กสทช. ชี้ เอกชนขอยืดจ่ายค่าไลเซนส์ 900 ก่อนประมูล 5G

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า กรณีที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ยื่นหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ โดย กสทช. ได้เข้าให้ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาแล้ว ซึ่งรายละเอียดหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ไม่สามารถระบุได้

นายฐากร กล่าวว่า โอเปอเรเตอร์ ได้ชี้แจงว่า การลงทุนในระบบ 3G และ 4G ขณะนี้ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน อีกทั้ง โอเปอเรเตอร์ ได้ใช้เงินที่กู้ยืมจากสถาบันการเงินในการลงทุนระบบ 4G หมดแล้ว จึงส่งผลให้ขณะนี้ไม่มีเงินทุนเพียงพอสำหรับการลงทุนใน 5G ที่คาดว่า จะมีมูลค่าในการลงทุน ทั้งการประมูลคลื่นความถี่ และการปรับปรุงเครือข่ายเพื่อรองรับ 5G มากกว่า 100,000 ล้านบาท

“หากการพิจารณาไม่เห็นชอบให้มีการขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตออกไป โอเปอเรเตอร์ ก็จะไม่มีเงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับ 5G และหากไม่สามารถขับเคลื่อนในเกิด 5G ในปี 2563 ไทยอาจล้าหลังประเทศอื่นในการแข่งขัน ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) และโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่ปัจจุบันใช้ในกิจการทีวีดิจิทัล โดยจะมีการปรับเปลี่ยนมาใช้ในกิจการโทรคมนาคมนั้น จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับปรุงโครงข่าย กสทช. จึงมีการพิจารณาให้มีการจัดการประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้า ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2562 และเมื่อคลื่นความถี่พร้อมใช้งาน จึงเริ่มนับอายุใบอนุญาต ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ระบุว่า คาดว่าคลื่นความถี่ดังกล่าว จะสามารถใช้ได้เร็วสุดในเดือนธันวาคม 2563

ขณะที่ ความคืบหน้าการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ นั้น สำนักงาน กสทช. ได้ส่งหนังสือแจ้งมติที่ประชุม กสทช. ที่ให้มีการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ไปยัง บริษัท อสมท จำกัด แล้ว เมื่อช่วงสัปดาห์ก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของหน่วยงานดังกล่าวว่าจะมีข้อโต้แย้งหรือมีคำตอบอย่างไร ทั้งนี้ เมื่อได้รับความคำตอบจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. ต่อไป

นายฐากร กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการจ้างที่ปรึกษา เพื่อประเมินมูลค่าการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งประกอบด้วย 3 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งหากเป็นไปตามขั้นตอน คาดว่า การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ น่าจะเกิดขึ้นประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน 2562

“การให้บริการ 5G มีผลต่อภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรม หากเทคโนโลยีไม่เกิดขึ้น จะทำให้ผู้ประกอบการในภาคการผลิตเสียโอกาส ซึ่ง กสทช. มองว่า อย่างช้า 5G ต้องเกิดในช่วงปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564” นายฐากร กล่าว

นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ยังมีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติและทดสอบ 5G เป็นเวลา 2 ปี ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในชื่อ ศูนย์ 5G เอไอ/ไอโอที อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการทดสอบ 5G บนคลื่นความถี่ย่าน 26-28 กิกะเฮิรตซ์ และ 3.5 กิกะเฮิรตซ์ ในการเตรียมความพร้อม และรองรับการให้บริการโทรคมนาคม โดยภายในศูนย์มีการติดตั้งและดูแลอุปกรณ์สถานีฐานของโครงข่าย 5G ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม (เวนเดอร์) และภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานด้านโทรคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมศึกษาและพัฒนารูปแบบการใช้งาน (ยูสเคส) ร่วมกัน เพื่อให้ทราบถึงทิศทางการนำ 5G ไปใช้งานในอนาคต และเมื่อ 5G พร้อมให้บริการสามารถนำไปใช้งานได้ทันที

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์