ประธานTDRI เตือนรัฐบาลอย่าหลงเชื่อ “นิทาน” เรื่องใหม่ของ กสทช.

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2562 ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับการที่ กสทช. ขอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อยืดเวลาจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz โดยระบุว่า

“นิทาน” เรื่องใหม่ของ กสทช.

มีข่าวว่า กสทช. เสนอต่อ คสช. ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งเพื่อขยายเวลาการชำระค่าประมูลคลื่น 4G ในความถี่ย่าน 900 MHz งวดสุดท้าย ให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย โดยอ้างว่า หากไม่ขยายเวลา อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและการประมูลคลื่น 5G ในความถี่ย่าน 700 MHz ซึ่ง กสทช. ต้องการให้เกิดขึ้นในกลางปีนี้

ก่อนหน้านั้นไม่นาน ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหนึ่งก็เคยขู่คล้ายๆ กับ กสทช. ว่า จะไม่ร่วมประมูลคลื่น 5G หากไม่ขยายเวลาการชำระค่าประมูลคลื่น 4G

สำหรับผมแล้ว ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น “นิทาน” อีกเรื่องหนึ่งที่พยายามจะผูกเรื่องการ “อุ้ม” ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ากับการประมูลคลื่น 5G ต่อเนื่องจาก “นิทาน” ก่อนหน้านั้นที่พยายามที่จะผูกเรื่องการ “อุ้ม” ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ากับการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวิดิจิทัล แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ที่ผมเรียกเรื่องนี้ว่าเป็น “นิทาน” เพราะมันเป็นเพียงเรื่องเล่า ที่ไม่เป็นความจริง เนื่องจากประเทศไทยไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องรีบร้อนประมูลคลื่น 5G ในย่าน 700 MHz ดังที่กสทช. พยายามผลักดัน ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังนี้

หนึ่ง ปัจจุบัน ยังไม่มีบริการ 5G ในเชิงพาณิชย์ที่ชัดเจน ดังที่ผู้บริหาร AIS ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อันดับหนึ่งของไทยเคยกล่าวไว้เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ว่า…
แม้ 5G มีประโยชน์ที่จะทำอะไรใหม่ๆ มากมาย…แต่ไม่ใช่วันนี้” เพราะ “ยังไม่มี Business Case จึงไม่เห็นตอบแทนทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไร้คนขับ หรือ IoT ในโลกนี้ยังไม่เกิดขึ้น” และกล่าวต่อไปว่า “ที่ผ่านมา AIS ได้เข้าไปพูดคุยกับผู้พัฒนาเครือข่ายหลายๆ รายที่เป็นพันธมิตร เพื่อสอบถามถึงการลงทุน 5G ส่วนใหญ่จะให้คำตอบว่านับจากนี้ไปอีก 3 ปี ค่อยมาคิดว่าควรจะทำหรือไม่ทำ เพราะปัจจุบัน 5G ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น”

สอง กสทช. เองก็ยังทำโรดแมพในการประมูลคลื่น 5G ไม่เสร็จ หลายท่านคงทราบว่า บริการ 5G สามารถใช้คลื่นความถี่ได้หลายย่าน ทั้งความถี่ต่ำ ความถี่ปานกลางและความถี่สูง การประมูลคลื่น 5G จึงควรเกิดขึ้นเมื่อมีโรดแมพในการประมูลคลื่นทุกย่านที่ชัดเจนก่อน การซอยคลื่น 700 MHz ในย่านความถี่ต่ำออกมาประมูลก่อน โดยยังไม่เห็นความชัดเจนในการประมูลคลื่นย่านอื่น จะทำให้เกิดความได้เปรียบและเสียเปรียบกันระหว่างผู้ประกอบการที่ประมูลในครั้งนี้และในอนาคต และจะสร้างปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย

สาม การไม่เร่งรัดประมูลคลื่น 5G ในปีนี้ จะไม่มีผลทำให้ประเทศไทยมีบริการ 5G ช้ากว่าประเทศอื่น เพราะในปัจจุบันมีเพียง 3-4 ประเทศเท่านั้น ที่เปิดให้บริการ 5G ในเชิงพาณิชย์แล้วคือ เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่นและสหรัฐ (ซึ่งเปิดบริการในไม่กี่เมือง) โดยประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศที่ผลิตอุปกรณ์ 5G ซึ่งต้องการเปิดบริการในประเทศของตนให้เร็ว เพื่อผลในการโฆษณาและทำการตลาดในต่างประเทศ

รัฐบาลจึงไม่ต้องกังวลใดๆ ต่อการที่ผู้ประกอบการขู่ว่า จะไม่เข้าประมูลคลื่น 5G หากไม่ได้รับการยืดเวลาชำระค่าประมูลคลื่น 4G ออกไป เพราะประเทศไทยยังไม่ควรประมูลคลื่น 5G ไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี จนกว่าจะเห็นว่า บริการ 5G มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างไร เมื่อถึงเวลานั้น ผู้ประกอบการทั้งหลายซึ่งชำระค่าประมูลคลื่น 4G ครบถ้วนแล้ว ก็จะเข้าประมูล 5G เอง เพื่อไม่ให้เสียเปรียบรายอื่น

“นิทาน”  เรื่องนี้นอกจากไม่สนุกแล้ว ยังมีราคาแพงมาก เพราะหากรัฐบาลและ คสช. หลงเชื่อแล้วยืดเวลาชำระค่าประมูลคลื่น 4G ออกไป ตามข้อเสนอของ กสทช. รัฐก็จะเสียรายได้อย่างน้อย 1.6 หมื่นล้านบาท จากอัตราดอกเบี้ยที่ กสทช. เสนอให้เก็บต่ำมาก (คิดเฉพาะ 2 รายคือ AIS และ True ที่ขอยืดชำระไป 7 ปี ยังไม่นับที่ DTAC ขอผสมโรงยืดชำระไปอีก 15 ปี) การยืดเวลาชำระค่าประมูลคลื่น 4G ออกไป จึงขัดอย่างแจ้งชัดกับแนวทางที่นายกรัฐมนตรีเคยให้ไว้เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2561 ว่า การดำเนินการในเรื่องนี้จะต้องไม่ทำให้รัฐและประชาชนเสียหาย

ผมหวังว่า ผู้นำรัฐบาลซึ่งเป็น “บูรพาพยัคฆ์” ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก จะไม่หลงเชื่อ “นิทานกระต่ายตื่นตูม” เรื่องใหม่ แต่พลอตเดิม ที่หวังจะเอาเงินของรัฐและประชาชนไป “อุ้ม” นายทุนโทรคมนาคม ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง