R&D เอกชนไทย ทะลุ 1.23 แสนล้านบาท

สถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) ได้จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยปี 2561 อยู่ในอันดับที่ 30 ขณะที่ขีดความสามารถด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ขยับจากอันดับ 48 ในปีก่อนมาอยู่ที่อันดับ 42

“ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ระบุว่า ในรอบสำรวจปี 2561 ซึ่งเป็นข้อมูลการ ปี 2560 พบว่า ไทยลงทุนวิจัยและพัฒนา 155,143 ล้านบาท 80% จากภาคเอกชนหรือ 123,942 ล้านบาท อีก 20% เป็นของภาครัฐ

“คิดเป็น 1% ของ GDP เร็วกว่าเป้า 1 ปี ตั้งเป้าขยับเป็น 1.5% ในปี 2564”

อุตสาหกรรมยานยนต์ลงทุนมากสุด กว่า 18,855 ล้านบาท โดยมุ่งที่ยานยนต์ไฟฟ้าและสนามทดสอบ ตามด้วยอุตสาหกรรมอาหาร 16,203 ล้านบาท มุ่งที่ระบบผลิตอัตโนมัติ นวัตกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมปิโตรเลียม 11,721 ล้านบาท มุ่งด้านการผลิตและขนส่งปิโตรเลียม เชื้อเพลิงทางเลือก

ส่วนภาคบริการ “การเงินและประกันภัย” ลงทุนมากที่สุด 6,007 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงบริการใหม่ พัฒนา FinTech ขณะที่การค้าส่ง อย่างร้านสะดวกซื้อ ลงทุน 10,192 ล้านบาท มุ่งที่ระบบตรวจสอบสินค้า ปรับปรุงกระบวนการผลิต

“เอกชนทั่วโลก เพิ่ม 8.3% ประเทศไทยเพิ่มขึ้น 50% โดยทั่วโลกพัฒนาการผลิตไอซีที 24% สุขภาพ 21% และ ยานยนต์ 18%”


ขณะที่บุคลากรด้านการวิจัยของไทยมี 138,644 คน ภาคเอกชน 62% ภาครัฐ 38% หรือเฉลี่ย 21 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน ตั้งเป้าปี 2564 ขยับเพิ่มเป็น 25 คน โดยสร้างจากสถาบันการศึกษา และพัฒนาทักษะบุคลากรเดิม ดึงผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาเพิ่ม