เปิด 4 มุมมองดาวรุ่ง ใช้ “ดิจิทัล” ปั้นธุรกิจด้วย “ข้อมูล”

เมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้เปิดเวที “Geek Tales” แนะนำการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล ผ่านมุมมอง 4 นักธุรกิจดาวรุ่ง โดย “ดร.ธีรศานต์ สหัสสพาศน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท JM Cuisine หรือ “เจ๊กเม้ง” ก๋วยเตี๋ยวเนื้อต้นตำรับ เพชรบุรี ร้านอาหารในตำนานรุ่นแรก ๆ ที่ใช้โซเชียลมีเดียสร้างแบรนด์โดนใจ

คนรุ่นใหม่ ระบุว่า การทำธุรกิจ สิ่งสำคัญคือ โฟกัสให้ชัดว่าลูกค้าคือใคร แล้วหาให้ได้ว่าพฤติกรรมของลูกค้าเป้าหมายคืออะไร อะไรคือสิ่งที่เขาชอบ อะไรคือจุดที่ลูกค้ายินดีจะจ่ายเงินซื้อ

“ถ้าจะเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ต้องรู้ว่าคนจีนไม่ดู Google map แต่ใช้ Baidu map ชอบใส่ชุดลายดอก ชอบชาร้อนมากกว่าชาเย็น เมื่อเข้าใจแล้วจึงนำมาปรับให้เข้ากับสินค้า ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่น ยินดีจะจ่ายเงินโดยไม่จำเป็นต้องลดราคา และทำให้ลูกค้าสนุก”

เมื่อโลกเปลี่ยนเร็ว แบรนด์ยิ่งต้องปรับตัวให้ทัน แต่กว่าจะเห็นผลอาจจะไม่ได้เร็วทันใจ ต้องค่อย ๆ สะสมข้อมูล ที่สำคัญคือ “รักลูกค้าจริง ๆ ไม่ใช่แค่สร้าง awareness” พร้อมดัดแปลงเครื่องมือและพร้อมแข่งขัน อย่ายึดติดกับวิธีเดิม ๆ ที่ทำสำเร็จแล้ว เพราะสักวันก็ต้องล้มหายและเปลี่ยนแปลง

“การปรับอัลกอริทึ่มของเฟซบุ๊กทำให้ลดการมองเห็น หลายคนเอาแต่ต่อว่า ไม่ยอมปรับตัว ไม่หาเครื่องมือใหม่ ๆ ทั้งที่มีคนโพสต์สตอรี่ในอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กมากขึ้น เกิดพฤติกรรมใหม่ ๆ หรือแอปอย่าง TIKTOK เป็นเครื่องมือที่แมสมาก มีอัตราการเห็นเยอะ ซึ่งความแมสจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือได้มากกว่าใช้ดาราหรืออินฟลูเอนเซอร์”

ดังนั้นทำธุรกิจต้องมองภาพให้กว้าง มองท้องถิ่นให้ออก พลิกวิธีคิดให้ได้ กระตุ้นให้ลูกค้าพูดแทนให้ได้มากที่สุด

“เรียนรู้ลูกค้าเหมือนเราตกหลุมรักใครซักคน อย่าคาดหวังว่าเขาจะรักเราเลย”

9 วิธีเล่าแบรนด์ให้ปัง

“สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม” CEO และผู้ก่อตั้ง “rgb72” ที่ปรึกษาด้าน digital marketing เปิดเผยว่า ยุคนี้ “storytelling” สำคัญต่อการสร้างแบรนด์ เพราะแบรนด์ไม่ใช่แค่บริษัท แต่หมายถึงตัวตน เมื่อสร้างเรื่องราวจะทำให้คนมองภาพของแบรนด์แตกต่างไป โดย 9 วิธีเล่าเรื่องให้คนเชื่อและเปลี่ยนความเข้าใจ สร้างแบรนด์ให้มีคุณค่าคือ 1.เนื้อหาต้อง related กับผู้ฟัง เช่น รู้ว่าเขาต้องการฟังอะไร 2.มีเรื่องราว journey เช่น มีเรื่องราวก่อนจะประสบความสำเร็จ เพื่อให้น่าสนใจและมีอารมณ์ร่วม 3.shareable ทำให้รู้สึกว่าน่าแชร์ 4.imagine สร้างสตอรี่ให้คนเกิดจินตนาการและเคลิ้มไปได้

