ธุรกิจรับมือ ดิจิทัลดิสรัปต์ เปลี่ยน “ไมนด์เซต” เจาะใจลูกค้า

โลกทุกวันนี้ได้รับผลกระทบจากกระแสดิจิทัลที่ถาโถมเข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอุตสาหกรรม จนต้องเร่งปรับตัวให้อยู่รอด

นายศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้ก่อตั้ง RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร เปิดเผยว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ตื่นตัวกับการทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัล แต่แม้จะมีข้อได้เปรียบด้านกำลังคน เงินทุน และประสบการณ์ แต่ยังขาด “นวัตกร” ที่จะช่วยสร้างและผลักดันนวัตกรรมองค์กรให้เกิดขึ้น ล่าสุด RISE จึงจัดสัมมนา “Corporate Innovation Summit 2019” – Asia”s First Experiential Conference ดึงกว่า 100 บริษัทนวัตกรรมทั่วภูมิภาคมาโชว์ผลงาน 28-29 มีนาคมนี้ เพื่อจะผลักดันให้ทุกองค์กรที่ร่วมงานได้ เปลี่ยน “ไมนด์เซต” สู่การสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น

ดิสรัปต์แรงผลักธุรกิจ

ขณะที่ “วิธพล เจาะจิตต์” ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านทรัพยากรบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การดิสรัปต์เป็นสิ่งดี เป็นแรงผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้า

“ต้องคิดใหม่และทบทวนว่า core ของธนาคารคืออะไร เปลี่ยนวิธีการทำงาน หาพาร์ตเนอร์ให้มากขึ้น เพราะเส้นแบ่งของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เริ่มเลือน ในอดีตธนาคารเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้เอาลูกค้าเป็นตัวตั้ง อะไรที่เคยได้กำไรก็ต้องวิธีทำธุรกิจใหม่มาทดแทน”

“อริยะ พนมยงค์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลน์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ธุรกิจเมื่อไหร่ที่หยุดนิ่ง ก็จะกลายเป็นเป้านิ่ง ฉะนั้นต้องเข้าใจพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาพฤติกรรมคนไทยเปลี่ยนเยอะ

“พฤติกรรมที่เปลี่ยนคือ โอกาส เทคโนโลยีทำให้เกิดขึ้นได้ ส่วนโมเดลธุรกิจคือสิ่งที่ทำให้อยู่ได้ในระยะยาว 7 ปีของไลน์ล้วนเป็นบริการใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นจากการสังเกตผู้บริโภค ทำในสิ่งที่แตกต่างและตอบความต้องการผู้บริโภค”

ในวิกฤตมีโอกาส

ด้าน “พิพิธ อเนกนิธิ” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในอนาคตนวัตกรรมจะเป็นสิ่งที่ราคาถูกลง ใคร ๆ ก็สามารถใช้ได้ แต่อุปสรรคใหญ่คือ “การต่อต้าน” จากภายในองค์กร เมื่อ 4 ปีก่อน หลายธนาคารตกใจว่าธนาคารจะถูกดิสรัปชั่น แต่เมื่อตั้งสติ จะพบว่านี่คือโอกาส

“ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ นี่เป็นโอกาสในการนำนวัตกรรมจากทุกมุมโลก มายกระดับบริการ ตอบโจทย์ลูกค้า เราต้องเปิดใจหาวิธีการทำงานใหม่

ธนาคารกสิกรไทย จึงตั้งบริษัท “กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป” หรือ “KBTG” ขึ้นมา ใช้ทุน 8,000 ล้านบาท ไม่ใช่แค่ให้ไอทีเป็นส่วนหนึ่ง แต่เป็นการปรับวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ไม่เพียงแค่โฟกัสที่ฟินเทค แต่นำทุกเทคโนโลยีมาเพิ่มความสามารถ”

“เรืองโรจน์ พูนผล” ประธาน KBTG ระบุว่า DNA ของคนทำงานในสายดิจิทัลจะต่างกับแบบดั้งเดิม หลายคนต้องการการจัดการที่รวดเร็ว วัฒนธรรมองค์กรจึงต้องสนับสนุน มีค่านิยมหลัก (core value) มีความคล่องตัว วางสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม

“พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนเร็ว คนไทยอ่านโพสต์แค่ 18 วินาที กดข้ามโฆษณาไว จะดึงดูดความสนใจอย่างไร ลูกค้าเปลี่ยน เราต้องเชื่อเรื่องการกระจายอำนาจ ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มต้องเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนเร็ว”

