พร้อมลุยสมรภูมิเดือด ผ่ากลยุทธ์ Rabbit LINE Pay

สัมภาษณ์

ตลาดอีเพย์เมนต์ในไทยดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีทั้งผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ไทย-เทศกระโดดเข้าร่วมวงชิงมาร์เก็ตแชร์ แต่เมื่อกวาดสายตามองไปที่กลุ่ม nonbank น้องใหม่ที่อยู่ในตลาดมาพักใหญ่ แต่เริ่มมาแรงโดดเด่นขึ้นเรื่อย ๆ หนีไม่พ้น “Rabbit LINE Pay” ที่มียักษ์ใหญ่ร่วมลงขันแล้วหลายราย ทั้ง BTS AIS LINE ที่สำคัญคือปักธงจะก้าวเป็นเบอร์ 1 ในตลาดให้ได้

“ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับ “จิน วู ลี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แรบบิท-ไลน์เพย์ จำกัด ถึงแผนแต่ละก้าวที่วางไว้

Q : เติบโตของแรบบิท ไลน์ เพย์

ภาพรวมปีที่ผ่านมา ผู้ใช้ Rabbit LINE Pay (RLP) มี 5 ล้านคน แม้จะเติบโต 300% จากปี 2017 แต่เราตั้งเป้าที่จะโตให้ได้ 1,000% แต่เนื่องจากความล่าช้าในการปล่อยฟีเจอร์การผูกบัตรแรบบิทกับแอปแรบบิท ไลน์ เพย์ช้า โดยเพิ่งปล่อยให้ผูกได้ราว 3 เดือน ปัจจุบันมีการผูกแล้ว 2 แสนราย จากบัตรทั้งหมด 8 ล้านราย โดย 95% ของผู้ที่ผูกบัตรกับแอปเป็นแอ็กทีฟยูสเซอร์ ซึ่งเราตั้งเป้าให้มีผู้ผูกบัญชีให้มากที่สุด

ส่วนของผู้ใช้อายุเฉลี่ย 20-30 ปี และใช้งานหลักคือซื้ออาหาร, เติมเงินโทรศัพท์, จ่ายบิล, เติมเงินและเที่ยว BTS อาจจะระบุเป็นตัวเลขไม่ได้ เพราะว่าแต่ละไตรมาสปรับเปลี่ยนตลอด

Q : ปีนี้จะรุกหนักเป็นพิเศษ

ยังคงอยู่ในช่วงลงทุน แต่ปีนี้คงไม่ได้เพิ่มงบฯลงทุน ยังคงใช้เท่าปีที่ผ่านมา โดยปีนี้จะไม่เน้นที่การทำโฆษณามากนัก เพราะสื่อในไทยมีราคาค่อนข้างแพง แต่อาจจะเน้นแค่ทำให้เห็นถึงข้อดีของการใช้แรบบิท ไลน์ เพย์ รวมทั้งการผูกบัตรแรบบิทเข้ากับแอปด้วย ดังนั้น งบฯหลัก ๆ จะเน้นที่โปรโมชั่นต่าง ๆ รวมทั้งเพิ่มจำนวนร้านค้าที่รับชำระเงิน จากปัจจุบันมี 50,000 แห่ง เป็น 60,000 ร้านในสิ้นปี โดยจะเน้นร้านค้าที่ใช้งานได้ทุกวัน เช่น ร้านค้าปลีก, ร้านสะดวกซื้อ, ฟู้ดคอร์ต ภายใน มิ.ย. เน้นพื้นที่ใกล้เคียงรถไฟฟ้า เพราะโลเกชั่นสำคัญมาก พยายามจะไม่ให้กระจายตัว อยากให้กระจุกตัวเพื่อให้เกิดการใช้และช่วยสร้างการรับรู้ของผู้ใช้

ส่วนด้านการเดินทางนอกจากรถไฟฟ้า BTS แล้ว จะเพิ่มฟีเจอร์ให้จ่ายเงินกับไลน์แท็กซี่ได้ภายใน มี.ค. นี้ นอกจากนี้จะมีฟีเจอร์คูปองที่ร่วมกับไลน์ออฟฟิเชียล แอ็กเคานต์ เมื่อกดติดตามจะได้คูปอง เพื่อใช้ในแรบบิท ไลน์ เพย์ ซึ่งออฟฟิเชียล แอ็กเคานต์ก็จะได้ลูกค้าใหม่ แรบบิท ไลน์ เพย์ก็จะมีผู้ใช้มากขึ้น เป็นการร่วมกันภายในแพลตฟอร์ม

Q : มุ่งเป็นโมบายเพย์เมนต์เต็มตัว

จุดแข็งของแรบบิท ไลน์ เพย์ มองว่าอยู่ที่ความสะดวก เพราะวางโพซิชั่นไม่ใช่ “อีวอลเลต” แต่เป็น “โมบายเพย์เมนต์” เพราะอีวอลเลตบางรายต้องเติมเงินอย่างเดียว หรือถ้าผูกบัตรเครดิตได้ แต่ก็ใช้ได้เฉพาะบางรายการ เพราะร้านค้าบางร้านไม่รับบัตรเครดิต เพราะว่ามีค่าธรรมเนียมที่สูง

