“ฉลาดเลือก : Smart Vote” แอปเลือกตั้งยุค 4.0 ใช้อำนาจเปลี่ยนการเมืองด้วยข้อมูล

หลังจากจำแทบไม่ได้แล้วว่า เลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อไร “24 มี.ค. 2562” จึงเป็นการเลือกตั้งชี้ชะตาประเทศไทยอีกครั้ง ขณะที่รัฐบาลชุดปัจจุบันประกาศผลักดัน “ไทยแลนด์ 4.0” มาตลอด ฉะนั้นมีผู้สิทธิ์มีเสียงทั้งหลายจะปล่อยให้เป็นการเลือกตั้งธรรมดาๆ แบบยืนงงๆ มึนๆ หน้าคูหา ต่อคิวรอไล่เปิดกระดาษประกาศลำดับบัญชีผู้สิทธิ์ลงคะแนนแบบเดิมๆ คงไม่ล้ำ!

เมื่อยอดใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในไทยมีกว่า 93 ล้านเลขหมาย หรือคิดเป็น 135% ของจำนวนประชากร และยอดใช้สมาร์ทโฟนก็พุ่งทะลุ 67% ไปไกลแล้ว ณ เวลานี้จึงยังไม่สายที่จะหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาตรวจสอบข้อมูลการใช้สิทธิ์เลือกตั้งปี 2562 ผ่าน https://election.bora.dopa.go.th/Election/cervote/ เว็บไซต์กรมการปกครอง ที่ระบุให้หมดว่า เลือกตั้งที่ไหนอย่างไร ลำดับที่เท่าไร แค่ใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

แต่ถ้าต้องการข้อมูลให้ลึกไปกว่านั้น ต้องไม่พลาด แอปพลิเคชั่น “ฉลาดเลือก : Smart Vote” ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง รองรับสมาร์ทโฟนทั้งระบบ iOS และ Android

โดยเมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นลงในเครื่องแล้ว ก็สามารถตรวจสอบหน่วยเลือกตั้ง และดูรายชื่อผู้สมัครในเขตเลือกตั้งที่มีสิทธิลงคะแนน

ข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. ทั้งหมด ทั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 11,181 คน แยกตามเขตเลือกตั้ง 350 เขตทั่วประเทศ, ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 2,917 คน แยกตามพรรคการเมือง และรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี, มีรูปภาพผู้สมัคร ส.ส. ทุกคน ที่สำคัญคือมีข้อมูลพรรคการเมือง, นโยบายพรรค

รวมไปถึงสาระน่ารู้การเลือกตั้ง ประกอบด้วย วิดีโอความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และภาพอินโฟกราฟิก อธิบายกระบวนการเลือกตั้ง ส.ส., วิธีการนับคะแนนและการประกาศผล, การคัดค้านการเลือกตั้ง, กรณีไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 รวมถึง พ.ร.บ. และระเบียบ/ประกาศของ กกต. ที่เกี่ยวข้อง

แค่นี้ “ข้อมูลก็อยู่ในมือ” พร้อมให้ตัดสินใจไปใช้อำนาจการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย 24 มี.ค. 2562 ตั้งแต่เวลา 8.00 – 17.00 น. และอย่าลืมบัตรลงคะแนน 1 ใบ “กาเลือก 1 เบอร์” ได้ทั้ง ส.ส.เขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พ่วงไปถึงนายกรัฐมนตรี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ไม่รู้จะเลือกใคร? “ประชันนโยบายพรรคการเมือง”รวบตึงทุกเรื่องร้อน!

รู้จักผู้สมัคร “ส.ส.ในเขต” ของคุณดีพอแล้วหรือยัง