5.simple เรียบง่าย 6.emotion ทำให้มีอารมณ์ร่วม 7.unexpected ต้องคาดการณ์ไม่ได้ เรื่องเซอร์ไพรส์เป็นสิ่งที่คนชอบ 8.compare คือ ต้องเปรียบเทียบได้ เพื่อให้มีน้ำหนักสนับสนุนแบรนด์มากขึ้น และทำให้คนบางคนเป็นฮีโร่และผู้ร้ายได้ สุดท้าย 9.just do it คือ ต้องทำทั้งหมดให้เกิดขึ้น เพราะต่อให้แบรนด์ดี แต่เล่าเรื่องไม่ได้ทุกอย่างก็จบ

แต่ปัญหาที่สำคัญที่แบรนด์มักเจอคือ “ถูก copy” แต่การจะเป็น “ออริจินอล” ต้องมีสตอรี่ที่ดีกว่า พูดได้ดังกว่า ซึ่งหลายครั้งแบรนด์มาทีหลัง กลายเป็นต้นตำรับเพราะทำได้ดีกว่า

ปั้นธุรกิจด้วยดาต้าไซเอนทิสต์

“มารุต ชุ่มขุนทด” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท คลาสคอฟฟี่ จำกัด เจ้าของ “Class Cafe” จากเมืองโคราช ที่ใช้เวลาแค่ 3 ปีก็ฮอตฮิตจนขยายแล้ว 24 สาขา และกลายเป็นตัวชี้วัดความเจริญของเมือง กล่าวว่า แม้จะเปิดร้านกาแฟ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่มากมาย แต่ “ตีความใหม่” ให้ไม่ใช่แค่ร้านกาแฟ แต่เป็นคอมมิวนิตี้ให้สตาร์ตอัพและคนทั่วไป เช่น มีคลาวด์ให้บริการโดยร่วมกับไมโครซอฟท์ แต่กว่าจะถึงวันนี้ในช่วงแรกก็มีปัญหาเรื่อง “ความรู้” แต่ได้เรียนรู้และใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย อย่าง big data AI face recognition โดย 2-3 ปีแรกทุ่มไปกับการเรียนรู้ “ดาต้าไซเอนทิสต์” นำข้อมูลย้อนหลัง 5 ปีมาใช้เพื่อคาดการณ์อนาคตให้แม่นยำ แล้วมาประมวลผลใหม่

ซึ่ง “ข้อมูล” ทำให้บริหารสต๊อก บริหารลูกค้า รวมถึงต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ดิจิทัล” ลดต้นทุน-ได้ “ข้อมูล” 

“โปร่งฟ้า อุนนาทรวรางกูร” ผู้ร่วมก่อตั้ง Polpa ผู้ให้บริการส่งอาหาร health food ที่กำลังมาแรง เปิดเผยว่า สถิติของธุรกิจร้านอาหาร พบว่า 60% ปิดตัวใน 1 ปี และ 80% ปิด 5 ปี เนื่องจากมีการแข่งขันและใช้เงินทุนสูง โดยเฉพาะ “พนักงาน” เป้าหมายจึงเน้นที่การลดต้นทุนทุกอย่างลง โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยทั้งหมด

“Polpa ใช้ 2 คนบริหาร และทำทุกอย่างโดยใช้ดิจิทัล ตั้งแต่รับออร์เดอร์ผ่านเว็บ ออร์เดอร์เข้าห้องครัว การวางแผนขนส่งใช้ AI วางแผนหาเส้นทางที่สั้นที่สุด

ถูกที่สุด ใช้ระบบบัญชีบนคลาวด์ จึงประหยัดและเร็ว ซึ่งความเร็วเป็นปัจจัยสำคัญมากในปัจจุบัน เพราะคนไม่ชอบรอ ต้องทำให้ทุกอย่างจบภายในหน้าเดียว มีรูปแบบการจ่ายเงินที่ครบ รวมทั้ง

สั่งเป็นรายเดือนได้ โดยลูกค้าเกิน 70% จ่ายเงินล่วงหน้ารายเดือน ลูกค้าก็ได้ราคาที่ดี ร้านก็ได้เงินก้อน”

ที่สำคัญคือ การใช้ดิจิทัลทำให้ได้ “ดาต้า” ที่สามารถเรียนรู้ลูกค้า วิเคราะห์ความต้องการและแก้ปัญหาได้ตรงจุด สามารถสร้างความผูกพันกับแบรนด์ได้ดี

มีข้อมูลเพื่อก้าวไปข้างหน้าและขยายธุรกิจได้ง่าย จากการมีระบบหลังบ้านที่ดี

“มีทุนไม่มาก SMEs แต่เรายอมลงทุนกับเทคโนโลยี เพื่อลดต้นทุนในส่วนอื่น และปรับตัวได้เร็ว ล้มเร็วต้องลุกเร็ว อย่าประมาทศักยภาพ SMEs แต่ต้องอดทน ต้องทำให้สำเร็จ มีวิริยอุตสาหะ”