ขณะที่แรบบิท ไลน์ เพย์ มีจุดแข็งตรงนี้ เราซัพพอร์ตทุกอย่างให้ร้านค้า ทำให้ผู้ใช้แรบบิท ไลน์ เพย์ สามารถผูกบัตรเครดิต เดบิต หรือบัญชีธนาคาร เมื่อชำระเงินก็สามารถตัดเงินที่บัตรเครดิตได้เลย เพื่อให้ใช้งานง่ายที่สุด อย่างผู้ที่มีบัตรแรบบิท เราพยายามจะกระตุ้นให้ผู้ใช้ผูกบัญชีหรือบัตรเครดิต เพื่อไม่ต้องไปคอยต่อแถวเติมเงิน เพื่อให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น ซึ่งปัจจุบันผู้ที่ผูกบัตรเครดิตในแรบบิท ไลน์ เพย์ คิดเป็น 60% และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจำนวนผู้ที่มีบัตรเครดิตในไทยจะมีน้อยกว่าผู้ที่ไม่มี แต่ตอนนี้เด็กจบใหม่ก็มีบัตรเครดิตได้แล้ว

Q : ไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสด

พูดยากว่าสังคมไร้เงินสดในไทยจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หรือจะเป็นแบบจีนได้หรือไม่ แต่สิ่งที่แรบบิท ไลน์ เพย์ทำได้ คือ การเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด สร้างโปรดักต์และสร้างการรับรู้ เพื่อเพิ่มแอ็กทีฟยูสเซอร์ให้ได้มากขึ้น เพราะตอนนี้ตลาดเปิดขึ้นมาก อย่างเมื่อก่อนก็มีโปรโมชั่น แต่ทรานแซ็กชั่นแทบเป็นศูนย์ เพราะคนยังกลัวเรื่องซีเคียวริตี้ แต่ปัจจุบันใน 1 นาที ก็มี 1-2 ทรานแซ็กชั่น

จึงอาจจะตอบไม่ได้ว่าแคชเลสจะเกิดเมื่อไหร่ แต่เห็นว่าตลาดเปิด มีจุดรับชำระมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และผู้ใช้มั่นใจที่จะใช้มากขึ้น

Q : ความท้าทายในตลาดไทย

เราตั้งเป้าที่จะเป็นเบอร์ 1 ของตลาดใน 3 ปี แต่ความท้าทายหลัก ๆ คือ การรักษาระดับการเติบโต เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องยอมรับว่ายังมีคนที่กังวลเรื่องความปลอดภัย ยังไม่กล้าที่จะลอง แต่เท่าที่เราทำระบบมา ยังไม่เคยโดนแฮกหรือว่ามีปัญหา จึงอยากให้มั่นใจได้ อีกความท้าทายคือการจะดึงลูกค้าใหม่ให้มาใช้ ต้องมีโปรโมชั่น รวมทั้งเดินหน้าหาพันธมิตร ซึ่งทั้งหมดต้องใช้ทุน สุดท้ายการแข่งขันก็มีความรุนแรง โดยทุกรายก็พยายามจะหาลูกค้าให้มากที่สุด

แต่ 8 ปีที่ผ่านมาก็จะเห็นว่ามีผู้เล่นหลายรายหายไป แต่ก็มั่นใจว่ามีโอกาสที่จะมีผู้เล่นใหม่ ๆ เข้ามาในตลาด เพราะไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจและกำลังเติบโต ส่วนแบงก์ไม่ได้เป็นคู่แข่งโดยตรง แต่เป็นพาร์ตเนอร์ที่สามารถทำงาน หรือทำโปรโมชั่นร่วมกันได้

Q : จะเป็นเบอร์ 1 สิ่งที่จะเห็นในปีนี้

เราพยายามรักษาระดับการเติบโตให้ได้อย่างน้อย 300% ในปีนี้ แต่การหารายได้ยังไม่โฟกัส เพราะเน้นที่จะเพิ่มจำนวนผู้ใช้ เช่นเดียวกับไลน์แมน, ไลน์แท็กซี่ ที่ยังอยู่ในช่วงลงทุน เพราะมองว่าเมื่อมีผู้ใช้มากพอ รายได้ก็จะตามมาเอง อย่างไรก็ตาม ในปีนี้อาจจะมีบริการใหม่ ๆ ที่จะเป็นบิสซิเนสโมเดลของแรบบิท ไลน์ เพย์ ในอนาคต แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเป็นบริการอะไร ส่วนการเพิ่มลูกค้าแรบบิท ไลน์ เพย์ ยังเน้นที่กรุงเทพฯเป็นหลัก ส่วนการขยายไปต่างจังหวัดจะเป็นการไปตามพาร์ตเนอร์ร้านต่าง ๆ มากกว่า

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!