“กสทช.” ยันประมูลคลื่น 700 MHz ธ.ค.62

กสทช.เปิดการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียต่อหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ทั้งมาตรการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน และหลักเกณฑ์ วิธีการอนุญาต แผนความถี่ย่าน 700 MHz สำหรับกิจการโทรคมนาคม ก่อนจะส่งเรื่องต่อที่ประชุมบอร์ด กสทช. คาดว่าวันที่ 12 มีนาคมนี้

พันเอกนที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กำหนดการประมูลคลื่น 700 MHz ยังคงตามเดิม คือ เดือนธันวาคม 2562 เนื่องจากต้องทำแผนคลื่นความถี่สำหรับกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ จากนั้นจึงทำการประเมินราคา โดยจะต้องใช้เวลารวมกันประมาณ 8 เดือน หลังจากประมูลเสร็จคาดว่าต้องมีกระบวนการในการปรับปรุงโครงข่าย โดยน่าจะใช้งานได้เร็วสุดในเดือนธันวาคม 2563

โดยการชำระค่าประมูลจะแบ่งเป็น 10 ปี 9 งวด งวดที่ 1 จ่าย 20% หลังจากประมูลคลื่นได้ภายใน 90 วัน งวดที่ 2-9 ชำระงวดละ 10% โดยเริ่มปีที่ 3 เป็นต้นไป สำหรับอายุใบอนุญาตมีระยะเวลา 20 ปี นับจากวันที่เริ่มใช้งานคลื่นความถี่ สำหรับกระบวนการหาราคาประมูลเริ่มต้นคาดว่าใช้เวลา 5-6 เดือน เมื่อได้แล้วจะออกเป็นประกาศอีกฉบับหนึ่ง เบื้องต้นยังไม่จ้างคนประเมิน โดยมองว่าต้องจ้างหลายฝ่ายหลายสถาบัน และไม่ควรคิดจากราคาพื้นฐานคลื่นอื่น ๆ ที่มีการประมูลไปแล้ว

“กระบวนการเรียกคืนคลื่นสำหรับประเทศไทยค่อนข้างซับซ้อน โดยเฉพาะคลื่น 700 MHz เพราะมีผู้เกี่ยวข้องหลายส่วน แต่จะนำคลื่น 2600 MHz มาประมูลก่อนหรือไม่นั้นยังไม่ทราบ แต่การประมูล 2600 MHz นั้นดูเหมือนง่าย แต่จริง ๆ ไม่มีอะไรง่าย”

สำหรับการจ่ายค่าชดเชยช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลนั้น ผู้ประกอบการยังคงต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตามเงื่อนไขเดิมทุกอย่าง และจะได้รับเงินคืนหลังการประมูลงวดแรก โดยผู้ประกอบการสามารถนำใบเสร็จรับเงินมาเบิกกับกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งผู้ประกอบการทั้งหมดมีความเห็นตรงกัน ดังนั้นจึงไม่เห็นข้อกังวลในจุดนี้

ทั้งนี้ จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าประโยชน์ที่จะได้จากการประมูลคลื่นความถี่และนำไปพัฒนา 5G จะทำให้เกิดประโยชน์ทางตรงต่อมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 248,400 ล้านบาท สร้างผลกระทบโดยอ้อมประมาณ 500,000 ล้านบาท และมีผลทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศร้อยละ 3.54


“เรื่องวันนี้เป็นเรื่องสำคัญหลังเปลี่ยนผ่านกิจการโทรทัศน์จากแอนะล็อกสู่ดิจิทัล ก็ควรปรับการใช้คลื่นความถี่ให้เป็นสากล โดยเอาคลื่นความถี่ไปใช้ในกิจการที่มีมูลค่าสูงกว่า โดยไอทียูกำหนดให้เอาคลื่น 700 MHz ไปใช้ในการใช้สำหรับเทคโนโลยี 5G ในส่วนบริการ IOT (Internet of Things)”