กสทช. ชง ม.44 รีเซตธุรกิจ ปลดล็อกยืดจ่ายค่าคลื่นพ่วง 5G

กลับมาอีกครั้งกับกรณีการเสนอให้ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ขยายเวลาการชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz งวดสุดท้ายให้ค่ายมือถือ แม้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะเคยผลักดันมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ ธ.ค. 2560 แต่ก็เงียบหายไป ล่าสุดมีลุ้นอีกรอบเมื่อ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกตัวแทน 3 ค่ายมือถือ, กสทช. และกระทรวงดีอี มาหารือ

โดย “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สาเหตุที่เรื่องนี้กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เพราะ “ดีแทค” ได้ทำหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ผ่านทางรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

โดยระบุว่า ที่เข้าประมูลคลื่น 900 MHz เนื่องจากเป็นย่านคลื่นที่มีความจำเป็น แม้ กสทช.จะตั้งราคาไว้สูงมาก มิฉะนั้น ดีแทคต้องหยุดประกอบกิจการและประชาชนได้รับผลกระทบ จึงอยากให้มีการพิจารณาทบทวนอีกครั้ง

“เรื่องจึงส่งต่อมาถึง รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม และได้เชิญทั้งผู้ประกอบการ และ กสทช.เข้าไปให้ข้อมูล ผมก็แจ้งไปว่า ราคาคลื่นสูงเกินไป สูงกว่าราคาเริ่มต้นประมูลถึง 6 เท่า เนื่องจากอุบัติเหตุกรณีมีการทิ้งใบอนุญาต ทั้งโอเปอเรเตอร์ยังระบุว่า ลงทุน 4G ไป เพิ่งเปิดให้บริการได้แค่ 3 ปี ยังไม่คืนทุนเลย หากต้องเปลี่ยนไป 5G ไม่มีเงินลงทุน และเพดานเงินกู้เต็มหมดแล้ว ดังนั้น การประมูลคลื่นใหม่รวมลงทุนโครงข่ายต้องใช้เงินอีก 1.5-2 แสนล้านบาท ถ้าไม่ยืดเวลาจ่ายให้จะเอาเงินที่ไหนไปลงทุน”

“เอไอเอส-ทรู” ขอยืด 7 ปี ดีแทค 15 ปี

สำหรับข้อเสนอของ “เอไอเอส และทรู” คือ ขอยืดเวลาในการจ่ายงวดสุดท้ายที่จะครบกำหนดในเดือน มี.ค. 2563 โดย “เอไอเอส” ต้องจ่าย 59,574 ล้านบาท และ “ทรู” 60,218 ล้านบาท ยืดไป 7 งวด (7 ปี) ซึ่งเป็นข้อเสนอเดิม โดยสำนักงาน กสทช.เคยให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของ คสช.ว่า ควรยืดได้สูงสุดไม่เกิน 5 งวด และต้องจ่ายดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ย

นโยบายของ ธปท.ด้วย เพราะเอกชนไม่ได้เสนอว่าจะจ่ายดอกเบี้ยให้ ส่วนทางดีแทคขอให้พิจารณาขยายเวลาการจ่ายเงินประมูลทั้งหมด โดยหารเฉลี่ยเป็นรายปีตลอดอายุใบอนุญาต 15 ปี ไม่ใช่เฉพาะเงินประมูลงวดสุดท้าย และไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย

กสทช.ขอพบกันครึ่งทาง

“เอกชนอยากขยายให้ต้องจ่ายน้อยที่สุด และไม่ต้องมีดอกเบี้ย แต่ กสทช.เห็นว่า ทำให้ไม่ได้ ควรอยู่ในระดับกลาง ๆ ที่จะทำให้เอกชนเดินหน้าต่อได้ โดยมีสัญญาว่าต้องเข้าประมูลคลื่นใหม่ และต้องลงทุนพัฒนา 5G ให้เกิดขึ้นในปี 2563 ถ้าเป็นแบบนี้ก็เท่ากับเงินที่รัฐยืดเวลาจ่ายให้ไม่ได้หายไปไหน แค่เปลี่ยนรูปจากเงินค่าประมูลเป็นการลงทุน 5G และรัฐก็จะได้เงินปลายทางมากขึ้น ทั้งจะได้เงินประมูลไปช่วยเหลือทีวีดิจิทัล”

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอจาก กสทช.ล่าสุด ยังไม่ได้สรุปเป็นทางการและเมื่อดีแทคขอยืดเป็น 15 ปี ถ้าจะยืดให้ตามข้อเสนอของเอไอเอสกับทรูที่ขอแบ่งงวดสุดท้ายเป็น 7 งวด เท่ากับว่างวดจ่ายเงินประมูลทั้งหมดเป็น 10 ปี ใกล้เคียงกับที่ดีแทคขอมา โมเดลนี้เอกชนต้องจ่ายดอกเบี้ย หรือใช้โมเดลดีแทค คือ นำเงินประมูลทั้งก้อนมาหาร 10 ปี ถ้า 3 งวดที่จ่ายไปก่อนหน้านี้ ใครจ่ายน้อยกว่าค่าเฉลี่ยรายปีก็ให้จ่ายเพิ่มย้อนหลัง หากเป็นโมเดลนี้ไม่ต้องเก็บดอกเบี้ยจากเอกชนในการประมูลคลื่นครั้งต่อไปจะใช้โมเดลเดียวกันเพื่อจูงใจ ซึ่งในที่ประชุม รองฯวิษณุได้ถามกับค่ายมือถือว่า ถ้ายืดเวลาจ่ายเงินให้แล้วจะเข้าประมูลแน่นอนหรือไม่ ซึ่งผู้แทนเอไอเอสแจ้งว่า อย่านำเงื่อนไขการขยายเวลามาเป็นเงื่อนไขว่าจะเข้าประมูลหรือไม่ เพราะต้องดูเงื่อนไขการประมูลคลื่นใหม่ เพราะถ้า กสทช.ยังเซตเงื่อนไขการประมูลคลื่นเหมือนเดิม ต่อให้ยืดเวลาจ่ายเงินให้ก็ไม่เข้าประมูลคลื่น เพราะยังแบ่งการจ่ายเป็น 4 งวด ขณะที่อีก 2 เจ้าระบุว่า ถ้าไม่ยืดการจ่ายจะไม่มี 5G เกิดขึ้นแน่ เพราะไม่สามารถจะมีเงินไปพัฒนาได้

