ดึงวิจัยจาก “หิ้ง” สู่ “ฟาร์ม” ปูพรม IoT ปั้น Agri-Big Data

เกษตรกรรม” เป็นอีกหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เป็นอีกหน่วยงานที่เร่งผลักดันการสร้างเกษตรอัจฉริยะ

“มีธรรม ณ ระนอง” ผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโสและรักษาการผู้อำนวยการเขตพื้นที่ภาคเหนือดีป้า เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเกษตรเป็นแกนหลักของประเทศ ขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเรื่องที่เกษตรกรคิดว่าไกลตัว ดีป้าจึงเข้ามาเป็นตัวกลางสร้างต้นแบบให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า เทคโนโลยีช่วยอะไรได้บ้างในการผลิต จึงได้จับมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำงานวิจัยลงไปสู่แปลงเกษตรจริง ๆ เพื่อให้เห็นจุดดีจุดด้อยที่จะนำมาต่อยอดการพัฒนาได้

Agri-Big Data ปลูกด้วยข้อมูล

“ศราวุธ เลาหะวิสุทธิ์” ผู้จัดการดีป้าสาขาภาคเหนือตอนบน กล่าวเสริมว่า นวัตกรรมการเกษตรแม่นยำจะเน้นการใช้ “ข้อมูล” มาช่วยในการเพาะปลูก (Agri-Big Data) ด้วยการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ด้วยเทคโนโลยี IOT (อินเทอร์เน็ตออฟทิงส์) ไว้ในแปลงหรือโรงเรือน หรือบ่อเพาะเลี้ยง เพื่อให้ตรวจวัดค่าสภาพดิน-น้ำ-อากาศ ฯลฯ

โดยได้เริ่มตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งให้ทุน Digital Transformation for Community (C1)เพื่อให้ชุมชนนำเทคโนโลยีมาใช้ อาทิ โรงเรือนเมล่อนอัจฉริยะ โรงเพาะเห็ดอัจฉริยะ และในปีนี้จะคัดเลือกอีก 15 ชุมชน อาทิ การเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวด้วยระบบปิดในพื้นที่น้ำจืด โดยใช้เซ็นเซอร์วัด-ปรับคุณภาพน้ำ

ทั้งยังมีโครงการต้นแบบฟาร์มอัจฉริยะสำหรับปลูกข้าวอินทรีย์ โดยจะใช้วิธี “แกล้งข้าว” เพื่อลดการใช้น้ำในการปลูก ตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ความเข้ม แสง ปริมาณน้ำฝนฯลฯ ทั้งยังประมวลผลควบคุมการเปิด-ปิดการส่งน้ำจากคลองเข้าสู่แปลงนาอัตโนมัติด้วยปั๊มสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์

22 ไร่ 4 แรงคน+เทคโนโลยี

ด้าน “ประทุม สุริยา” เกษตรกร “สวนครูประทุม” สันป่ายาง เชียงใหม่ หนึ่งในผู้ร่วมโครงการระบุว่าทำเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบในปี 2545 บนพื้นที่ 22 ไร่ โดยนำเทคโนโลยีรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่เครื่องเกี่ยวข้าวอัจฉริยะที่มีโปรแกรมควบคุมการทำงาน จนถึงการ “แกล้งข้าว” ที่ใช้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ทั้งที่อยู่ในนาข้าวในคลอง บนคันนา มาประมวลผลและควบคุมระบบน้ำอัตโนมัติเพื่อให้น้ำในนาข้าวอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่สุด รวมถึงเริ่มทดลองนำ “โดรน” มาใช้พ่นปุ๋ยน้ำหมักบำรุงพืช

“ทำงานได้เร็วขึ้น ลดใช้คน อย่างที่ลองใช้โดรนพ่นน้ำหมัก เดิม 1 ไร่ ต้องใช้แรงคน 1 ชั่วโมง ก็เหลือแค่ 4 นาที ซึ่งปัจจุบันแรงงานในภาคการเกษตรเป็นอีกปัญหาใหญ่ แต่ที่สวนนี้ใช้คนแค่ 4 คน จากที่เคยต้องจ้างถึง 20 คน”

ลดสูญเสียเพิ่มผลผลิต

“ศรัญญู สุภาศรี” เกษตรกรผู้เพาะเห็ด “สุภาศรีฟาร์ม” สันทราย เชียงใหม่ กล่าวว่าเห็ดเป็นพืชที่อ่อนไหวต่ออุณหภูมิ-ความชื้น หลังได้ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์วัดค่าความชื้น การระเหยของน้ำในอากาศ เพื่อประมวลผลให้ระบบพ่นหมอกสร้างความชื้นอัตโนมัติ ทำให้ผลผลิตมีน้ำหนักมากขึ้น 10% รายได้เพิ่ม

“ใช้เงินติดตั้งระบบราว 15,000 บาท แต่คืนทุนได้ภายในการผลิต 2-3 รุ่น หรือไม่ถึงเดือน ขณะที่ระบบกินไฟน้อยมาก แถมประหยัดน้ำกว่าการลากสายยางไปฉีดพ่นน้ำแบบเดิม ซึ่งเสี่ยงกับการเน่าของเห็ดได้มากกว่า ที่สำคัญคือระบบจะแสดงผลแบบเรียลไทม์ส่งตรงถึงแอปพลิเคชั่นในมือถือ ให้สามารถตรวจสอบ-ปรับตั้งค่าได้ตลอดเวลา แม้ว่าตัวจะไม่ได้อยู่โรงเพาะเห็ดก็ตาม ตอนนี้กำลังเตรียมจะติดตั้งระบบให้ครบทุกโรงเพาะ และกำลังศึกษาเรื่องการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เพิ่ม”

ปูทาง Food Valley

ผู้จัดการดีป้า สาขาภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า เป้าหมายของพื้นที่ภาคเหนือคือการเป็น food valley เนื่องจากอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปคิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจกว่าครึ่งของพื้นที่ การพัฒนาโดยนำนวัตกรรมมาใช้จึงเน้นที่การทดลองแยกเป็น “โซลูชั่นเฉพาะส่วน” เพื่อให้ง่ายต่อการเริ่มต้นลงทุนของเกษตรกร อาทิ ระบบเซ็นเซอร์วัดน้ำในแปลงปลูก ระบบประมวลผลเพื่อเปิด-ปิดการส่งน้ำ ซึ่งทั้งหมดจะเน้นการใช้อุปกรณ์ที่มีต้นทุนผลิตไม่แพง หรือเกษตรกรสามารถประกอบได้เองด้วยทุนเริ่มต้นไม่เกิน 10,000 บาท

“การดึงงานวิจัยจากหิ้งลงมาสู่แปลงเกษตร จะทำให้เกิดการพัฒนาระบบให้เสถียรขึ้น แต่จำเป็นต้องมี used case ที่ช่วยยืนยันความสำเร็จ ช่วยลดความกังวลในการลงทุนของเกษตรกร ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่ามีโอกาสในการผลักดันอีกมาก เพราะมีเกษตรกรหลายจังหวัดที่ตื่นตัว สนใจอยากนำไปพัฒนากระบวนการผลิต ซึ่งทุกวันนี้ถือว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาซัพพอร์ตได้เยอะมาก ทั้งในแง่ต้นทุนและประสิทธิภาพ ทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสบายใจเรื่องการผลิต เอาแรงไปสู้กันด้านการตลาดแทน”

ขณะที่ก้าวต่อไป คือ การตั้ง intelligent operation center (IOC) ที่เชียงใหม่เพื่อสร้างสมาร์ทซิตี้อย่างยั่งยืนด้วยระบบข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ข้อมูลด้านระบบเศรษฐกิจ ข้อมูลสนับสนุนด้านการเกษตรที่จะช่วยให้คาดการณ์ผลผลิตได้

รวมถึงการสร้าง “digital maker space” ให้เป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมในระดับภูมิภาค เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของพื้นที่ด้วยการดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน โดยดีป้ามีงบประมาณช่วยสนับสนุน 5 ล้านบาท

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!