“เอปสัน”ชูกลยุทธ์นิวเอสเคิร์ฟปูทางสร้างรายได้ยั่งยืน

“เอปสัน” ลุยตลาด “นิวเอสเคิร์ฟ” เต็มสูบ ปูทางโตยั่งยืน รุกหนักกลุ่มธุรกิจ-อุตสาหกรรมพร้อมขยายสู่ “หุ่นยนต์แขนกล” แม้รายได้เครื่องพิมพ์ยังโตสวนทางตลาดซบ ตั้งเป้าปี 2562 โตอีก 6%

 

นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า สภาพเศรษฐกิจในไทยปีที่ผ่านมายังซบเซา โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังทำให้สินค้าไอทีและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าราว 2 แสนล้านบาท ติดลบ 3% โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ติดลบ 20% แต่โน้ตบุ๊กยังโตได้ ส่วนตลาดพรินเตอร์ติดลบ จาก 1.3 ล้านเหลือ 1.2 ล้านเครื่อง ตลาดโปรเจ็กเตอร์เติบโตเฉพาะกลุ่มความสว่างสูง

ขณะที่บริษัทคาดว่าเมื่อปิดปีงบประมาณ 2561 ในเดือน มี.ค.นี้ จะเติบโตได้ 5% โดยเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ต โต 5% จากความนิยมเครื่องพิมพ์ขนาดเล็กและอุตสาหกรรมสิ่งทอ โปรเจ็กเตอร์โต 10% จากความนิยมใช้เครื่องความสว่างสูง พรินเตอร์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมโต 6% และหุ่นยนต์เติบโต 217%

ส่วนตลาดต่างประเทศที่เอปสันประเทศไทยดูแล ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา ลาว และปากีสถาน เติบโตโดยรวม 6% ขณะที่สัดส่วนรายได้ปัจจุบันมาจากตลาดไทย 89% ต่างประเทศ 11%

“เอปสันประเทศไทยสร้างรายได้เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน มีสัดส่วน 25% รองจากอินโดนีเซีย”

ขณะที่รายได้ 69% มาจากกลุ่มพรินเตอร์อิงก์เจ็ต 20% โปรเจ็กเตอร์ 10% พรินเตอร์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม และ 1% จากหุ่นยนต์ ตั้งเป้าปี 2562 จะเติบโตโดยรวม 6% ขณะที่ตลาดต่างประเทศจะโต 10% ทั้งยังคาดว่าตลาดหุ่นยนต์จะเติบโตได้ถึง 50%

สำหรับปัจจัยลบในปี 2562 มองว่าการเมืองที่ยังไม่นิ่ง การชะลอตัวของตลาดโลกโดยเฉพาะจีน ที่ส่งผลกระทบเยอะ รวมทั้งปัญหาสงครามการค้าจีน-อเมริกา รวมถึงการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงทั้งราคาและโปรโมชั่น”

ส่วนปัจจัยบวกมาจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังดี ภาครัฐทำดิจิไทเซชั่นมากขึ้น จึงมีโอกาสในด้านภาครัฐและเทคโนโลยีอิงก์เจ็ตตอนนี้ดีกว่าใช้เลเซอร์ ซึ่งเป็นจุดแข็งของเอปสันปีนี้จะเน้น 4 กลยุทธ์หลัก คือ 1.สินค้า S-curve ใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตใน 5 ปีข้างหน้า ใน 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ อิงก์เจ็ตพรินเตอร์ความเร็วสูง, พรินเตอร์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม, เลเซอร์โปรเจ็กเตอร์ความสว่างสูง, และหุ่นยนต์แขนกล เน้นเจาะกลุ่มองค์กรธุรกิจ, SMEs, ภาครัฐและภาคการศึกษา โดยโปรเจ็กเตอร์จะมีรุ่นประหยัดราคาถูกลง 35% มาทำตลาด

2.บริการหลังการขาย ที่จะตอบโจทย์การดูแลสินค้ากลุ่มธุรกิจ อุตสาหกรรม โดยตั้งทีมดูแลเฉพาะที่เข้าไปดูแลถึงสำนักงานของลูกค้า เพื่อให้เกิดการบอกต่อและเป็นลอยัลตี้ เน้นที่ 90% ต้องซ่อมเสร็จภายใน 1-3 วัน ถ้าซ่อมไม่ได้จะมีเครื่องทดแทนให้ใช้ และจะเปิดศูนย์บริการเพิ่มเป็น 170 จุด จากปัจจุบันมี 154 จุด ให้ครอบคลุมเมืองรอง

3.เพิ่มพาร์ตเนอร์ Epson Authorized Partner (EAP) สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มอิงก์เจ็ตพรินเตอร์และโปรเจ็กเตอร์เป็น 170 รายทั่วประเทศ กลุ่มพรินเตอร์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมเป็น 13 ราย และกลุ่มหุ่นยนต์แขนกลจาก 6 ราย เป็น 10 ราย

และ 4.มีการลงทุนยกระดับระบบลูกค้าสัมพันธ์ CRM ที่จะรวมข้อมูลทั้งหมดจากคอลเซ็นเตอร์ การจัดการฐานข้อมูลสินค้า การใช้งาน การบริหารศูนย์บริการและทีมงานบริการนอกสถานที่

รวมถึงฐานข้อมูลการรับประกันสินค้าเพื่อต่อยอดธุรกิจและทำแบรนดิ้ง CSR และสปอนเซอร์ชิปรถแข่งฟอร์มูล่าวัน ในส่วนของแพลตฟอร์มการทำตลาดจะดูตามกลุ่มลูกค้า โดยลูกค้าทั่วไปจะเน้นออนไลน์ ส่วนคอมเมอร์เชียลเน้นออฟไลน์ และมีกิจกรรมที่ให้ได้สัมผัสกับของจริง