“เอไอเอส” โชว์วิสัยทัศน์ผู้นำ ดันไทยสู่ Digital Intelligent Nation

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส พร้อมเดินหน้าเสริมแกร่งประเทศไทยสู่ AIS Digital Intelligent Nation 2019 ในงานแถลงวิสัยทัศน์ปี 2562 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เอไอเอสประกาศนำพาประเทศไทยสู่ Digital Intelligent Nation พร้อมกับจัดงานสัมมนา AIS ACADEMY FOR THAIS เพื่อส่งเสริมให้คนไทยและองค์กรธุรกิจไทยเตรียมตัวรับกระแสการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี (disruption) นำวิทยากรจากองค์กรชั้นนำทั้งระดับประเทศ และระดับโลก มาร่วมแชร์ไอเดีย อาทิ บริษัท ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย), กลุ่มเซ็นทรัล และสตาร์ตอัพที่กำลังมาแรง-คลาสคาเฟ่ รวมถึงผู้ก่อตั้งเน็ตฟลิกซ์ และสไกป์ ท่ามกลางผู้ร่วมงานตลอดทั้งวันกว่า 6,000 คน

เพิ่มขีดแข่งขันด้วย “อินโนเวชั่น”

กานต์ ตระกูลฮุน ประธานกรรมการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กล่าวตอนหนึ่งว่า …โลกกำลังก้าวสู่ยุคที่ 4 ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นแกนหลักหลายประเทศจะเริ่มเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ในเดือนมิถุนายนนี้

โดย 5G จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ทำให้บริบทการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากมาย และเกิดแพลตฟอร์มใหม่ ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

สำหรับประเทศไทย ขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นปัจจัยชี้ว่าจะอยู่รอดหรือไม่ในเวทีโลก โดยปีที่ผ่านมาขยับขึ้นจากอันดับ 40 มาอยู่อันดับที่ 38 ของโลก ซึ่งสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ คือ การสร้างนวัตกรรม แม้จะดีขึ้น แต่ยังอยู่อันดับ 60 ของโลก

สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือของรัฐและเอกชน ซึ่งมีสัญญาณที่ดีขึ้น จากปี 2523 ประเทศไทยใช้งบประมาณในการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพียง 0.2% ของจีดีพี อยู่ในเกณฑ์ต่ำและคงที่มาตลอด เพิ่งขยับมาที่ 0.78%

ในปี 2559 ส่วนปี 2560 ตัวเลขไม่เป็นทางการอยู่ที่ 0.95% ฉะนั้น เป้าหมายที่จะขยับให้ถึง 1% ในปี 2561 จึงเป็นไปได้ ทั้งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ

“ประเทศใดก็ตามที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล จะผลักดันการเจริญเติบโตของประเทศนั้น ๆ ประเทศไทยยังมีค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตถูกที่สุดในอาเซียน และเป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งถ้าหากภาครัฐ และเอกชนร่วมมือกัน digi-talization อย่างเต็มที่ มีโอกาสที่ไทยจะก้าวสู่ประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน Top 20 และเอไอเอสขอปวารณาตัวเป็นส่วนหนึ่งช่วยผลักดันให้เกิด Digital Intelligent Nation ในไทยให้ได้”

ปักธง Digital Intelligent Nation

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า เอไอเอสก่อตั้งมา 28 ปี มั่นใจว่าได้วางรากฐานโทรคมนาคมในประเทศไทยให้เข้มแข็งไม่แพ้ประเทศใดในโลก นับตั้งแต่ทำงานร่วมกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในรูปแบบสัมปทานให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตั้งแต่ปี 2533 จนครบ 25 ปี ได้ให้ส่วนแบ่งรายได้กว่า 2.58 แสนล้านบาท ใช้เงินลงทุนโครงข่ายกว่า 2.01 แสนล้านบาท และเริ่มให้บริการในรูปแบบใบอนุญาตที่ได้รับจากสำนักงาน กสทช.มา 6 ปี มีการลงทุนประมูลคลื่นความถี่กว่า 1.44 แสนล้านบาท และใช้เงินลงทุนโครงข่ายกว่า 1.97 แสนล้านบาท

