์ ทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาอธิบายว่า เมื่อร่างกายขาดอาหารหลังวันที่ 10 จะชัตดาวน์ระบบย่อยอาหารดึงไขมันและโปรตีนในร่างกายมาเผาผลาญคล้ายการจำศีลของสัตว์ เราทำการบ้านนำวิทยาศาสตร์มาเป็นเหตุผล”

ขณะที่ “น้ำ” คืออุปสรรคสำคัญ เนื่องจากฝนตกต่อเนื่อง ขณะที่ถ้ำเป็นหินปูนมีโพรง จึงต้องเก็บข้อมูลระดับน้ำ ปริมาณฝนตก อุณหภูมิ เส้นทางภายในถ้ำ มาประมวลผลเพื่อสร้างช่องว่างระหว่างเพดานในถ้ำ ให้นักประดาน้ำเงยหัวหายใจได้ จนได้ปริมาณน้ำที่ต้องสูบออกแต่ละวัน และเมื่อพบตัวผู้ประสบภัยก็ต้องวัดค่าปริมาณออกซิเจนเพื่อวางแผนจะนำตัวออกมาจากถ้ำ

ที่สำคัญคือ “การซ้อม” ทีมปฏิบัติการได้ซ้อมการช่วยเหลือเพื่อคำนวณเวลาการส่งตัวไปยังโรงพยบาล หรือแม้กระทั่งซ้อมดำน้ำ ได้นำเด็กที่มีขนาดตัว น้ำหนักใกล้เคียงกันกับผู้ประสบภัย มาซ้อมว่ายน้ำ เพื่อดูว่าเด็กอดทนในพื้นที่ใต้น้ำได้กี่นาที เชียงรายมีการซ้อมการกู้ภัยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินสม่ำเสมอ ทำให้รู้ข้อมูลว่าพื้นที่นี่มีหน่วยงานกู้ภัยกี่หน่วย มีอุปกรณ์กู้ภัยอะไรบ้าง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะระดมพละกำลังได้ทันท่วงที

“กว่า 400 องค์กร คนกว่าหมื่น มาช่วยเหลือ ภารกิจนี้ไม่ได้สำเร็จโดยใครคนใดคนหนึ่ง ถ้าข้อมูลดี เรารบชนะอยู่แล้ว”

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!