“ร่าง พ.ร.บ.ข้าว” ม้วนเสื่อ ดันต่อร่าง กม.ไซเบอร์

แฟ้มภาพ

ใกล้โค้งสุดท้ายก่อนที่ภารกิจในการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะสิ้นสุดลง ในวันที่ 8 มี.ค. 2562 การประชุม สนช.ยิ่งถูกจับตาจากสาธารณชน เพราะนอกจากกฎหมายสำคัญ ๆ จะได้รับไฟเขียวถี่ยิบแล้ว ยังมีร่างกฎหมายที่รัฐบาลกับสมาชิก สนช.ต้องการผลักดันอย่างเร่งด่วนหลายฉบับจ่อคิวเข้าพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. … ที่มีกระแสต้าน

ล่าสุด ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในการประชุม สนช.วันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา มีร่างกฎหมายถูกบรรจุเข้าวาระการประชุมภายในวันเดียวถึง 7 ฉบับ โดยช่วงเช้ามีร่างกฎหมายผ่านการพิจารณา 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

รับลูก “พปชร.” ถอน พ.ร.บ.ข้าว

เดิมร่าง พ.ร.บ.ข้าว ถูกบรรจุพิจารณาวาระเรื่องด่วนที่ 1 แต่ขอเลื่อนวาระการพิจารณาเรื่องด่วนที่ 2 คือ ร่าง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ ขึ้นพิจารณาแทน ก่อนที่ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ข้าว จะออกมาชี้แจงว่าได้หารือกับทีมงานแล้ว เห็นว่าเมื่อสังคมยังไม่สบายใจ ไม่เข้าใจในตัวร่าง พ.ร.บ.ข้าว ซึ่งอาจเกิดเหตุเข้าใจผิด จึงขอเลื่อนการพิจารณาออกไปอย่างไม่มีกำหนด และเมื่อมีรัฐบาลใหม่จะหยิบยกขึ้นพิจารณาหรือไม่ก็ได้

“ขอว่าอย่าโยงเรื่องดังกล่าวถึงนายกฯเพราะท่านไม่เกี่ยวข้อง ไม่ได้สั่งการอะไร เป็นเรื่องที่เราหารือในสภา แต่จะไม่หยิบยกมาพิจารณาใน สนช.แล้วเพราะเกรงว่าความขัดแย้งในสังคมจะมีมากขึ้น ขอยุติดีกว่า” นายกิตติศักดิ์กล่าว

ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวถึงสถานะร่าง พ.ร.บ.ข้าวว่า ขณะนี้ยังไม่ถือว่าร่างกฎหมายดังกล่าวตกไป ถือว่ายังค้างอยู่ในการพิจารณาของ สนช. แต่เมื่อมีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทักท้วงมา ต้องดูว่า พปชร.ร้องเรื่องอะไร และต้องดูว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าว จะว่าอย่างไร จะมีการปรับแก้อะไรหรือไม่ แต่ยังเสนอกลับเข้าสู่ที่ประชุม สนช.ได้ใหม่ก่อน 8 มี.ค. วันสุดท้ายที่ สนช.จะพิจารณากฎหมาย

โรงสี-ชาวนาเฮ 

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า ทางสมาคมได้เสนอความเห็นท้วงติงร่างกฎหมายฉบับนี้ตามพื้นฐานข้อเท็จจริง อยากให้ทุกฝ่ายพิจารณาอย่างรอบคอบ และให้ครอบคลุมกับทั้งห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรม ไม่ใช่แค่การผลิตข้าวเปลือกมาขายให้โรงสี

2 กฎหมายดิจิทัลค้างเติ่ง

ขณะที่ 2 ร่าง พ.ร.บ.ในชุดกฎหมายดิจิทัล ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เสนอ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกบรรจุเข้าเป็นวาระ สนช. วันที่ 22 ก.พ. 2562 เพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 เป็นรายมาตรา และถูกเลื่อนมาเป็นวันที่ 26 ก.พ. โดยบรรจุไว้วาระต้น ๆ และเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนี้ไปเป็นวันที่ 27 ก.พ.