ย้ำไป 5G ช้า ปท.เสียหายล้านล้าน 

“ผมถึงต้องออกหน้าเพื่อให้ทั้งการช่วยเหลือทีวีดิจิทัลที่มีปัญหาอยู่ และวงการโทรคมนาคมเดินหน้าต่อไปได้ แม้หลายคนจะบอกว่าถ้าธุรกิจไปไม่ได้ก็ปล่อยเจ๊งไป แต่นี่คือหน้าที่ของผม ต้องผลักดัน 5G ให้เกิดให้ได้ และต้องแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัลที่เกิดอยู่ตอนนี้ ถ้าบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ผม ประมูลคลื่นไม่เกิดผลสำเร็จ ก็ยุบ กสทช.ไปเลย เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร” นายฐากรย้ำและว่า

5G จะส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ถ้าเกิดช้าส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภาคการผลิตของไทย สูญเสีย 7 แสนล้าน ถึง 1 ล้านล้านบาทต่อปี ยิ่งถ้าเกิดช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่ง ยิ่งกระทบเศรษฐกิจประเทศ

ม.44 เท่านั้น คือ ทางออก

“ถ้าไม่มี ม.44 ออกมา 5G ก็ต้องรอไปจนกว่าเอกชนจะมีเงินมาลงทุน ซึ่งตอนนี้เขาก็ยังไม่ได้คืนทุนจากที่ลง 4G ไป แม้จะมีคนมองว่า การออก ม.44 จะเปลืองตัว แต่ผมไม่เชื่อว่า นายกฯจะคิดถึงแค่ตัวเอง ท่านคิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่า ทั้งการแก้ปัญหาทีวีดิจิทัลได้ และทำให้เกิด 5G ซึ่ง ดร.สมเกียรติ (ตั้งกิจวานิชย์) ของ TDRI บอกตลอดว่า

การประมูลคลื่นไม่ต้องคิดค่าคลื่นสูง ๆ เพราะการนำไปต่อยอดให้เกิดการจ้างงาน เกิดผลผลิตอีกไม่รู้เท่าไร และทำให้รัฐจัดเก็บภาษีเพิ่มได้ในที่สุด นี่ผมกำลังเดินตามแนวทางนั้นทั้งหมด” ส่วนข้อกังวลที่ว่าหากยืดเวลาแล้วจะกระทบกับงบประมาณของรัฐบาล เพราะได้รวมรายได้จากการประมูลไว้แล้วนั้น

“ถ้ารายได้รัฐขาดก็มากู้หรือยืมเงินกองทุนของ กสทช.ได้ เพราะมีกว่า 3 หมื่นล้านบาท และยังมีเข้ามาเพิ่มอีกปีละ 7 พันล้านบาท ถ้าออก ม.44 ให้ครอบคลุมทั้งหมด ทุกอย่างก็เดินหน้าไปได้ รัฐไม่ได้เสียประโยชน์ ผมไม่ใช่นักบริหารความฝัน มองในส่วนที่ทำได้จริงทั้งหมด”

ภารกิจหลักโค้งท้ายรัฐบาล

และภารกิจหลักของ กสทช.ขณะนี้จะเน้นไปที่การช่วยเหลือทีวีดิจิทัลตามโจทย์ใหญ่รัฐบาล และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 5G ให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยกำลังเตรียมการให้มีการจัดประมูลคลื่น 700 MHz และ 2600 MHz ที่เรียกคืนกลับมา โดยจะให้ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, TDRI, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ามาร่วมประเมินมูลค่าคลื่น โดยคาดว่าจะประมูลได้ราว มิ.ย.นี้

“ได้เสนอแนวคิดกับรองนายกฯวิษณุไปแล้ว เกี่ยวกับการประมูลรูปแบบใหม่ ถ้าโมเดลนี้ใช้ได้ มิ.ย. เอกชนก็มาจ่ายเงินได้เลย แต่ยังบอกรายละเอียดไม่ได้ ทุกอย่างต้องผสมผสานอยู่รวมกันในการออก ม.44 ครั้งเดียวเลย บอกได้แต่ว่าทุกอย่างยังเป็นการประมูล อาจมีเงื่อนไขเพิ่มที่จะให้ประโยชน์กับผู้บริโภคและประเทศ ซึ่งใน มิ.ย.-ก.ค.นี้ ทุกอย่างจะชัดเจนจบหมด ทั้งช่วยทีวีดิจิทัล เริ่มต้น 5G เพื่อให้ติดตั้งอุปกรณ์ทันเปิดให้บริการใน ต.ค. 2563 ถ้ายึดหลักว่าประชาชนและประเทศชาติได้ประโยชน์ เดินหน้าได้หมด”


โดยในเร็ว ๆ นี้จะมีการหารือร่วมกันอีกครั้ง ระหว่างรองนายกฯวิษณุ โอเปอเรเตอร์ และ กสทช. ก่อนเสนอให้นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.พิจารณาก่อนการเลือกตั้ง