เร่งปั้น EdTech ดันสู่ยูนิคอร์นรับดิจิทัลดิสรัปต์

แม้ว่าในไทยจะตื่นตัวกับกระแสสตาร์ตอัพ แต่ดูเหมือนการสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อการศึกษายังมีจำกัด และยิ่งมีน้อยที่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่จะเป็นส่วนสำคัญในการนำเทคโนโลยีมายกระดับศักยภาพของคนในประเทศ จึงเป็นที่มาของ StormBreaker Venture Demo Day 2019 ด้วยแรงผลักดันของดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์, 500 ตุ๊กตุ๊ก และบีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล ที่มุ่งจะสร้าง EdTech Startups ให้เกิดขึ้นในไทย

EdTech ไทยกำลังตั้งไข่

กระทิง พูนผล” ผู้ก่อตั้งกองทุน 500 ตุ๊กตุ๊ก และดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ เปิดเผยว่า ตลาดการลงทุนใน “EdTech” เป็นตลาดที่ใหญ่มาก มีมูลค่าการลงทุนทั่วโลกกว่า 297,980 ล้านบาท ในสตาร์ตอัพกว่า 813 ราย เติบโตกว่า 30% และคาดว่าในปี 2563 จะมีมูลค่าเพิ่มไปถึงกว่า 313,005 ล้านบาท

แต่การลงทุน EdTech ในไทยยังมีแค่ 156-313 ล้านบาท ขณะที่ในอาเซียนมีมูลค่ากว่า 4,695 ล้านบาท ทั้งยังมี EdTech ระดับซีรีส์ A เพียงรายเดียว เนื่องจากอีโคซิสเต็มไทยยังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่ใช้เวลาสร้างแค่ 1 ปี ขณะที่อีโคซิสเต็มสตาร์ตอัพใช้เวลาสร้าง 3 ปี ดังนั้น ปีนี้คาดว่าตลาดจะเติบโต 100% และปีหน้าจะยิ่งโตแบบก้าวกระโดด

สำหรับเทรนด์ EdTech โฟกัสไปที่ตลาดใหญ่ ๆ เช่น ภาษาอังกฤษหรือการฝึกอบรมด้านภาษา, professional reskilling, personalized learning pathway, career accelerator และจะเริ่มมีการนำเทคโนโลยีระดับสูงที่มีความซับซ้อน (DeepTech) มาใช้งาน เช่น AI (artificial intelligence) ปัญญาประดิษฐ์ และแมชีนเลิร์นนิ่ง (machine learning), mixed reality และ IOT รวมถึงเทคโนโลยีการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับกระบวนการคิด (cognitive learning) มาใช้ใน EdTech Startups รุ่นใหม่ ๆ โดยมูลค่าของตลาดที่นำ AI มาใช้ในการเรียนการสอนแบบ personalize มีมูลค่าถึง 2 แสนล้านบาท

“การดิสรัปต์วงการศึกษาเวฟแรก คือ แอปพลิเคชั่นสอน 1 วิชา/1 แอป ส่วนเวฟที่ 2 คือ ไลฟ์สดที่สามารถเรียนกันได้หลายคนพร้อมกัน ขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การดิสรัปต์ในเวฟที่ 2 ดังนั้น สิ่งที่น่าห่วงคือ มหาวิทยาลัยที่จะโดนดิสรัปต์เป็นคนแรก ต่อไปความสำคัญของปริญญาเริ่มน้อยลง การให้เกรดจะหายไป เนื้อหาการสอนจะถูกปรับเปลี่ยน ไม่ได้ถูกกำหนดจากครูอีกต่อไป”

ห้องเรียนแห่งอนาคต

ในอนาคต 35% ของทักษะแบบเดิมจะใช้ไม่ได้ในการทำงาน ถ้าอยู่ในอุตสาหกรรมไฟแนนซ์ 47% ของทักษะจะใช้ไม่ได้ ดังนั้น ต่อไปการเรียนการสอนจากนี้ต้องสอน 1.ความหลงใหล 2.ความช่างสงสัย 3.จินตนาการ 4.การคิดเชิงวิพากษ์ 5.ไม่ยอมแพ้ ส่วนเทคโนโลยีที่จะมีผลในการเรียนการสอนในอนาคต ได้แก่ VR/AR, 3D printing ในการสอนเมกเกอร์, เซ็นเซอร์และเน็ตเวิร์ก และ AI

