ปั้นสะพานเชื่อมนวัตกรรม NIA สลัดภาพ “ป๋า” แจกเงิน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “นวัตกรรม” คือกลไกขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้ไทยก้าวข้ามพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ที่ผ่านมา “NIA” สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ช่วยผลักดัน ปีนี้ประกาศปรับยุทธศาสตร์ใหม่

“ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ผู้อำนวยการ NIA เปิดเผยว่า ทิศทางปีนี้จะปรับภาพลักษณ์ที่เดิมถูกมองว่า เป็นหน่วยงาน “แจกเงิน” ให้ SMEs เป็นการมุ่งพัฒนาระบบนวัตกรรมแห่งชาติของประเทศให้เข้มแข็งเป็น “system integrator” โดยเป็นผู้สร้างสะพานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง 4 กลุ่ม คือ ภาครัฐ เอกชน การศึกษา และประชาสังคม

โดยในส่วนของภาคเอกชน จะมี 2 กลุ่ม คือ 1.องค์กรขนาดใหญ่ที่มีเงินลงทุน ร่วมกันสร้างพื้นที่นวัตกรรม innovation district เช่น กับทรู ดิจิทัล พาร์ค สร้างพื้นที่ให้เทคคอมปะนี ซึ่งเริ่มแล้วที่ย่านปุณณวิถี, โยธี, กล้วยน้ำไท และกำลังเจรจากับ “เอ็มโพเรียมกับเซ็นทรัล” รวมพื้นที่กว่า 2 ล้าน ตร.ม. โดยนำแรงจูงใจด้านภาษีเข้ามาช่วย กับ 2.กลุ่มสถาบันการเงิน ที่จะเปลี่ยนจากเดิมที่ NIA ช่วยจ่ายดอกเบี้ย 36 เดือนให้ผู้ประกอบการ เป็นการเสนอรายชื่อธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตให้กับธนาคารที่มีกองทุนร่วมทุนในบริษัทนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาเลือกลงทุนเอง ซึ่งขณะนี้เริ่มเจรจากันแล้ว 3-4 ราย

ส่วนกับ “ภาครัฐ” จะดึงให้สตาร์ตอัพเข้าไปทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ขณะที่ภาคประชาสังคมจะทำงานร่วมกับโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์และมหาวิทยาลัยสร้างโปรแกรมหนุนโต ปีนี้ NIA มีงบประมาณราว 300 ล้านบาท

สำหรับสนับสนุนผู้ประกอบการ แบ่งเป็นกลุ่มสตาร์ตอัพ SMEs และกิจการเพื่อสังคม ซึ่งจะมีรูปแบบสนับสนุนเป็น 3G ได้แก่ “Groom” มีหลักสูตร NIA Academy, หลักสูตรสำหรับผู้บริหาร Chief Innovation Officer, ทำศูนย์ Innovation foresight Institute (IFI) สำหรับรวบรวมข้อมูลให้ผู้ประกอบการนำไปต่อยอด

“Grant” ให้เงินทุนสนับสนุน ได้แก่ “ธุรกิจนวัตกรรมมุ่งเป้า” ใน 6 สาขา สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท ได้แก่ ธุรกิจนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ นวัตกรรมอาหารออกแบบสำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นวัตกรรมสมุนไพรเพื่อกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นวัตกรรมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเพื่อความมั่นคงและกิจการพลเรือน นวัตกรรมท่องเที่ยว และธุรกิจนวัตกรรม smart logistic/อุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยี IOT

อีกส่วนคือ “ธุรกิจนวัตกรรมแบบเปิด” สูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านบาท กับ 3 สาขา ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจการผลิตและการหมุนเวียน และเศรษฐกิจบริการและแบ่งปัน

“สตาร์ตอัพที่ NIA ให้เงิน สามารถระดมทุนได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท”

สุดท้ายคือ “Growth” มีเครือข่ายช่วยให้สตาร์ตอัพพบนักลงทุนเพื่อการเติบโต โดยกองทุนที่ NIA ดูแลมีมูลค่ารวมกันประมาณ 3,500 ล้านบาท มีการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมผ่านเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ

“จะพยายามดึงนักลงทุนและสตาร์ตอัพต่างประเทศมาไทย เพื่อให้เอกชนจับมือลงทุนเป็นบริษัทร่วมทุนในไทย”

3,000 บริษัทนวัตกรรมใน 10 ปีตั้งเป้าใน 10 ปี จะมีบริษัทนวัตกรรม 3,000 ราย เป็นบริษัทขนาดใหญ่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 3-4 ราย พร้อมกับยกอันดับด้านนวัตกรรมของไทย โดยปีที่แล้วอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกของไทยอยู่ที่ 44 จาก 126 ประเทศ ขยับจากอันดับ 51 และ “กรุงเทพฯ” เป็นเมืองที่สตาร์ตอัพอยากมาทำธุรกิจที่สุดอันดับ 7 ของโลก และที่ 1 ของเอเชีย โดยตั้งเป้าให้ปี 2573 ไทยต้องเป็น top 20 ของทุกชาร์ตด้านนวัตกรรม

“ปัญหาตอนนี้ คือ ไทยไม่มีการเก็บตัวเลขข้อมูลชัดเจน เช่น ตัวเลขการลงทุน ดังนั้น ถ้าส่งข้อมูลครบถ้วน คะแนนการจัดอันดับก็ขึ้น เพราะศักยภาพไทยไม่ได้เลวร้าย”

เงินลงทุนไม่ใช่ปัญหา 

ระบบนิเวศของสตาร์ตอัพไทยค่อนข้างดี ปัจจุบันมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 40,000 ล้านบาท เติบโต 5-6 เท่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นเงินจากธุรกิจโทรคมนาคม 13% ธนาคารและองค์กรขนาดใหญ่รวมกันกว่า 75% กองทุนทั่วไป 12% มีสตาร์ตอัพแอ็กทีฟกว่า 750 ราย แต่ที่ไม่จดทะเบียนบริษัทรวมกว่า 8,000 ราย

ปีนี้คาดว่าจะมีการลงทุนดีลใหญ่ ๆ เพิ่มมากขึ้น แต่สตาร์ตอัพไทยก็ยังโตไม่พอจะให้ลงทุน โดยธุรกิจที่ได้รับความสนใจมาก คือ HealthTech, AgriTech, FoodTech โดย NIA ต้องการปั้นให้เกิด DeepTech ผ่าน inno-vation district และคาดว่าภายใน 5 ปีไทยจะมียูนิคอร์น 1-2 ราย ซึ่งจะเน้นไปที่ภาคการศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะระดับอาชีวศึกษาและปริญญาโท

“ปัญหาตอนนี้ไม่ใช่ไม่มีเงินลงทุน แต่สตาร์ตอัพยังไม่ตอบโจทย์ ฉะนั้นต้องโตคิดสเกลระดับโลกและโตให้เร็ว”

“โดย NIA ต้องทำความเข้าใจกับกระบวนทัศน์ความคิดของคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น เพราะปัญหาของหน่วยงานรัฐ กับสตาร์ตอัพ คือ ช่องว่างด้านเจเนอเรชั่นที่ต้องการอิสระ”