Smart wearable ทำไมฮิตกันนัก ปี2020 มูลค่าตลาดทะลุ4.9หมื่นล.เหรียญสหรัฐ

บทวิเคราะห์ตลาดอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ (Smart wearable) โดย Economic Intelligence Center (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา Smart wearable ยังคงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากยอดขายในประเทศไทยที่สูงขึ้นเฉลี่ย 23% ต่อปี โดยเฉพาะกลุ่มอุปกรณ์ประเภทเพื่อสุขภาพ ซึ่งพัฒนาเรื่องความแม่นยำ และประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน Smart watch วัดการวิ่งได้ภายใน 5 วินาทีที่เริ่มออกวิ่ง เร็วกว่า 5 ปีก่อนที่ต้องใช้เวลาถึง 50 วินาที ด้านความหลากหลายทั้งรูปแบบสินค้า และค่าที่วัดได้ก็ดีขึ้นเช่นกัน Smart wearable จึงไม่ใช่แค่ Smart watch เพื่อวัดอัตราการเต้นของหัวใจ แต่รวมถึงเสื้อผ้าที่ใช้ใยพิเศษในการทอเพื่อวัดปฏิกิริยาทางไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อของผู้สวมใส่ หรือชุดชั้นในที่ตรวจหามะเร็งเต้านมได้

จากการคาดการณ์ของ IDC สถาบันวิจัยด้านการตลาดของสหรัฐฯ ระบุว่าจำนวนการขายอุปกรณ์ Smart wearable ทั่วโลกจะเติบโตเฉลี่ยสะสมถึง 11.6% ต่อปี จาก 123 ล้านชิ้นในปี 2018 เป็น 190 ล้านชิ้นในปี 2022

จาก 3 ปัจจัยดังนี้

1.กระแสใส่ใจสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นจากสังคมในวงกว้าง จากการประมาณการของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดเผยว่า ประเทศไทยมีนักวิ่งประมาณ 12 ล้านคน (2016) และคาดว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งภาครัฐ และเอกชนมีการรณรงค์ให้หันมาใส่ใจสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เห็นได้จากการจัดงานวิ่งทั่วประเทศไทยเพิ่มจาก 500 รายการต่อปี ในปี 2016 เป็น 696 รายการต่อปีในปี 2018 สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

ขณะที่ฟิตเนสรายใหญ่อย่าง”ฟิตเนส เฟิรส์ท”ขยายสาขาไปต่างจังหวัดครั้งแรกในรอบ 6 ปี รวมถึงแบรนด์ต่าง ๆ ที่เพิ่มคลาสเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้า เน้นการออกกำลังกายเฉพาะ เช่น มวยไทย, โยคะ ย้ำความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการออกกำลังกาย

2.สังคมผู้สูงอายุเป็นอีกปัจจัยที่ขยายศักยภาพการเติบโตของตลาด Smart wearable โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (NSO) ระบุว่าจำนวนผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป) ที่มีแนวโน้มอาศัยอยู่คนเดียวโตเฉลี่ยสะสม 3% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2007 ถึงปัจจุบัน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.4 ล้านคนในปี 2022 คิดเป็นสัดส่วน 11 % ของผู้สูงอายุทั้งหมด ทำให้ผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพาตนเองในการทำกิจกรรมต่างๆ มีจำนวนสูงขึ้น ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคเปิดเผยว่า การเสียชีวิตของผู้สูงอายุจากการหกล้มสูงถึงปีละเกือบ 2,000 ราย ซึ่งการเพิ่ม Features และนวัตกรรมใหม่ๆ ของ Smart wearable เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดการพัฒนอุปกรณ์ สอดคล้องกับความต้องการในการดูแลผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียว ซึ่งผู้ใช้ Smart wearable ในไทยที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป ถึง 16.4% ของผู้ใช้ทั้งหมด และคาดว่าจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

และ3.การเข้ามาลงทุนข้ามอุตสาหกรรมของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกในอุตสาหกรรม Healthcare เป็นอีกปัจจัยที่ผลักดันให้ตลาด Smart wearable เติบโต จากข้อมูลของ CB insights ระบุว่าตั้งแต่ปี 2012 ถึง 2018 บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ 10 บริษัทในสหรัฐฯ เช่น Apple, Intel, Alphabet, IBM และอีกหลายแห่งลงทุนในอุตสาหกรรม Healthcare ทั้งหมด 209 ดีล พบว่าตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปัจจุบัน มีการลงทุนในอุปกรณ์เพื่อสุขภาพเป็นอันดับ 2 ในตลาด Healthcare รองจากการลงทุนใน Software (ข้อมูล ณ 9 มี.ค 2561)

หากดูสถิติจำนวนการลงทุนทั่วโลกในปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในหมวดของ Smart wearable เพื่อการดูแลสุขภาพ จะเห็นได้ว่าเติบโตเฉลี่ย 41% ต่อปี (ตั้งแต่ปี 2012-2016) แสดงถึงความสนใจของบริษัทชั้นนำของโลกที่มีต่ออุตสาหกรรม

การลงทุนจากบริษัทเหล่านี้ทำให้ Smart wearable ขยายขีดความสามารถ และเกิดการแข่งขันทางด้านราคาและคุณภาพ รองรับการออกกำลังกายได้หลายรูปแบบ เปรียบเสมือนเทรนเนอร์ส่วนตัว ที่คอยแนะนำผู้สวมใส่

