เมื่อ Startup อยาก Go Inter

คอลัมน์ Pawoot.com

โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ


“หลายคนถามผมว่าทำไมธุรกิจไทยจึงไม่ค่อยไปไหน ? ทำไมถึงไม่มี unicorn ?…” 

ปัจจัยหลักข้อหนึ่งคือ “ธุรกิจในไทยส่วนใหญ่ ไม่ได้ขยายไปต่างประเทศ ให้บริการแต่ในไทย” ขณะที่ธุรกิจซึ่งเติบโตมาก ๆ หรือ unicorn จะขยายไปยังต่างประเทศอย่างรวดเร็ว

คำถามคือ ? แล้วเราจะขยายธุรกิจไปต่างประเทศอย่างไร !

ผมได้เชิญผู้มีประสบการณ์ในการนำธุรกิจไทยหรือได้ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในงาน Beer Talk #5 Go Inter ที่บริษัทผมจัดเมื่อปลาย ม.ค. ที่ผ่านมา การขยายธุรกิจออกไปยังต่างประเทศ (international expand) ในวันนี้กลุ่มลูกค้าต่างประเทศที่น่าสนใจคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กลุ่ม CLMV รวมถึงภูมิภาคอาเซียน และอาจมองไปถึงภูมิภาคอื่นทั่วโลก 

กับคำถามที่ว่าทำไมธุรกิจไทยยังไปไม่ถึงไหน ? ทำไมถึงไม่มียูนิคอร์น ? 

นั่นก็เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ของเราไม่ได้ขยายไปยังต่างประเทศเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่ก็เห็นว่าจะโตเร็วมาก ธุรกิจระดับยูนิคอร์นนั้นคือสตาร์ตอัพที่มีมูลค่าบริษัทกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์ ที่รู้จักกันดีส่วนใหญ่เป็นสตาร์ตอัพชื่อดังในซิลิคอนวัลเลย์ เช่น Uber, Snapchat, Airbnb ของจีน ก็เช่น Xiaomi, Didi Chuxing หรือ Omise สตาร์ตอัพเจ้าแรกของไทย

How to ขยายไปต่างประเทศ 

การขยายธุรกิจไปต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ใช่ว่าทำไม่ได้ และมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง การจะคิดและวางแผนให้จบในวันเดียวไม่สามารถจะได้ ซึ่งจริง ๆ หลายคนก็ได้วางวิสัยทัศน์ไว้ตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจด้วยซ้ำไป วิธีไปทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะ joint venture หาพาร์ตเนอร์ทำธุรกิจร่วมกัน หรือบุกไปด้วยตัวเองเลย ฯลฯ นักธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จหลายคนถึงขั้นตั้งหลักปักฐานอยู่ต่างประเทศเลยก็มี ตัวอย่างนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เช่น คุณหนุ่ย สมบูรณ์ ศุขีวิริยะ แห่ง Comanche บริษัทซอฟต์แวร์ไทยยุคแรก ที่บุกตลาดถึง 17 ประเทศ เริ่มต้นจากการเห็นช่องว่างที่ไทยต้องใช้ซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ จึงคิดและเริ่มผลิตซอฟต์แวร์ขึ้นเอง โดยเริ่มใช้ภายในประเทศก่อน และพัฒนาต่อจนดีกว่าของต่างประเทศที่มีใช้กันอยู่ แล้วจึงส่งออก โดยนำไปขายต่อหรือหา dealer มาช่วย 

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ บริษัท อุ๊คบี (Ookbee) startup champion ของไทย โดย คุณหมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ เลือกใช้วิธี join venture มองหานักลงทุนทั้งจากการพูดคุยกับนักลงทุนที่รู้จักส่วนตัวหรือที่ได้จากการแนะนำ ในช่วงแรกเป็นการร่วมลงทุนทั้งในด้านของเงินทุนและในส่วนของบุคลากรของประเทศนั้นด้วย ช่วงหลังจึงเริ่มส่งคนไทยเข้าไปทำงานแทนมากขึ้นและเริ่มนำธุรกิจกลับมาดูแลเอง

สำหรับธุรกิจที่รู้จักกันดีอย่าง Priceza.com โดย คุณไว ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ที่ขยายไปถึง 6 ประเทศ เริ่มต้นเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการร่วมงานกับ Rakuten ที่ได้สร้างฐานลูกค้าในต่างประเทศให้จำนวนหนึ่ง จนมีความคิดว่าธุรกิจนี้ขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศได้แน่นอน จึงเริ่มคุยกับ VC (venture investor) รายหนึ่ง


วิธีการไปที่น่าสนใจคือได้มีการจดโดเมนในต่างประเทศไว้ก่อนและให้ VC ที่มาลงทุนช่วยขยายธุรกิจให้ด้วย และได้มีการตั้งทีม business development ขึ้นมาอย่างจริงจังเพื่อขยายตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะ จะเห็นว่าการเริ่มต้น นอกจากเรื่องของวิสัยทัศน์แล้วยังต้องมองหาช่องทางอื่นเท่าที่มี เพื่อพาธุรกิจออกไปต่างประเทศให้ได้ตามที่หวัง วิธีการที่หลากหลายนี้อาจแค่ช่วยชี้ช่องทางให้ แต่การลงมือทำด้วยตนเองเลยทันทีจะพาไปถึงจุดหมายได้จริงมากกว่าครับ