“ใน 20 ปีจะเจอคลื่นดิสรัปต์อีก 3 เวฟ ภายในปี 2568 กว่า 47% ของงานจะถูกหุ่นยนต์มาแทนที่ แปลว่างานหายไปครึ่งหนึ่ง ต่อไป AI, โรโบติก จะเป็นฐานของดิจิทัลดิสรัปชั่นเวฟต่อ ๆ ไป ความไม่เท่าเทียมกันจะยิ่งขยาย แม้กระทั่งความรู้ด้านเทคโนโลยีก็ยิ่งห่าง ดังนั้น ต้องเร่งรีสกิล ถ้าอีก 3 ปีไม่มีอยู่ไม่ได้แน่นอน ประเทศไทยต้องรีสกิลทั้ง 67 ล้านคน”

แนะรัฐช่วยหนุนเอกชน

มาร์เก็ตไซซ์ของตลาดการศึกษาไทยมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท ขณะตลาด EdTech มีมูลค่าประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยจะไปดิสรัปต์ตลาดการศึกษาเดิม ดังนั้น จะเริ่มเห็นแพลตฟอร์มการสอนออนไลน์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม EdTech ล้มเหลวง่าย คนไม่อยากทำเพราะการหารายได้ของ EdTech ยาก ดังนั้น จะอยู่รอดต้องขายนวัตกรรมให้กับภาคธุรกิจ เพราะตอนนี้ภาคธุรกิจเริ่มให้ความสำคัญกับการรีสกิล การสนับสนุนจากภาครัฐก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะตอนนี้เอกชนสามารถสนับสนุนได้จริง แต่ไม่ครอบคลุม ปัจจุบันมีไม่กี่รายที่ผูกขาดการร่วมมือกับภาครัฐ โดยภาครัฐเป็นส่วนที่ได้รับประโยชน์จาก EdTech แต่การยอมรับจากภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น ต้องผลักดันทั้งรัฐและเอกชนไปพร้อม ๆ กัน ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุน เช่น ภาคเอกชนใช้ EdTech ไทยนำมาหักภาษีได้ รวมทั้งอยากให้ภาครัฐในการลงทุนรีสกิล “ครูและข้าราชการ” โดยอาจจะเริ่มเปลี่ยนจากนำงบฯจัดซื้อหนังสือมาใช้ผลิตภัณฑ์ EdTech ไทย เพราะสื่อออนไลน์มาแรง

“รัฐต้องเข้าใจการศึกษาสมัยใหม่ ถ้าใช้งบฯเดิม ๆ กับของเดิม ๆ อาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ไม่ต้องเพิ่มงบฯแต่เปลี่ยนไปใช้ในวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ส่วนการสนับสนุนโดยตรง เช่น matching fund อยากให้ match ในสัดส่วนที่สูงกว่า startup ทั่วไป”

ตั้งเป้าปั้นยูนิคอน EdTech

มีคนสนใจทำ EdTech เยอะ แต่ว่าคนมารวมตัวกันยาก จึงจัดงาน ได้แก่ Education Disruption เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา โดยประกอบด้วย งาน Conference จุดประกายเทรนด์การศึกษาที่มีผู้เข้าร่วมงานกว่าพันคน และงาน Hackathon ตามด้วย StormBreaker Venture Demo Day 2019 ที่จัดขึ้นโดยดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์, 500 ตุ๊กตุ๊ก และบีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล เพื่อให้มีคนมารวมตัวกัน ซึ่งโครงการนี้ตั้งเป้าปฏิวัติการเรียนรู้คนไทย 1 ล้านคนในปี 2020 โดยภายใน 4 เดือนแรกเปลี่ยนการเรียนรู้ของผู้เรียนไทยแล้วกว่า 150,000 คน และหวังสร้าง EdTech Startups ระดับพันล้านใน 5 ปี พร้อมขึ้น top ของ South East Asia พร้อมประกาศเปิดรับ EdTech Startups เข้าสู่ batch 2 ตั้งแต่วันนี้จนถึง 17 พฤษภาคมนี้ โดย batch 2 นี้จะเปิดกว้างมาก ไม่จำกัดแค่แพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ต้องสร้างอิมแพ็กต์ได้