GO ! แก้ปัญหา “วันนั้น” ของเดือน

ภาพจาก www.newsofrwanda.com

คอลัมน์ สตาร์ตอัพ “ปัญหา” ทำ “เงิน” โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

 

เกิดเป็นหญิงใครว่าง่ายคะ แค่เข้าสู่ช่วง “วันนั้น” ของเดือน ก็แทบเป็นเรื่องโลกแตกสำหรับหลายคน ทั้งปวดหัว ปวดหลัง หงุดหงิด พุงป่อง สิวขึ้น เหวี่ยงวีนขั้นสุด

ในขณะที่เรากำลังหงุดหงิดว่าวันนี้จะเลือกใช้ผ้าอนามัยแบบ “Airfit” หรือ “Cooling Fresh” ยังมีหญิงสาวอีกหลายร้อยล้านคนทั่วโลก ต้องขาดเรียน ขาดงาน และเก็บตัวอยู่ในบ้าน เพราะยากจนขนาดไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัยมาใช้ต่างหาก

“อลิซาเบท ชาร์ฟ” นักศึกษาสาวจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็เคยตะลึงไปกับความจริงข้อนี้มาแล้ว ตอนมีโอกาสไปฝึกงาน World Bank ที่โมซัมบิก แล้วพบว่าสาวโรงงานที่นั่นกว่า 20 % ต้องขาดงานอย่างน้อย 30 วันต่อปี เพราะไม่กล้าออกจากบ้านใน “วันมามาก”

อลิซาเบทไม่อยากเชื่อว่าสมัยนี้ยังมีคนประสบปัญหาเรื่องนี้อีก เมื่อหาข้อมูลเพิ่มก็พบว่า ปัญหาการขาดแคลนผ้าอนามัยราคาประหยัดนี้ มีอยู่ในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ทั้งในแอฟริกา ละตินอเมริกา และเอเชีย

ที่น่าเศร้า คือแทบไม่เคยถูกหยิบยกมาพิจารณาหาทางออกอย่างจริงจังเลย ทั้งที่ส่งผลกระทบทั้งสังคม เศรษฐกิจ และจิตใจของหญิงสาวจำนวนมาก เพราะบางสังคมการพูดเรื่องประจำเดือนเป็นเรื่องต้องห้าม หรือน่าอาย

อลิซาเบทเก็บปัญหาคาใจนี้ไว้จนเรียนจบ ด้วยดีกรีปริญญาโท 2 ใบจากฮาร์วาร์ด แถมประสบการณ์การทำงานด้านไบโอเทคกับบริษัทยาระดับโลก เธอสามารถหางานดี ๆ เงินเดือนสูง ๆ ได้ไม่ยาก แต่กลับตัดสินใจแพ็กกระเป๋ามุ่งหน้าสู่รวันดา 1 ในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก เพื่อหาทางออกเรื่องนี้

ที่นี่เธอพบว่าหญิงสาวกว่า 18% ต้องขาดเรียนขาดงานช่วงมีประจำเดือน เพราะผ้าอนามัยราคาสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำเสียอีก

ทางเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ คือ ต้องทำให้ผ้าอนามัยราคาต่ำลง โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่นเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และต้องคิดค้นวิธีการผลิตที่ใช้ทรัพยากร เช่น น้ำ ไฟ ให้น้อยที่สุดเพื่อลดต้นทุน

หลังลองถูก ลองผิดมาหลายรอบ ในที่สุดอลิซาเบทก็มาลงเอยที่ “กล้วย” พืชผลทางเกษตรที่หาได้ทั่วไป ราคาถูก และมีกากใยที่ซึมซับของเหลวได้ดี เธอจัดการเขียนโครงการเพื่อขอทุนจาก ฮาร์วาร์ด และมูลนิธิ Echoing Green แล้วก็ได้เงินทุนมาก้อนหนึ่งเพื่อเริ่มทำการทดสอบ และจดสิทธิบัตรขั้นตอนการผลิตที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยไม่ต้องใช้น้ำ และสารเคมีใด ๆ