แหล่งข่าวจาก สนช.เปิดเผยว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับได้ปรับแก้ไขบทบัญญัติในชั้นกรรมาธิการวิสามัญหลายประเด็น ในส่วนของ พ.ร.บ.ไซเบอร์ ไม่มีผู้ยื่นขอแปรญัตติ หากถูกหยิบยกขึ้นพิจารณาน่าจะผ่านทั้ง 2 วาระ ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาทันที สำหรับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีสมาชิก สนช.ขอแปรญัตติ แต่คาดว่าสุดท้ายก็น่าจะผ่าน 2 วาระรวดเช่นกัน

“ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ รัฐบาลเร่งให้กระทรวงดีอีรีบนำเข้า สนช. ตั้งแต่ช่วงปีแรก ๆ แต่มีผู้คัดค้านเยอะในช่วงโค้งท้ายของรัฐบาล ได้หารือกันแล้วว่าต้องเร่งให้ออกมาเป็นกฎหมายให้ได้”

ลำดับภัยคุกคามร้ายแรง-วิกฤต

สาระสำคัญของร่างกฎหมายไซเบอร์ เมื่อประกาศใช้จะแต่งตั้ง “กมช.” บอร์ดรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ มีนายกฯเป็นประธาน และกรรมการโดยตำแหน่งมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ รมว.กลาโหม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นผู้กำหนดนโยบายการดำเนินงานจะทำผ่าน “กกม.” บอร์ดกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มี รมว.ดีอีเป็นประธาน กำหนดแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII) ของทั้ง 8 สาขาสำคัญ อาทิ การเงิน สาธารณสุข โทรคมนาคม ฯลฯ ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบ ทั้งยังแบ่งประเภทของ “ภัยคุกคามทางไซเบอร์” เป็น 3 ระดับ ได้แก่ ไม่ร้ายแรง, ร้ายแรง และวิกฤต

“วิกฤต” ไม่ต้องขอคำสั่งศาล

ถ้าเป็นภัย “ร้ายแรง” บอร์ด กกม.จะขอความร่วมมือให้บุคคลส่งข้อมูล หรือเข้าไปอสังหาริมทรัพย์ได้ โดยได้รับความยินยอม และขอคำสั่งศาลเพื่อเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์และระบบ รวมถึงยึด-อายัดอุปกรณ์ได้ แต่ถ้าเป็นระดับ “วิกฤต” และจำเป็นเร่งด่วน เลขาธิการสั่งปฏิบัติได้โดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาล

อัตราโทษเมื่อฝ่าฝืน อาทิ ม.73 ไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกของ กกม. โดยไม่มีเหตุอันควร ปรับ 1 แสนบาท ม.74 ฝ่าฝืนคำสั่งให้เฝ้าระวังและตรวจสอบคอมพ์ ปรับ 3 แสนบาท และอีกวันละ 1 หมื่นบาท ม.74 ไม่แก้ไขภัยคุกคาม จำคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท และ ม.75 ขัดขวางการเข้าตรวจสอบสถานที่ เข้าถึงข้อมูล ยึดหรืออายัดอุปกรณ์ จำคุก 3 ปี ปรับ 6 หมื่นบาท

ข้อมูลบุคคลต้องได้รับการยินยอม

ด้านร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ฉบับล่าสุดให้เวลาเตรียมตัว1 ปี หลังประกาศใช้ จะมีการแต่งตั้งบอร์ดคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สาระสำคัญ คือ การเก็บรวบรวม การใช้ การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลและสามารถถอนความยินยอมได้ในภายหลัง รวมถึงเจ้าของข้อมูลมีสิทธิขอให้ลบหรือทำลาย เมื่อการเก็บ ใช้ เปิดเผย ทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเมื่อถอนความยินยอม

ฝ่าฝืนเก็บ-ใช้-เปิดเผยข้อมูล โดยไม่ได้รับความไม่ยินยอม จำคุก 6 เดือน ปรับ 5 แสนบาท ใช้เพื่อหาประโยชน์เพิ่มเป็นจำคุก 1 ปี ปรับ 1 ล้าน กรณีหลอกลวงให้ยินยอม/ส่ง-โอนข้อมูลไม่ถูกต้อง ปรับ 3 ล้านบาท และเพิ่มเป็น5 ล้าน กรณีข้อมูลอ่อนไหวพิเศษ (สุขภาพ-ลัทธิความเชื่อ) ฯลฯ

คลิกอ่านเพิ่มเติม กฎหมายไซเบอร์-คุ้มครองข้อมูล เปิดเนื้อหา-บทลงโทษกระทบทุกภาคส่วน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!