3 ปัจจัยข้างต้น ส่งเสริมให้รายได้ทั่วโลกของ Smart wearable ที่ใช้เพื่อการออกกำลังกาย และ Applications ที่เกี่ยวเนื่องมีมูลค่าประมาณ 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2015 และคาดว่าจะขยายตัวเป็น 4.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020

และในอนาคตตลาด Smart wearable จะพัฒนาไปใน 3 ทิศทางหลัก ได้แก่

1.มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นจะเห็นได้จากความพยายามคิดค้นรูปแบบอุปกรณ์ที่แตกต่าง นอกจาก Smart watch/Smart band เช่น Smart footwear รองเท้าจากบริษัท Under Armour ที่ตรวจจับการเคลื่อนไหว ตั้งแต่การลงน้ำหนัก ปริมาณการเผาผลาญแคลอรี รวมถึงจัดเก็บข้อมูลได้ในตัวเอง หรือ Smart bra จากบริษัท Microsoft ที่ตรวจคลื่นหัวใจ และรับรู้ความเครียดของผู้สวมใส่ อุปกรณ์แต่ละชิ้นที่เกิดขึ้นจะทำหน้าที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เก็บได้จากแต่ละส่วนของร่างกาย

2.มีคุณสมบัติ และความสามารถสูงขึ้น ในอนาคต Smart wearable จะเป็นอุปกรณ์ที่ไม่มีการเจาะ/ฝังเข้าไปในชั้นผิวหนัง (Non-invasive) ไม่รบกวนการใช้ในชีวิตประจำวันของผู้สวมใส่มากเกินไป (Minimal attention) ข้อมูลที่ได้มีการบันทึกอย่างต่อเนื่อง (Continuous data) และเชื่อมโยงข้อมูลได้ในหลายระบบ (Interoperability) ปัจจุบันบริษัทต่างๆ พยายามมุ่งพัฒนาประสิทธิภาพของ Smart wearable ทั้ง 4 คุณสมบัตินี้ โดยคาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมในอีก 3-5 ปีข้างหน้านี้

 3.การประมวลผลที่แม่นยำ และการแนะนำผู้บริโภคในการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นอีกหนึ่ง Platform ที่คาดว่าจะเห็นได้แพร่หลาย จากการเชื่อมต่อของระบบ IoT และ AI ทำให้ข้อมูลที่ได้เป็นประโยชน์มากขึ้น อาทิ นาฬิกา Xiaomi ที่แสดงข้อมูลในรูปแบบของ Percentile ให้คำแนะนำผู้สวมใส่เกี่ยวกับการนอน และกิจกรรมอื่นๆ ระหว่างวันจากการเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้กว่า 46.2 ล้านคน นานกว่า 3 ปี จึงทำให้สามารถให้คำแนะนำแก่ผู้สวมใส่ได้อย่างน่าเชื่อถือ

การพัฒนาของ Smart wearable จะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมของหลายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจประเภทการผลิต/นำเข้าสินค้า และอุปกรณ์การวัดค่าต่างๆ แบบเดิม อาทิ เครื่องวัดความดัน เครื่องเจาะเลือดวัดปริมาณน้ำตาล รวมถึงลักษณะการให้บริการในโรงพยาบาล ที่อาจมีการจับมือร่วมกันระหว่างบริษัทพัฒนา Smart wearable เพื่อเข้าถึงฐานลูกค้าที่ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และยกระดับภาพลักษณ์ของโรงพยาบาลให้ทันสมัย

นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสสำหรับ ผู้ผลิต/ผู้นำเข้าอุปกรณ์ Smart wearable ที่จะขยายสายการผลิต ให้กว้างมากขึ้น จากแค่ Smart watch/Smart band ให้ครอบคลุมอุปกรณ์อื่นๆ ที่อำนวยความสะดวกและตอบสนองกระแสใส่ใจสุขภาพ อย่าง Sleeping gadget ที่ช่วยให้ผู้สวมใส่นอนหลับสนิทมากขึ้น หรือสายรัดข้อมือสำหรับผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติเฉพาะ

สำหรับตัวอย่างการพัฒนาอุปกรณ์ในไทย เช่น การพัฒนาอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยอัลไซเมอร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือนาฬิกาอัจฉริยะ ‘โพโมะ’ ป้องกันเด็กหาย ที่ปัจจุบันวางขายมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก เป็นต้น

อีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจคือการพัฒนา Compatible applications ที่ใช้ร่วมกับ Smart wearable ซึ่งเป็นการนำข้อมูลมาต่อยอด วิเคราะห์ และประมวลผล ซึ่งเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ และสตาร์ตอัพทั่วโลกให้ความสนใจในการผลิตแอปนี้ เช่น FitStar ที่คอยให้คำแนะนำแก่ผู้เล่นโยคะ Lumosity ที่วัดระดับการทำงานของสมองของผู้ใช้ ว่าการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอช่วยพัฒนาสมองอย่างไร รวมถึงแอปส่งเสริมการฝึกสมาธิ และฝึกการตัดสินใจในแต่ละวัน ทั้งนี้ อีไอซี มองว่าการพัฒนาแอปต่างๆ เป็นโอกาสของกลุ่มสตาร์ตอัพและผู้ประกอบการในการต่อยอดธุรกิจ จากกระแสของ Smart wearable ได้

 

บทวิเคราะห์ดังกล่าวจัดทำโดย “ภัทรานิษฐ์ เอี่ยมศิริ” Economic Intelligence Center (EIC)