เล่าสู่กันฟังประสบการณ์ การลงทุนใน Startups (1)

คอลัมน์ Pawoot.com

โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ถ้าถามว่าการลงทุนในสตาร์ตอัพของผม ได้หรือเสีย ? อยากบอกว่า สุดท้ายแล้วผมว่าได้ครับ

ผมลงทุนมา 20 ปีแล้วแบ่งเป็นหลายช่วง ช่วงต้นที่ถือว่าได้ คือ บริษัทตลาดดอทคอม แต่ที่ล้มเหลวก็มีครับ

อย่างไรที่ดี อย่างไรที่เจ๊ง และต้องเตรียมตัวอย่างไร

เมื่อก่อนเราอาจไม่ได้เรียกการทำธุรกิจแบบนี้ว่าสตาร์ตอัพ แรกเริ่มผมทำธุรกิจเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่

ปี 1999 จุดเปลี่ยนคือมีนักลงทุนมาสนใจลงทุนในธุรกิจของผม นั่นคือกลุ่มโมโน และกลุ่มใหญ่เลยคือกลุ่ม Rakuten ที่เข้ามาซื้อหุ้นบริษัท เหมือนเราปั้นบริษัทที่เป็นสตาร์ตอัพขึ้นมาแล้วมีคนมาซื้อกิจการ สุดท้ายเราก็ได้เงินกลับเข้ามา ผมคิดว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว

ระหว่างนั้น ผมก็ลงทุนในธุรกิจอื่น ตัวแรก ๆ คือ thaiware.com เว็บมาร์เก็ตเพลซซอฟต์แวร์ ราวปี 2011 ช่วงแรกรายได้ต่อปีแค่ 2 ล้านบาท ผมไม่ได้ต้องการลงแค่เงิน แต่ต้องการช่วยเรื่องบริหารจัดการ ล่าสุดปี 2017 thaiware.com มีรายได้ 83 ล้านบาท

“การลงทุนไม่ได้ลงแต่เงิน ต้องดูทิศทางและให้คำแนะนำ” นั่นเป็นแนวทางการลงทุนในธุรกิจระยะแรก ๆ

ผมมีการลงทุนหลายรูปแบบ บางตัวก็เริ่มตนเองเลย เช่น ทำบริษัทออนไลน์เอเยนซี่ชื่อ Winter Egency และบริษัทที่ทำเกี่ยวกับข้อมูลบนโซเชียลมีเดียชื่อ Zocial, inc. ทำไปทำมา เติบโตต่อเนื่องอาจเพราะมีประสบการณ์มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เริ่มลงทุนในธุรกิจอื่นด้วย ปัจจุบันนี้ลงไป 20 บริษัท บางธุรกิจเริ่มต้นมาจากศูนย์ แต่มูลค่าก็โตขึ้นไปหลายร้อยล้าน บางธุรกิจเจ๊งเลยก็มี เรียกว่ามีความหลากหลายมากในแต่ละธุรกิจ

“แต่ละบริษัทที่ไปลงทุนล้วนได้ประสบการณ์” ผมค่อนข้างผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ มาครบทั้งที่สร้างธุรกิจขึ้นเองอย่างตลาดดอทคอม หรือที่ซื้อมาคือ ไทยอีเพย์ (ThaiePay) ซึ่งเป็นเพย์เมนต์เกตเวย์แรก ๆ ของประเทศไทย ซื้อมาแล้วนำมาปรับปรุงทำให้โตขึ้นกว่าเดิม จากที่มียอดขาย 200 กว่าล้านบาท ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Pay Solutions มียอดขาย 400 กว่าล้านบาทแล้ว สุดท้ายขายไปได้มากกว่าเดิมหลายสิบเท่า

นี่คือบางกิจการที่ซื้อมาแล้วปรับใหม่ให้ดีขึ้น โตขึ้น สุดท้ายก็ขายออกไป

“ทำไมผมถึงตัดสินใจขายไปทั้งทีเห็นว่ายังดี” อาจขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาที่ลงตัว บางกิจการมีนักลงทุนคนอื่นรวมด้วย บางกิจการที่มีต้องยอมรับว่าแข่งขันสูง เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องการชำระเงิน หากออกผิดจังหวะหรือบริหารผิดจังหวะก็อาจเจ๊งคามือได้ บางทีมันถึงจังหวะที่ควรขายแล้ว

อีกบิสซิเนสโมเดลที่น่าสนใจ คือ ปี 2012 ผมเปิดบริษัทขึ้นมากับเด็กฝึกงานคนหนึ่ง ชื่อ Zocial, inc. ทำเกี่ยวกับ big data บนโซเชียลมีเดีย ทำไปสักพักมีบริษัทต้องดูแลเยอะ เริ่มบริหารไม่ไหว พอมีโอกาสได้คุยกับคู่แข่ง คือ โธธ มีเดีย จึงคิดว่ารวมกันดีกว่า เปลี่ยนชื่อเป็น “โธธ โซเชียล”

จากนั้นสักสองปีได้เจอพาร์ตเนอร์เป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดีย ชื่อ “โอบีว็อค” จึงเอาความเก่ง 3 บริษัทมารวมกัน ช่วงนั้นได้รับเงินสนับสนุนจากธนาคารออมสินและตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้ามาถือหุ้น 30 กว่าล้านบาท บริษัท โธธ โซเชียล โอบีว็อค จึงรีแบรนด์ใหม่ชื่อ “ไวซ์ไซท์” (WISESIGHT) เป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลในโซเชียลมีเดีย


และตอนนี้บุกตลาดมาเลเซียแล้วด้วย