ปัจจุบันการทำธุรกิจไม่มีเส้นแบ่งระหว่างบริษัทกับลูกค้า และไม่มีเส้นแบ่งระหว่างอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างการทำแอปพลิเคชั่นที่มีความหลากหลายในแอปเดียวที่เรียกว่า “ซูเปอร์แอป” จึงได้เห็นความร่วมมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่กับบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น กสิกรไทย ที่ร่วมมือกับแกร็บ กับ LINE

จะปิดตัวหรือปรับตัว

ขณะที่ “ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท อุ๊คบี จำกัด ระบุว่า เทคโนโลยีได้ดิสรัปต์วงการสื่อสิ่งพิมพ์ ผลที่เกิดขึ้นคือ “ปิดตัวหรือปรับตัว” องค์กรที่จะอยู่รอดจึงต้องปรับไมนด์เซต โดยปัจจุบันผู้อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ “อีบุ๊ก” มีสัดส่วนไม่ถึง 20% แต่เป็นกลุ่มที่อ่านหนังสือเล่มมาก่อน และใช้อีบุ๊กเป็นตัวแทนหนังสือแบบกระดาษ

การทำงานของอุ๊คบีในช่วง 5 ปีแรก จึงทำงานกับสำนักพิมพ์ 2 ปีหลัง ทำงานกับคู่ค้ากับผู้ใช้งาน ผลิตคอนเทนต์ทุกแพลตฟอร์ม เป็นทั้งคนอ่านและคนเขียน เน้นเปลี่ยนผู้อ่านให้มาสร้างคอนเทนต์ ทำให้ธุรกิจเติบโตมาก 5 ปีแรกมีลูกค้า 5 ล้านคน 2 ปีถัดมาเพิ่มเป็น 10 ล้านคน

พร้อมกับพยายามหากลุ่มลูกค้าใหม่ ด้วยการสร้างแอปพลิเคชั่นให้คนอ่านสามารถเขียนนิยาย เขียนการ์ตูนได้ ซึ่งปัจจุบันมีผลงานใหม่ 15,000 เรื่องจากนักเขียนอิสระทุกวัน ส่วนวิธีการซื้อขายก็เปลี่ยน บางเรื่องอ่านได้ฟรี รายได้มาจากค่าโฆษณา การ์ตูน 1 ตอนมีราคาแค่ 3 บาท หากไม่อยากจ่ายก็ชมโฆษณา

“โลกแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ user generated content (UGC) หรือผู้ใช้ผลิตคอนเทนต์เอง และ professional generated content (PGC) หรือคอนเทนต์ที่ผลิตโดยมืออาชีพ ซึ่ง PGC ไปหาผู้แต่งที่มีความสามารถ แล้วนำมาพัฒนาเป็นฟอร์แมตใหม่ ๆ ตอนนี้อุ๊คบีมีแอปพลิเคชั่น “จอยลดา” ที่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามาเขียนนิยายได้ในรูปแบบแอปพลิเคชั่นแชต”

ด้าน “ภูมินทร์ ยุวจรัสกุล” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีททิโก (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า วงการร้านอาหารเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรให้ดิสรัปต์ การจองร้านอาหารมีอยู่แล้ว คือ การโทร.จอง หรือแอปพลิเคชั่นแต่ไม่เติบโต

การพัฒนา “อีททิโก” จึงเกิดขึ้นเพื่อผลักดันให้การจองผ่านแอปพลิเคชั่นเติบโตขึ้น โดยมองไปที่วงการที่พักซึ่งมี

“อโกด้า” เป็นแพลตฟอร์มสำหรับค้นหาและจองที่พัก ซึ่งราคาค่าห้องแต่ละช่วงเวลาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับช่วงพีกไทม์ จึงได้นำแนวคิดนี้มาใช้กับการจองร้านอาหาร

“พัฒนาทำ price dynamic ช่วงเวลาที่มีลูกค้าน้อยก็จะเสนอโปรโมชั่นลดราคาให้ลูกค้า การลดราคาทำให้มีรายได้เพิ่มเข้ามา ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย ปัจจุบันอีททิโกมีลูกค้าที่ไปเข้าใช้บริการร้านอาหารประมาณ 1 ล้านคนต่อเดือน อีททิโกให้บริการในฮ่องกง, อินเดีย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และประเทศไทย ซึ่งประเทศที่โตมากที่สุดคือ สิงคโปร์และฮ่องกง”