หนทางพลิกฟื้น “ทีโอที-แคท” ปรากฏการณ์พายเรือในอ่าง

ยังคงมีอย่างต่อเนื่องสำหรับกระแสการคัดค้านแนวทางพลิกฟื้น บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ด้วยการจัดตั้ง 2 บริษัทลูกขึ้นมาบริหารทรัพย์สินของทั้งคู่ร่วมกัน ด้วยการตั้งเป็นบริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN Co) และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC Co)

โดยล่าสุดเมื่อ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของทั้ง 2 แห่ง และตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) ได้ระดมพนักงานร่วมกันแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว โดยชี้ว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ต้องการลดการลงทุนซ้ำซ้อน โดย “สังวรณ์ พุ่มเทียน” ประธานสหภาพฯ แคท ได้ยื่นข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาในการใช้มาตรา 44 เพื่อปลดคณะกรรมการบริหารชุดปัจจุบันของทั้ง 2 บริษัท แล้วตั้งบอร์ดขึ้นมาเพียงชุดเดียวแล้วบริหารทั้ง 2 บริษัท เพื่อให้มีทิศทางการดำเนินงานไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปอย่างแท้จริง เนื่องจากปัจจุบันทั้ง 2 องค์กรมีธุรกิจที่เหมือนกันทำให้ต้องแข่งกันเอง และมีการลงทุนซ้ำซ้อน ทั้งยังขาดความคล่องตัวเนื่องจากมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ

ฟากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) “พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์” ในฐานะต้นสังกัดที่มีหน้าที่กำกับดูแลทีโอทีและแคท เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงดีอีพร้อมรับฟังข้อเสนอของสหภาพฯ ที่ได้มีแถลงการณ์ออกมา จากนี้ก็จะนำไปวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของแนวคิดนี้ ว่าตอบโจทย์แก้ปัญหาในอดีตของ 2 องค์กรที่มีการทำงานซ้ำซ้อนกันอยู่ เป็นผลดีที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงหรือไม่ คาดว่าจะใช้เวลาราว 3 เดือนน่าจะได้ข้อสรุป

“แต่กระบวนการตั้ง 2 บริษัทลูกของทีโอทีและแคทยังต้องเดินหน้าต่อไปตามที่มติ ครม.ได้เห็นชอบแล้ว ที่จะต้องพร้อมเปิดให้บริการได้ 1 พ.ย.นี้ ส่วนข้อเสนอก็จะนำมาวิเคราะห์ภายในกระทรวงไปก่อน ยังไม่ทราบว่าจะต้องถึงขั้นนำไปเสนอ ครม.หรือไม่ แต่ผมก็เชื่อว่าอะไรที่มันลงตัวไปแล้ว ผ่านการคิดไว้ตั้งนานแล้ว ฉะนั้นการจะมาเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือมันคงไม่ใช่”

ด้านกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที “มนต์ชัย หนูสง” กล่าวย้ำกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มที่คัดค้านแนวทางตามมติ ครม.คือสหภาพแรง งานฯ ซึ่ง “สหภาพฯไม่เท่ากับพนักงานทั้งหมด”

ขณะที่แนวทางการประเมินมูลค่าทรัพย์สินและเตรียมคัดสรรพนักงานบรรจุในบริษัทใหม่ ยังคงเดินหน้าต่อไปตามมติ ครม.

“ตอนนี้พนักงานตื่นตัวกับการเข้าไปทำงานในบริษัทลูก เพราะมีการตั้งสำนักงานที่เตรียมจะเข้าไปทำงานอย่างเต็มตัว ซึ่งเขาได้เริ่มเห็นแนวทางการบริหารงาน การบริหารค่าใช้จ่าย ต้นทุนต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพขึ้น ส่วนที่มีการรณรงค์ไม่ให้พนักงานย้ายไปที่บริษัทใหม่ก็เป็นแนวทางของสหภาพฯ ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับแนวทาง ครม.”

ส่วนข้อเสนอที่ทางฝั่งสหภาพฯยื่นมาต้องถามว่า ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพองค์กรและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันตรงไหน จากเดิมที่แต่ละบอร์ดต้องใช้เวลาพิจารณากลั่นกรองงานของบริษัทตัวเอง เมื่อรวมบอร์ดแล้วเชื่อว่าจะยิ่งกลายเป็นใช้เวลาพิจารณานานขึ้นอีก


นี่แค่ด่านแรกของการพลิกฟื้น “ทีโอที-แคท” ตามมติ ครม. ยังเต็มไปด้วยอุปสรรค ขณะที่การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ส.ค.นี้ จะมีวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ (รสก.) พ.ศ. … ที่มีสาระสำคัญคือให้ คนร.มีอำนาจจัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ และตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติขึ้นมาบริหารจัดการ 11 รัฐวิสาหกิจนำร่อง ซึ่งจะมีทั้ง “ทีโอที-แคท” รวมอยู่ด้วย จากนี้คงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ว่าอนาคตของรัฐวิสาหกิจโทรคมนาคมของประเทศจะเป็นอย่างไร