ผ่านมาสิบปี อลิซาเบทยังปักหลักอยู่ที่รวันดา บริหารสตาร์ตอัพเล็ก ๆ ของเธอ

สตาร์ตอัพแห่งนี้ชื่อว่า SHE ผลิตผ้าอนามัยทำจากกล้วย ยี่ห้อ Go! ซึ่งเป็นชื่อที่สาว ๆ ในออฟฟิสคิดกันขึ้นโดยย่อมาจาก Girls on the Go!

Go! มีหน้าตาและคุณสมบัติเหมือนผ้าอนามัยทั่วไปที่เราคุ้นตา บรรจุในแพ็กเกจสีสันสดใส และมีราคาแค่แพ็กละ 70 เซ็นต์ (1 แพ็กมี 10 ชิ้น) ถูกกว่าผ้าอนามัยทั่วไปในตลาดถึง 35 %

กลุ่มเป้าหมายคือ หญิงสาวที่มีรายได้ไม่เกิน 2 เหรียญต่อวัน มีช่องทางการขายหลัก ๆ ได้แก่ เครือข่าย NGOs โรงเรียน และตั้งแผงขายตามงานในชุมชนต่าง ๆ

ปีที่แล้ว SHE ขายผ้าอนามัยได้ 227,000 แผ่น ช่วยให้สาว ๆ กว่า 11,000 คนไม่ต้องขาดเรียนหรือขาดงานและยังช่วยให้ความรู้ด้านสุขอนามัยช่วงมีประจำเดือนแก่เด็กนักเรียนอีกกว่าพันคน ตามโรงเรียนห่างไกล ปัจจุบัน SHE มีพนักงานเกือบ 30 คน และทำให้ชาวสวนกว่า 600 รายมีรายได้จากการขายผลผลิตตรงมาที่โรงงาน

อลิซาเบทมีแผนจะขยายการผลิตในประเทศให้ได้มากขึ้น และยังตั้งเป้าจะลงไปสำรวจความเป็นไปได้ในการผลิตในประเทศอื่น ๆ ด้วย เช่น ยูกันดา เคนยา บังกลาเทศ และอินเดีย

ผลงานของอลิซาเบททำให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Johnson & Johnson เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษา ส่งผู้เชี่ยวชาญมาคอยให้คำแนะนำ โดยมองเห็นศักยภาพในการขยายผลต่อยอดโมเดลนี้ไปในอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ที่มีโอกาสเติบโตสูง

เทคนิคที่ SHE พัฒนาขึ้นโดยไม่ต้องใช้น้ำในการผลิตเลย ทำให้เหมาะที่จะนำไปใช้กับอีกหลายประเทศที่ยากจนเพราะจะช่วยลดต้นทุนไปได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

ถ้า 10 กว่าปีก่อนมีคนบอกอลิซาเบท ว่า เธอจะคิดค้นการทำผ้าอนามัยจากกล้วยและวิธีผลิตโดยไม่ต้องใช้น้ำและสารเคมีขึ้นมา เธอคงไม่เชื่อ เพราะแม้แต่บริษัทใหญ่ที่เธอเคยไปขอคำแนะนำยังถึงกับส่ายหัวว่าเป็นไปไม่ได้

หากสถานการณ์สร้าง “วีรบุรุษ” ความขัดสน ก็เป็นแหล่งกำเนิดของ “นวัตกรรม” ดี ๆ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้คนมาแล้วมากมาย และ Go! เป็นหนึ่งในนั้น ต้องขอบคุณความมุ่งมั่นของอลิซาเบทที่ไม่ยอมแพ้อุปสรรคตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผลงานของเธอทำให้หญิงสาวมากมายดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างอิสระไม่ต้องกังวลกับ “วันนั้น” ของเดือนอีกต่อไป

 

ภาพจาก www.newsofrwanda.com