โดยเอไอเอสได้ประกาศปรับเปลี่ยนตนเองจากการเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือสู่ “ดิจิทัลเซอร์วิสโพรไวเดอร์”พร้อมประกาศสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับคนไทย เริ่มจากโครงข่ายฟิกซ์บรอดแบนด์, วิดีโอแพลตฟอร์ม, มันนี่แพลตฟอร์ม โดยแรบบิทไลน์เพย์ และจากนี้จะมุ่งไปสู่การสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มอื่น ๆ ทั้ง “บิ๊กดาต้า” ที่จะเป็นฐานสำคัญในการใช้ประโยชน์ข้อมูล และ “ไซเบอร์ซีเคียวริตี้” เพื่อให้เกิดการใช้งานที่ปลอดภัย รวมถึงการนำเทคโนโลยีอย่างบล็อกเชน, AI มาใช้

เอไอเอสไม่ปฏิเสธที่จะก้าวไปสู่เทคโนโลยี 5G ที่จะสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในโลก แต่ต้องเป็นเวลาที่เหมาะสมและใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด

“เราศึกษา ทดสอบ และทดลอง เพื่อวันหนึ่งพร้อมจะได้ทำ 5G อย่างคุ้มค่าที่สุด เราไม่ได้แข็งแรงคนเดียว แต่จะเติบโตไปด้วยกันกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ทีวีดิจิทัล มาเป็นพาร์ตเนอร์บนแอดเวอร์ไทซิ่งแพลตฟอร์มเอไอเอสเพลย์ ช่วยขายโฆษณาได้ตรงความต้องการของลูกค้า หรือร่วมกันทำดาต้าอนาไลติกส์เพื่อทำนาโนไฟแนนซ์กับแบงก์”

ภายใต้แคมเปญ “ถ้าเราทุกคนคือเครือข่าย” เอไอเอสไม่ละเลยที่จะพัฒนาด้านบุคลากรและสังคม ด้วยโครงการที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ให้เกิดผลกระทบจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และสร้าง DQ (digital intelligence quotient) เพื่อส่งเสริมอัจฉริยะด้านดิจิทัล ปลูกจิตสำนึกและการสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้งานดิจิทัลอย่างมีประโยชน์และรับผิดชอบต่อสังคม

ACADEMY FOR THAIS เติมความรู้

กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล เอไอเอส กล่าวว่า ACADEMY FOR THAIS ตั้งเป้ายกระดับความรู้คนไทยให้มีความแข็งแกร่ง และเข้าถึงบริบทของดิจิทัลดิสรัปชั่น ซึ่งในช่วง 2-3 ปี

ที่ผ่านมา “ดิสรัปชั่น” เป็นคำที่คนไทยพูดถึงบ่อย แต่ความเข้าใจของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน เอไอเอสจึงเดินหน้าต่อเนื่องกับการจัดสัมมนาในปีนี้ เพื่อให้คนไทยและภาคธุรกิจไทยปรับตัว และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น

ความท้าทายของโลกธุรกิจในปัจจุบันไม่ใช่แค่ “คู่แข่ง” เพียงอย่างเดียว แต่ “ดิจิทัลดิสรัปชั่น” คือ คลื่นที่ถาโถมซัดให้หลายธุรกิจต้องล้มหายตายจากในช่วงเวลาการสัมมนา AIS ACADEMY FOR THAIS : Intelligent Nation Series 2019 ได้เปิดวงเสวนา

“เดินธุรกิจอย่างไรเมื่อโลกไร้พรมแดน” แลกเปลี่ยนมุมมองจาก “พี่ใหญ่” ในวงการธุรกิจ” และ “รุ่นใหม่ไฟแรง” ที่กำลังเป็นที่จับตา ซึ่งเอไอเอสหวังว่าจะช่วยเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ จุดประกายความคิด นำองค์ความรู้ในวันนี้ไปประยุกต์ ปรับใช้ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของคนไทย ขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวทันโลกยุคดิจิทัลและทัดเทียมนานาประเทศ

แน่นอนว่า ปีนี้ AIS ACADEMY FOR THAIS ยังมีงานสัมมนาดี ๆ แบบนี้ตามมาอีกอย่างแน่นอน