คิดนอกกรอบ-อัพเกรดทักษะ ชี้ทางธุรกิจรับมือโลกไร้พรมแดน

ความท้าทายของโลกธุรกิจในปัจจุบันไม่ใช่มีแค่ “คู่แข่ง” หากต้องปรับตัวปรับองค์กรรับมือกระแสเทคโนโลยีดิสรัปชั่นที่ถาโถมเข้าใส่อย่างไม่หยุดหย่อน ใครปรับไม่ทันมีสิทธิ์ล้มครืนกลืนหายไปในคลื่นดิจิทัลได้ในชั่วพริบตา ในเวทีสัมมนา AIS ACADEMY for THAIs : Intelligent Nation Series 2019 ครั้งแรกของปี บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดวงเสวนาในหัวข้อ “เดินธุรกิจอย่างไรเมื่อโลกไร้พรมแดน” โดยเชิญผู้บริหารระดับสูงในวงการธุรกิจมาแลกเปลี่ยนมุมมอง

“คน” กุญแจขับเคลื่อนธุรกิจ

“ชนิตร ชาญชัยณรงค์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มบริษัทเซ็นทรัลกรุ๊ปกล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีได้สร้างความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในธุรกิจและอุตสาหกรรม ทำให้สิ่งที่จับต้องไม่ได้และไม่เคยได้รับความสนใจอย่าง “ทรัพย์สินทางปัญญา” หรือ “ข้อมูล” บิ๊กดาต้า เป็นสิ่งมีค่ามหาศาล หรือแรงงานคนกลายเป็นสิ่งสิ้นเปลืองและแทนที่ด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ เช่น “อเมซอน” ที่สร้างรายได้มหาศาลกว่า 8.8 ล้านล้านบาท จากบริการคลาวด์เซอร์วิส สะท้อนให้เห็นว่าการบริหารจัดการข้อมูลสำคัญที่สุด

ขณะที่เทคโนโลยีเองเปลี่ยนตลอดเวลา ส่งผลให้ธุรกิจต้องปรับตัวทั้ง “คน” และการบริหารคน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสำหรับไขไปสู่ความสำเร็จ

“คนจะเป็นทั้งผู้บริหารที่ต้องมองทิศทางตลาดและธุรกิจให้ออกและตัดสินใจอย่างถูกต้อง เช่น เซ็กเมนต์ใดคุ้มค่าลงทุน และเป็นผู้ใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

ในส่วนของกลุ่มเซ็นทรัลก็ต้องปรับตัวไปตามพฤติกรรมของคน เมื่อคนเริ่มซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ ต้องเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้ทัน และต้องให้ความสำคัญกับ “moving data” ข้อมูลที่อัพเดตอยู่ตลอดเวลา รวมถึงฝึกอบรมบุคลากรโดยเฉพาะคนรุ่นเก่าให้เท่าทันกับเทคโนโลยี

โดยต้องให้มีจุดแข็ง 3 ด้าน หรือ 3ex คือ exponential การเติบโตอย่างก้าวกระโดด อาทิ รายได้หรือฐานลูกค้า และ exclusive การมีจุดแข็งเฉพาะตัวอย่างเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ และที่สำคัญคือ การนำจุดแข็งหรือข้อมูลที่มีไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือ execution สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและนำไปสู่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง

ดิจิทัลดิสรัปต์ความท้าทายแห่งยุค

ด้าน “อราคิน รักษ์จิตตาโภค” หัวหน้าฝ่ายงานโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีและเครือข่าย บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต, โมบิลิตี้และคลาวด์ได้เข้ามาดิสรัปต์โลกธุรกิจ และถือเป็นความท้าทายขององค์กรที่จะต้องปรับตัว เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูล ขณะที่โมบิลิตี้ทำให้ธุรกรรมต่าง ๆ ทำได้ทุกที่ และคลาวด์ทำให้นวัตกรรมใด ๆ ที่คิดได้ชั่วข้ามคืนสามารถเข้าสู่ตลาดได้เลย

“โลกไร้พรมแดนแล้ว คนเราเฉลี่ยมีความคิด 70,000 ครั้งต่อวัน ขณะที่ประชากรทั้งโลกมี 7.5 พันล้านคน จึงไม่มีไอเดียใหม่เกิดขึ้นได้เลย อยู่ที่จะกล้าทำไหม บริษัทใหญ่ต้องปรับตัว”

นอกจากนี้ เส้นแบ่งของแต่ละธุรกิจแต่ละอุตสาหกรรมยังค่อย ๆ จางลง ทำให้หลายธุรกิจขยายเครือข่ายดิสรัปต์ธุรกิจอื่นต่อไปเรื่อย ๆ อาทิ กรณี LINE ที่ไม่ใช่แค่บริการ “แชต”

“ธุรกิจโทรคมนาคมก็ต้องปรับตัว โชคดีที่เอไอเอสมีโครงสร้างพื้นฐานแข็งแรง และแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ยังต้องอาศัยการสื่อสารโทรคมนาคมอยู่”

ขณะเดียวกัน เอไอเอสได้มีการลงทุนเรื่อง “คน” อย่างต่อเนื่อง ทั้งส่งเสริมการเรียนรู้และกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนความเห็น เช่น มีโครงการ “รู้จักล้ม” เปิดเวทีให้พนักงานมาแชร์ไอเดีย มีแพลตฟอร์มการเรียนรู้ผ่านออนไลน์ “LearnDi” และโครงการ “ทาเลนต์” ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในการฝึกอบรมให้พนักงาน เป็นต้น

สตาร์ตอัพต้อง “กล้า” นอกกรอบ

“มารุต ชุ่มขุนทด” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง “Class Cafe” สตาร์ตอัพร้านกาแฟที่เริ่มจากโคราช และใช้เวลาแค่ 3 ปีขยายสาขาไปกว่า 24 สาขา ก่อนขยายมากรุงเทพฯกล่าวว่า ในมุมมองของสตาร์ตอัพการเคลื่อนตัวของเทคโนโลยี การดิสรัปต์ คือ “โอกาส” ขึ้นอยู่กับว่า “กล้าแค่ไหน” ที่จะคิดนอกกรอบ และนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นอาวุธ

“เทคโนโลยีคืออาวุธ แต่สิ่งที่บล็อกเรามากที่สุดคือแนวคิดที่จะกล้าแค่ไหนที่จะเดินไปดิสรัปต์เบอร์ 1 ทั้งหมดอยู่ที่ใจของเรา”

สำหรับการแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ควรมองว่า ด้วยขนาดองค์กรจำนวนสาขาที่มีคือภาระที่ทำให้เคลื่อนตัวยากต่างจากหน้าใหม่ที่ขยับตัวได้เร็ว ฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ กลับไปศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภค เช่น ปัจจุบันผู้บริโภคอยู่ในยุคโซเชียล จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคประทับใจและกลับมาใช้บริการซ้ำ ดังนั้น จึงต้องนำ “AI” (ปัญญาประดิษฐ์) เข้ามาช่วยในเรื่องการจดจำใบหน้าลูกค้าและเก็บข้อมูลต่าง ๆ เพื่อที่จะได้สามารถเสิร์ฟสินค้าได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค

“ธุรกิจกาแฟแข่งขันสูง แบรนด์ที่จะอยู่ได้ต้องมีแนวคิดแตกต่าง นี่คือสิ่งที่ท้าทายมากสำหรับคนที่คิดจะทำธุรกิจร้านกาแฟ”

นอกจากนี้ ผู้บริโภค อาทิ นักศึกษา หรือกลุ่มสตาร์ตอัพต่าง ๆ ยังเข้ามาใช้เวลานั่งทำงานในร้านกาแฟจึงต้องมีพื้นที่กว้าง และอำนวยความสะดวกทุกอย่าง เช่น มีปลั๊กไฟ มี WiFi รองรับความต้องการของผู้บริโภค ทำให้บริษัทร่วมมือกับเอไอเอสในการเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตในการให้บริการลูกค้าอัพโหลดข้อมูลต่าง ๆ ขึ้นบนคลาวด์ (cloud) ที่มีความปลอดภัย

“สิ่งสำคัญสำหรับเอสเอ็มอีหรือสตาร์ตอัพ คือความกล้าจะเสนอไอเดียใหม่ หลุดจากแนวคิดเดิม ๆ เป็นหัวใจหลัก สำหรับคนรุ่นใหม่ อาจมีอุปสรรคบ้าง แต่คือทางเดินไปสู่ความสำเร็จ”

สร้าง “โอเพ่นแพลตฟอร์ม” แชร์ข้อมูล

“ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ระบุว่า สิ่งที่สำคัญในยุคนี้คือ “digital literacy” รู้เท่าทันและเข้าใจเทคโนโลยีอย่างถูกต้อง ขณะที่ “ข้อมูล” มีความสำคัญในแง่ที่จะนำไปต่อยอดได้อย่างไร ซึ่งปัจจุบันภาครัฐกำลังพยายามสร้างโครงสร้างสถาปัตยกรรมของระบบข้อมูลให้เป็นระบบเปิด (โอเพ่นแพลตฟอร์ม) เพื่อให้เอกชนภาคประชาสังคมนำข้อมูลที่ภาครัฐเก็บไว้ไปใช้ต่อยอดได้

“รัฐตอบโจทย์แทนประชาชนไม่ได้ ต้องให้ประชาชนหาเพนพอยต์ หาโซลูชั่นแล้วให้เข้าถึงข้อมูลที่ภาครัฐจัดเก็บเพื่อสร้างโอกาสให้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ รัฐต้องปรับตัวเพื่อให้ประชาชนเข้าถึง ในอนาคตคงไม่มีใครอยากเดินเข้าหน่วยงานรัฐแล้วนั่งรอคิว ภาครัฐเองควรหาพาร์ตเนอร์ที่เป็นเอกชนมาช่วยพัฒนาการให้บริการและปรับสู่การทำงานแบบใหม่”

นอกจากนี้ ยังต้องสร้างความตระหนักด้านความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล เพราะแม้ว่ากฎหมายจะดีแค่ไหน ถ้าคนไม่มีทักษะในการนำเทคโนโลยีมาใช้ก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้น ปัจจัยความสำเร็จของประเทศไทยคือการทำให้คนไทยยกระดับตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีดิสรัปชั่น

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!