6 แนวทางดีไซน์ AI ให้ฉลาด-วางใจได้

แฟ้มภาพ
AI ปัญญาประดิษฐ์ เป็นเทคโนโลยีที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวทั้งในแง่การใช้ประโยชน์และภัยที่อาจเกิดขึ้น “ไมโครซอฟท์” จึงได้เสนอ 6 แนวทาง “ดีไซน์ AI เพื่อให้ได้รับความไว้ใจ” โดย “โอม ศิวะดิตถ์” ผู้บริหารด้านนโยบายภาครัฐ 

บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า การดีไซน์ AI เพื่อให้ได้รับความไว้ใจ (design AI to earn trust) มี 6 มาตรการที่ต้องคิด ได้แก่ “ยุติธรรม” ต้องทำให้แน่ใจได้ว่า AI จะตัดสินใจไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด โดยไม่มีอคติเมื่อได้ข้อมูล

“ความเสมอภาค” บอตควรจะมีความรู้สึกนึกคิดว่า ผู้คุยมีอารมณ์แบบไหน เพื่อตอบโจทย์ความหลากหลายของมนุษย์ ไม่ใช่แค่ฉลาด แต่ต้องมีอีคิว

“ไว้ใจได้” AI ต้องได้รับการออกแบบให้ทำงานภายใต้กรอบข้อบังคับที่ชัดเจน และผ่านการทดสอบอย่างเคร่งครัด มนุษย์ยังควรมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจว่าจะใช้งาน AI เมื่อไหร่ อย่างไร

“ปลอดภัย” AI ต้องทำงานโดยเป็นไปตามกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งกำกับดูแลการรวบรวม ใช้งาน และเก็บรักษาข้อมูล เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกนำไปใช้ตามมาตรฐานความเป็นส่วนตัว และป้องกันไม่ให้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือถูกโจรกรรม

“โปร่งใส” เมื่อ AI ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนมากขึ้น ต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วน เกี่ยวกับการทำงานของระบบ AI และสามารถระบุอคติ ความคลาดเคลื่อน และผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้

และ “รับผิดชอบ” ผู้ที่ออกแบบและติดตั้ง AI ต้องรับผิดชอบต่อการทำงานของระบบด้วย โดยบรรทัดฐานความรับผิดชอบควรกำหนดขึ้นบนพื้นฐานของประสบการณ์ และวิธีปฏิบัติจากภาคส่วนอื่น ๆ เช่น มาตรฐานด้านความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยที่เข้าพบแพทย์ เป็นต้น

“AI ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ล้วน แต่ต้องมีคนรีวิวด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เรียนรู้เองทั้งหมด เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่เข้าใจเรื่องจริยธรรม คิดวิเคราะห์ไม่ได้ การสอน AI ต้องมองให้ครบทุกด้าน พยายามหาเคสที่หายากหรือเกิดขึ้นน้อยไปสอนและทดสอบ”

สำหรับการลงทุนทำ AI ในไทยมีหลายอุตสาหกรรมให้ความสนใจตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แม้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่มีหลายองค์กรเริ่มนำไปใช้แล้ว เช่น โรงพยาบาล อุตสาหกรรมการผลิต อย่างไรก็ตาม การใช้งาน AI นั้น ไมโครซอฟท์มองว่าทุกภาคส่วนควรร่วมมือกัน (multistakeholder) เช่น ร่วมแชร์ best practices, มีการสนับสนุนการวิจัย, ดึงผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพอื่น ๆ เข้ามาสอน AI (skills training) รวมทั้งเปิดเผยข้อมูล (data availability) เช่น ข้อมูลของภาครัฐต้องเปิดเพื่อเอาไปใช้ประโยชน์

นอกจากนี้ ควรมีสวัสดิการในการดูแลกลุ่มคนที่โดนอาชีพใหม่ดิสรัปต์ และมีกฎระเบียบในการดูแล AI โดยเฉพาะ เช่น GDPR ที่เจาะลึกใน AI หรือแบงก์ชาติสิงคโปร์ ก็มีกฎหมายเข้ามากำกับบิ๊กดาต้า


ปัจจุบันไมโครซอฟท์คุยกับทั้งรัฐและการศึกษา เพื่อสร้างคำแนะนำและสร้างความตระหนัก ทั้งจับมือกับพาร์ตเนอร์ อาทิ “ดีป้า” ในการฝึกอบรม ทั้งในการเขียนโปรแกรมและพัฒนาทักษะ รวมถึง “reskill” เพื่อให้เกิดความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี