ชำแหละงาน “กสทช.” โรดแมป 5G-วิเคราะห์คืนคลื่น

ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 MHz จากช่องทีวีดิจิทัลเพื่อให้ค่ายมือถือมาประมูลไปใช้ทำ 5G แล้วจะนำเงินประมูลที่ได้กลับมาเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล แต่ทุกอย่างก็ยังดูไม่ชัดเจน เริ่มตั้งแต่กรอบเวลาการประมูลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และบอร์ด กสทช.ยังขัดแย้งกัน แถมค่ายมือถืออย่าง “เอไอเอส-ทรู” 

ยังย้ำว่า “เร็วเกินไป” สำหรับ 5G โดยเฉพาะฝั่ง “ทรู” ที่ยืนยันว่า “ถ้าไม่ยืดเวลาจ่ายเงินประมูล 900 MHz ก็จะไม่เข้าประมูลคลื่นใหม่”

ล่าสุด NBTC Public Forum เปิดวงเสวนาว่าด้วยเรื่อง ย้ายคลื่น 700 MHz ใครได้ใครเสีย และมีผลกระทบอย่างไรต่อผู้บริโภค โดย “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ความพยายามเร่งรัดประมูลคลื่นของ กสทช.

เพื่อให้มีเงินมาชดเชยทีวีดิจิทัลให้อยู่ได้ เหมาะสมหรือไม่ ทั้งที่เป็นช่วงโค้งท้ายของรัฐบาลและบอร์ด กสทช. แม้ว่าการเรียกคืนคลื่นที่ใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพไปใช้งานด้านอื่นที่สร้างมูลค่าได้สูงกว่าเป็นหลักการที่ดี

“เร็วเกินไปทั้งฝั่งที่ต้องย้ายออก ทั้งช่องทีวีดิจิทัล MUX (โครงข่าย) และผู้ชม ที่อาจจะต้องใช้เวลากว่า 20 เดือน ขณะที่ 5G ก็เร็วเกินไปมาก ๆ แม้เทคโนโลยีจะเด่น แต่ในวงการรู้ว่า ยังไม่เจอการประยุกต์ใช้ที่สร้างผลตอบแทนที่ดีได้ (used case) ทำให้โอเปอเรเตอร์ยังลังเลที่จะลงทุน 5G ในเวลานี้”

“โรดแมป 5G” : กสทช.ควรทำ

สิ่งที่ กสทช.ควรจะทำ คือ ทำโรดแมป 5G ภาพรวมทั้งหมด ไม่ใช่ทำเฉพาะ 700 MHz เพราะ 5G จำเป็นต้องใช้ทั้งย่านคลื่นความถี่ต่ำ-กลาง-สูง แต่ละย่านจะมีคลื่นใดบ้าง ราคาเริ่มต้นจะเท่าไร เมื่อไม่ชัดเจนถือเป็นความเสี่ยงของผู้ประกอบการ และเสี่ยงที่ กสทช.จะ “ด้น” ไปเรื่อย ๆ จนทำให้งานขัดกันเอง

ที่สำคัญ ควรเปิดให้ผู้ประกอบทีวีดิจิทัลสามารถคืนใบอนุญาต โดยไม่ต้องจ่ายชดเชย แต่ให้จ่ายค่าไลเซนส์ที่เหลือจากสัดส่วนเวลาที่เหลืออยู่

ส่วนช่องทีวีดิจิทัลรายใดต้องการทำธุรกิจต่อแล้วต้องมีการเปลี่ยนอุปกรณ์รับคลื่นใหม่ ถึงควรจะต้องเอาเงิน กสทช. หรือเงินประมูล 5G ไปอุดหนุน

“ไทยประมูล 3G ช้าเหลือเกิน พอ 5G ก็จะมาประมูลให้เร็วเหลือเกิน ทำเหมือนว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ของใครที่อยากจะให้เร็วให้ช้าก็ได้หมด ประเทศที่ประมูล 5G ตอนนี้ล้วนแต่ผลิตอุปกรณ์ 5G ขาย ไทยรออีก 2 ปีก็ได้”

อย่าทำตัวเป็นผู้ถือหุ้น

ที่สำคัญ ไม่ต้องวิตกจริตเยอะเรื่องประมูล ถึงขั้นต้องไปทำตัวเป็นธนาคาร ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ ขอแค่ให้ทำหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลที่ดี เช่น ลดต้นทุนจากความไม่แน่นอนของกฎระเบียบการกำกับดูแล มีโรดแมปชัดเจน รวมถึงการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน

“กสทช.ไม่ต้องพยายามทำตัวเป็นผู้ที่ถือหุ้นของบริษัทโทรคมนาคม หรือช่องทีวีดิจิทัล ไม่ต้องไปยืดระยะเวลาชำระเงินประมูล 4G ให้เจ้าสัว กสทช.ไม่ควรเป็นคนชงเรื่องให้ คสช. ยิ่งถ้า พล.อ.ประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วมาอุ้มบริษัทโทรคมนาคมจะกลายเป็นตราบาปติดตัว”

คสช.ควรยกเลิก ม.44 ที่ยืดอายุบอร์ด กสทช. เพราะเกิดคำถามว่า บอร์ดรักษาการมีอำนาจจัดประมูลใหม่หรือไม่

ต้องมี RIA วิเคราะห์ผลกระทบ

“สุภิญญา กลางณรงค์” กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และอดีต กสทช. กล่าวว่า ถ้าใช้คลื่นที่กันไว้สำหรับทีวีสาธารณะชุมชนมาให้ช่องทีวีธุรกิจใช้แทน คนที่ควรจะได้เยียวยา คือ ชุมชนที่ไม่ได้ใช้คลื่น ไม่ใช่ช่องทีวีธุรกิจ

“การรีบนำคลื่น 700 MHz มาประมูล ถือเป็นการยูเทิร์น 180 องศาอย่างรวดเร็ว เพราะก่อนนี้เคยยืนยันว่า จะใช้ต่อจนถึงปี ค.ศ. 2020 ถึงได้ให้ไลเซนส์ทีวี 15 ปี และเมื่อเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้ ควรมี RIA วิเคราะห์ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังไม่เห็น”

การเร่งผลักดันจะกลายเป็น “ขายฝัน” เพราะการจะชดเชยให้ทีวีดิจิทัลถึง 4 หมื่นล้านบาท ในทางปฏิบัติจะติดข้อจำกัดทางกฎหมายและเทคนิค

“การพยายามจัด 5G จะทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี อย่างกูเกิล เฟซบุ๊ก กลายเป็นคอนเทนต์โพรไวเดอร์ผ่านบริการ OTT โดยไม่ต้องเสียภาษี ไม่มีต้นทุนอะไรเลย เท่ากับปล่อยให้ทีวีแบบเดิมสู้กับ OTT โดยยังไม่มีมาตรการป้องกันหรือรับมือใด ๆ ยิ่งจะเยียวยา MUX ยิ่งน่ากังวล เพราะทุกวันนี้ช่องจ่ายค่าเช่าแพงยังมีปัญหาคุณภาพ ถ้าต่อไปมีคนจ่ายแทนให้ คุณภาพจะเป็นอย่างไร การกำกับของ กสทช.ยังอ่อนแอ”

สิ่งที่ กสทช.ต้องทำ คือ ต้องปูพรมโครงข่ายให้ละเอียด มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อให้คนดูมากขึ้น แก้ปัญหาทีวีดิจิทัลให้ตรงจุด การใช้เงินกองทุนของ กสทช.มาสนับสนุนการสร้างคอนเทนต์ที่ดี การกำกับ OTT ที่ทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม มีการเสียภาษี ที่ไม่ใช่แค่การไปเซ็นเซอร์

“เป็นงานที่โจทย์เยอะ ไม่ควรเป็นงานของบอร์ดรักษาการ สิ่งที่เห็นตอนนี้กลุ่มโทรคมมีอำนาจต่อรองกับ กสทช.มาก ต่างกับฝั่งบรอดแคสต์”

เยียวยาทีวีดิจิทัลขัด รธน. ?

กสทช. “ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา” กล่าวว่า ปัญหาทีวีดิจิทัลมีความซับซ้อน การจัดประมูลเมื่อ 5 ปีก่อน ณ เวลานั้น คลื่น 700 MHz ยังระบุให้เป็นคลื่นด้านบรอดแคสต์ ขณะที่เป็นจังหวะที่ทีวีกำลังถูกดิสรัปต์ และยังมีปัญหาค้างอยู่ที่ศาลปกครอง ในคดีของ “ไทยทีวี” ว่า ผู้ประกอบการจะคืนไลเซนส์ได้ไหม ต้องจ่ายเงินที่เหลือหรือไม่ ทุกอย่างจึงผูกกันไปหมด

“ก่อนหน้านี้ องค์กรกำกับของสหรัฐอเมริกา FCC ก็เคยเปิดให้ช่องทีวีที่ต้องการคืนไลเซนส์เสนอราคากลับมาได้ โดย FCC จะซื้อช่องที่ยอมขายราคาถูกสุด และเมื่อได้มาแล้วก็จะนำช่องที่คืนไปให้ฝั่งโทรคมนาคมที่ยอมจ่ายแพงสุดได้ไป เงินส่วนต่างก็จะเข้ารัฐ”

ทุกวันนี้ยังไม่เห็นข้อสรุป โดยเฉพาะที่มีท้วงติงว่า การเยียวยาทีวีดิจิทัลอาจเข้าข่าย มาตรา 45 วรรคท้ายของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุห้ามรัฐอุดหนุนสื่อมวลชน เป็นอีกประเด็นที่จำเป็นต้องตีความ