เงินสะพัด 4.5 แสนล้าน ไอที”62 แบรนด์จีนผงาด

ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ในยุคนี้ บริษัทวิจัย ไอดีซี ประเทศไทย เปิดผลสำรวจ IDC FutureScapes 2019 สรุปสถานการณ์การลงทุนไอที และคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ในไทย

“ประภัสสร เพชรแก้ว” นักวิเคราะห์อาวุโส ไอดีซี ประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมการลงทุนไอทีของไทยในปีที่ผ่านมา มีมูลค่า 424,000 ล้านบาท

ปีนี้คาดว่าจะโตราว 6.7% อยู่ที่ 452,000 ล้านบาท และจะเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 5.4% จนถึงปี 2565 แตะระดับ 540,000 ล้านบาท ด้วยแรงผลักดันจากกระแสดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น

การใช้จ่ายไอทีในประเทศไทยหลัก ๆ จะมาจากเทคโนโลยีแพลตฟอร์มรุ่นที่ 3 ประกอบด้วยคลาวด์, โมบิลิตี้, บิ๊กดาต้าอนาไลติกส์ และโซเชียล โดยเติบโตในส่วนซอฟต์แวร์และเซอร์วิส

ส่วนฮาร์ดแวร์โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน ยังโตราว 1 หลัก ปีที่แล้วมีมูลค่า 184,000 ล้านบาท คาดปีนี้อยู่ที่ 203,000 ล้านบาทเป็น 40% ของการลงทุนไอทีไทย ส่วนฟีเจอร์โฟนจะหายไปใน 3 ปี โดยลดสัดส่วนจาก 2,000 ล้านบาท เหลือ 1,000 ล้านบาทในปีนี้

“การเมืองยังไม่มีความชัดเจน จึงไม่ได้นำมาคำนวณ ส่วนงบฯ ลงทุนไอทีขององค์กรอยู่ที่ราว 10% เน้นพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า สุดท้ายเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนการลงทุน”

“วีรเดช พาณิชย์วิสัย” ผู้จัดการฝ่ายงานวิจัย อาวุโส ไอดีซี ประเทศไทย กล่าวเสริมถึงภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนในปีนี้ว่า แบรนด์จีนจะมีบทบาทมากขึ้น เพราะผู้บริโภคให้การยอมรับ ไม่มีอุปสรรคเหมือน 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ จุดเด่นของจีนที่สเป็กดี ราคาถูก รวมทั้งมีการจับมือกับพาร์ตเนอร์ที่แข็งแรง เช่น หัวเว่ย จับมือกับกล้องไลก้า และมีอินโนเวชั่นใหม่ ๆ ที่มาก่อนแบรนด์อื่น ๆ คาดว่าปีนี้จะเป็นปีที่สดใสของแบรนด์จีน ส่วนซัมซุง ปีนี้เริ่มเข้ามาเล่นในกลุ่มตลาดกลางมากขึ้น แต่เนื่องจากต้องรักษาระดับราคา จึงยังไม่กดให้ราคาถูกเท่าแบรนด์จีน

“จะเห็นว่าไตรมาส 4 ออปโป้ขึ้นเป็นที่ 1 แม้ภาพรวมทั้งปี ซัมซุงยังเป็นที่ 1 แต่จุดที่ซัมซุงผิดพลาดเพราะไตรมาส 1-2 ผลักดันกลุ่มกลางเข้ามาเยอะจนโอเวอร์สต๊อก ขณะที่ออปโป้ดันกลุ่มไฮเอนด์ ส่วนกลุ่มกลางสินค้าก็มีประสิทธิภาพที่ดี ทำให้เป็นที่ยอมรับในตลาด”

ขณะที่เทรนด์ไอทีที่จะได้เห็นในประเทศไทยภายในปี 2565 “ประภัสสร” ระบุว่า คือ การก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเต็มตัว โดย 61% ของ GDP จะมาจากธุรกิจดิจิทัล 2.60% ของการใช้จ่ายด้านไอทีของไทยจะใช้เทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ 3 เนื่องจากมากกว่า 30% ยังใช้เทคโนโลยี “ดั้งเดิม”

ส่วนการใช้คลาวด์ขององค์กรในไทยจะไม่เก็บข้อมูลทั้งหมด 100% ไว้บนคลาวด์ แต่จะขยายไปยัง edge computing เพราะว่ามีความเร็วเหนือกว่า โดยคาดว่าองค์กรกว่า 20% จะลงทุนในเทคโนโลยีนี้ เนื่องจาก 25% ของอุปกรณ์จะใช้อัลกอริทึ่ม AI ส่งผลให้ต้องประมวลข้อมูลจำนวนมหาศาลภายในปี 2565 70% ของแอปพลิเคชั่นใหม่ในไทยจะมีสถาปัตยกรรมไมโครไซท์ที่นักพัฒนาไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดใหม่ตั้งแต่ต้น แต่สามารถแก้จุดบกพร่องอัพเดตและใช้ประโยชน์จากโค้ดเทิร์ดปาร์ตี้ ทั้งยังมีเครื่องมือใหม่ ๆ มาทำให้การสร้างแอปพลิเคชั่นง่ายขึ้น ผู้พัฒนาไม่จำเป็นต้องมีความรู้เฉพาะทางเหมือนเก่า คาดว่า 4 ล้านแอปในไทยจะถูกสร้างด้วยเครื่องมือใหม่เหล่านี้ และ 25% ของแอปพลิเคชั่นทั้งหมดจะเป็นระบบคลาวด์ เมื่อประกอบกับแรงหนุนจากภาครัฐที่เพิ่มขึ้น จะทำให้มีนักพัฒนาแอปเพิ่มราว 20% ภายในปี 2567

ขณะที่การประมวลผลแบบพับลิกคลาวด์ 15% จะใช้ระบบควอนตัม ประกอบกับ UI (user interface) แบบใหม่จะใช้งาน AI (ปัญญาประดิษฐ์) และภายในปี 2565 ผู้ประกอบการ 20% จะใช้ AI ในการสื่อสารกับลูกค้า เช่น แชตบอต โดยที่ลูกค้าไม่รู้สึกแตกต่าง 25% ของเซิร์ฟเวอร์จะเข้ารหัสข้อมูล และ 20% ของการตรวจรักษาความปลอดภัยมาจาก AI รวมทั้ง 3.5 ล้านคนจะมีตัวตนในบล็อกเชน รวมถึงองค์กรไทยจะใช้มัลติคลาวด์ (multicloud) อย่างแพร่หลาย โดย 80% ของพื้นที่บนคลาวด์จะติดตั้ง IaaS/PaaS