JVCเร่งDDLPตั้งเป้าปล่อยกู้ปีนี้ 100 ล้าน

“JVC” เร่งสปีดเปิดตัวแพลตฟอร์มปล่อยกู้ผ่านดิจิทัล DDLP ให้ทัน มิ.ย.นี้ ปูพรมโปรโมต “ป๋า” ทั่วประเทศ เจาะตลาดไม่มีบัญชีธนาคาร ตั้งเป้าปล่อยกู้ปีนี้อีก 100 ล้านบาท หวังพลิกทำกำไร

นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ JVC ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชั่นด้านฟินเทคในเครือเจมาร์ท เปิดเผยว่า หลังเปิดตัวแพลตฟอร์ม “ป๋า” สำหรับปล่อยสินเชื่อออนไลน์แบบ DLP (digital lending platform) ด้วยเงินบาท บริษัทมั่นใจว่าจะเปิดตัวแพลตฟอร์มระบบสินเชื่อแบบดิจิทัลที่ไม่มีตัวกลาง “DDLP” (decentralized digital lending platform) ได้ มิ.ย. นี้ เร็วกว่าเดือน ต.ค. ตามแผน

แพลตฟอร์ม “ป๋า” ได้เก็บข้อมูลตั้งแต่ ต.ค.ที่ผ่านมา และปล่อยกู้แล้วราว 10 ล้านบาท ผ่านลูกค้าของพาร์ตเนอร์ เช่น โอเปอเรเตอร์, FN Outlet และจะหาพาร์ตเนอร์อื่น ๆ อาทิ การศึกษา, อีคอมเมิร์ซ โดยในปีนี้เตรียมงบประมาณด้านการตลาด 10 ล้านบาท เพื่อทำตลาดแบบ mass ทั่วประเทศ เจาะกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงธนาคารซึ่งมีกว่า 30 ล้านราย โดยปีนี้จะปล่อยกู้ 100 ล้านบาท

นอกจากนี้ มีแผนจะเพิ่มฟังก์ชั่น อาทิ การประมูล, การโหวต เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มในการใช้งานเหรียญคริปโทเคอเรนซีในชีวิตประจำวัน ซึ่งบริษัทได้ทดลองใช้กับการแลกมือถือในร้านเจมาร์ทและแลกเครื่องดื่มในร้านคาซ่า ลาแปง

โดย 7 ก.พ.นี้ จะเปิดตัวแอป “VFIN” สำหรับประมูลด้วยสกุลเงินดิจิทัลครั้งแรกของไทย ในงานไทยแลนด์ โมบาย เอ็กซ์โป โดยจะนำรูปพร้อมลายเซ็นของ BNK48 มาเป็นสินค้าประมูล

“เมื่อระบบ DDLP สำเร็จ เชื่อว่ามูลค่าเหรียญของเจฟินคอยน์จะเพิ่มมากขึ้น และทำให้บริษัทมีข้อมูลมากขึ้น เพื่อไปต่อยอดการปล่อยเงินกู้”

ปัจจุบัน “เจฟินคอยน์” (JFIN Coin) ได้เข้าไปซื้อขายในแพลตฟอร์ม “สตางค์โปร” (Satang Pro) ผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (exchange) เนื่องจาก “คอยน์ แอสเซท” และ “แคชทูคอยน์” ที่เคยเทรด ไม่ได้รับใบอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

นอกจากนี้ยังมีแผนจะเข้าไปซื้อขายใน exchange อีก 2 ราย คือ BX และ BIZ HUB รวมทั้ง exchange ต่างประเทศ อาทิ จีน, ฮ่องกง, สิงคโปร์

“ภาพรวมเรื่องคริปโทเคอเรนซีและการทำ ICO ทั่วโลก และไทย ตอนนี้ไม่ใช่ช่วงสดใส สำหรับไทยเรื่องกฎหมายก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การทำ ICO ยากขึ้น และมีการระดมทุนแบบ STO (securities token offering) ที่ถือเป็นหลักทรัพย์ด้านการเงินจริง ๆ มาแทน เพราะจับต้องได้ง่ายกว่า”

เป้าหมายในปีนี้หลังจากระบบ DDLP เสร็จ จะช่วยพลิกจากขาดทุนปีที่แล้ว 10 ล้านบาท กลับมามีกำไรได้ ก่อนจะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯในปี 2564

ส่วนการระดมทุนอีก 200 ล้านโทเคน ยังต้องรอให้ระบบ DDLP เสร็จ รวมทั้งมูลค่าสกุลเงินดิจิทัลในขณะนั้น

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!