PwC ชี้ซีอีโอทั่วโลก 28% มองเศรษฐกิจปีนี้ชะลอตัว ย้ำปัญหาขาดทักษะดิจิทัลฉุดโอกาสธุรกิจ

PwC เผยผลสำรวจ Global CEO Survey พบซีอีโออาเซียนเกือบครึ่งมองแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีนี้ลดลง สงครามการค้า-การเมืองส่งผลเติบโต แรงงานด้านดิจิทัลขาดแคลนกระทบธุรกิจ

นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเห็นของผู้บริหารระดับซีอีโอทั่วโลก ประจำปี 2562 จำนวน1,378 รายจาก  91 ประเทศ  ซึ่งใช้ประกอบการประชุมสมัชชาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ที่สวิสเซอร์แลนด์ พบว่า ซีอีโอทั่วโลก 28% เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะชะลอตัว เพิ่มจากปีก่อนที่มีแค่ 5%  ขณะที่ซีอีโอจากอาเซียน(สำรวจ 78 ราย) 46% เชื่อว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะชะลอตัวจากปีก่อน เพิ่มจากปีก่อนที่มีเพียง 10%

สำหรับ 5 อันดับปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและรายได้ในสายตาของซีอีโออาเซียนในปี 2562 ได้แก่ ความขัดแย้งทางการค้า 83% ความไม่แน่นอนทางภูมิศาสตร์การเมือง 81% ความไม่แน่นอนของนโยบาย 78% กฎระเบียบข้อบังคับที่มากและเข้มงวดเกินไป 77% เและ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก 73%

“ผลสำรวจในปีนี้สะท้อนให้เห็นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงขาลง โดยซีอีโอมองประเด็นเรื่องของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ความไม่แน่นอนทางการเมืองในหลายๆ ประเทศ”

นาย ศิระ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ส่งผลให้ซีอีโออาเซียนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจและกลยุทธ์ในการเติบโต โดย 29% มีการปรับกลยุทธ์ในการบริหารห่วงโซ่อุปทานและจัดหาวัตถุดิบ โดยหันไปส่งออกและหาแหล่งวัตถุดิบจากประเทศอื่นแทน รวมถึงชะลอการใช้จ่ายด้านการลงทุนออกไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ และคาดหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถเจรจากันได้ และอีก 17% เลือกที่จะเปลี่ยนกลยุทธ์ไปเติบโตในตลาดอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียอย่าง อินโดนีเซีย และ เวียดนาม

สำหรับ อุปสรรคสำคัญ 3 อันดับแรกที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของซีอีโออาเซียน ได้แก่ การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ 82% ภัยคุกคามทางไซเบอร์ 81%  และ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 72%

“การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะทางด้านดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด จะส่งผลให้บริษัทสูญเสียโอกาสหลายอย่าง ทั้งความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ รวมไปถึงการขยายสู่ตลาดใหม่ ๆ อีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ ถือเป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจในอาเซียน”